ไลฟ์สไตล์

15 ข้อที่คุณต้องรู้ ก่อนจะให้คำปรึกษาใคร | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์
เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 10.15 น.

1. คุณจำเป็นต้องวางอัตตาตัวตนของคุณลงก่อน เพื่อรับฟัง เปรียบเหมือนเทน้ำในแก้วของตนเอง เพื่อรองรับน้ำใหม่จากผู้ขอคำปรึกษา

2. คุณต้องตระหนักอยู่เสมอว่า บุคคลตรงหน้า คือผู้ที่กำลังมีความทุกข์ มีปัญหาและต้องการคำตอบเพื่อบรรเทาทุกข์ ดังนั้น จิตใจของเขาย่อมอยู่ในช่วงเวลาที่กำลังอ่อนแอ สับสน และต้องการกำลังใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3. จงตั้งใจฟัง คุณต้องฟังให้ได้ยิน ไม่ใช่แค่เสียง ไม่ใช่แค่รู้ความหมาย แต่คุณต้องเปิดใจรับฟังด้วยความเมตตา และคิดถึงใจเขาใจเรา แสดงให้เขาสัมผัสได้ว่า เขาคือคนสำคัญที่คุณกำลังสนใจฟัง

4. ปล่อยให้เขาพูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด ให้เขาได้บอกเล่าความรู้สึก ให้เขาได้บอกเล่าสิ่งที่คิด เพราะนั่นคือการระบายความในใจ ซึ่งจะทำให้เขาคลายความอึดอัดลงได้

5. เมื่อคุณรับฟังจนเข้าใจแล้ว จงให้คำแนะนำไปตามสิ่งที่ตนเองรู้ อะไรที่รู้ก็แนะนำไป อะไรที่ไม่รู้อย่าไปคาดเดา ตามความเข้าใจของตนเอง เมื่อไม่รู้ คุณก็บอกเขาไปตรงๆว่า คุณไม่รู้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

6. แต่ละบุคคลมีข้อจำกัด และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาพจิตใจที่ต่างกัน วิธีแก้บางวิธีอาจได้ผลกับคนหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่า วิธีดังกล่าวจะได้ผลกับทุกคน ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษา จะต้องดูเป็นรายๆ ไป ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับกรณีที่ผ่านไปแล้วได้

7. อย่าแนะนำในสิ่งที่เป็นอุดมคติ หมายความว่า คุณต้องเข้าใจว่า ทุกคนเป็นมนุษย์ มีรัก โลภ โกรธ หลง มีอ่อนแอ ผิดหวัง เสียใจ ดังนั้น คำแนะนำของคุณ ควรเป็นคำแนะนำที่ปฏิบัติตามได้ ไม่ใช่คำแนะนำในจิตนาการที่ฟังดูดี แต่ไม่อาจใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

8. ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ควรโกรธ ไม่ควรใช้อารมณ์ ไม่ควรยึดติดกับคำแนะนำของตนเอง เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหมายความว่า คุณไม่ใช่ผู้ให้คำปรึกษา แต่คุณคือผู้เพิ่มปัญหาให้ผู้ที่กำลังเดือดร้อนอยู่

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

9. ผู้ให้คำปรึกษา สมควรมีความเข้าใจตนเอง มีความรู้ในด้านที่ตนเองกำลังให้คำปรึกษาอยู่ การให้คำปรึกษา สมควรอย่างยิ่งที่จะอยู่ในกรอบของความดีงาม ไม่ใช้ระบบลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน ผู้ให้คำปรึกษาควรเป็นผู้มีวุฒิภาวะ คุณธรรม และความเข้าใจธรรมดาของโลกเป็นของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น คุณไม่ควรให้คำแนะนำใครในช่วงเวลาที่คุณอยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมจะให้คำแนะนำ

10. การให้คำปรึกษา เป็นคนละเรื่องกับการอวดตน จงให้คำปรึกษาอย่างอ่อนน้อม ถ่อมตน คิดอยู่เสมอว่า เราเองก็เคยผิดพลาด เราเองก็ไม่ได้ดีไปทุกอย่าง และไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง และการที่เขามาขอคำปรึกษา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไร้ความสามารถ หากแต่เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีช่วงเวลาที่ไม่สบายใจ และต้องการใครสักคน

11. การให้คำปรึกษาที่ดี นอกจากจะให้ทัศนคติที่ถูกต้องแล้ว คุณควรมีแผนการปฏิบัติเพื่อถึงเป้าหมายให้เขาด้วย เช่นคุณบอกว่า ควรปล่อยวาง คุณก็ควรมีขั้นตอนว่า เขาจะไปถึงความปล่อยวางได้อย่างไรหนึ่ง สอง สาม สี่ การให้คำปรึกษาจึงไม่ล่องลอย จับต้องได้ และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

12. ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรแนะนำในสิ่งที่ตนเองไม่มีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความรู้สึก เพราะเรื่องเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนเกินกว่าจะเอาเหตุผลเชิงตรรกะเข้าไปวิเคราะห์ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้การสันนิษฐาน ไม่ควรใช้การคาดเดา ไม่ควรมีการตัดสินในลักษณะฟันธงเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น คุณไม่ได้เป็นผู้เผชิญกับความเสียหายนั้น หากแต่ผู้ที่เผชิญก็คือผู้ที่ขอคำปรึกษา ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ให้คำปรึกษาต้องตระหนักเป็นลำดับต้น ๆ

13. คำแนะนำต่าง ๆ ควรเป็นคำแนะนำที่ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกับสภาพจิตใจของเขาในช่วงเวลานั้นๆ และคำแนะนำที่ดีที่สุดไม่มีจริง คำแนะนำจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามบุคคล เหตุการณ์ และสภาพจิตใจ ยิ่งไปกว่านั้น คำแนะนำที่ดีควรมีทั้งทางออก การแก้ และหนทางป้องกันปัญหาครั้งต่อ ๆ ไปไม่ให้เกิดขึ้นอีก

14. เมื่อพบว่า ผู้ขอคำปรึกษา มักปรึกษาในเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ให้มีความเข้าใจว่า เขาอาจยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจริง ๆ ให้ยุติการให้คำปรึกษา แต่เปลี่ยนเป็นการรับฟังแทน

15. ผู้ให้คำปรึกษาควรระลึกไว้เสมอว่า ผู้ขอคำปรึกษาไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำ และเมื่อรู้ว่า เขาไม่ทำตามคำแนะนำ ก็ไม่สมควรโกรธ แต่ควรปล่อยวาง บนพื้นฐานความเข้าใจว่า ทุกคนย่อมมีความคิด ชีวิต รวมถึงแนวทางการตัดสินใจเป็นของตนเอง นอกจากนี้ผู้ให้คำปรึกษา ควรน้อมเอาปัญหาต่าง ๆ ของผู้ขอรับคำปรึกษามาพิจารณา จนเกิดเป็นปัญญาของตนเอง นำไปสู่การเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น การให้คำปรึกษาต่างๆ จะต้องไม่ย้อนกลับมาสร้างความทุกข์ใจให้ตนเอง ควรรักษาจิตใจของตนเองให้มีความเบิกบานอยู่เสมอ ควรระลึกเสมอว่า ทุกคนมีวาระกรรมเป็นของตนเอง เมื่อช่วยเหลือจนถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องปล่อยวางอย่างถึงที่สุดเช่นกัน

ความเห็น 6
  • เลาห์เส็ง.love
    น่าจะเปิดเป็นผู้ให้คำปรึกษาเองเลย คนอ่านก็อ่านไป เมื่อสามารถแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ก่อนเป็นผลสำเร็จแล้ว จึงนำความสำเร็จที่แท้จริงมาบอกกล่าว ที่เขียนมานี่เป็นหลักวิชาการเท่านั้น ยังไม่รู้เลยจะสำเร็จไหม
    21 ก.ย 2562 เวลา 02.30 น.
  • W.Thari1979
    ข้อสำคัญคือผู้ให้คำปรึกษาจะต้องเป็นผู้ที่ไม่แพร่งพรายความลับของผู้ขอคำปรึกษาด้วย
    21 ก.ย 2562 เวลา 01.33 น.
  • Sorn
    ขอบคุณ..เจ้าของบทความ อ่านแล้วเพิ่มมุมมอง ทำให้เข้าใจอะไรๆ มากขึ้น ขอบคุณจริงๆ นะ
    21 ก.ย 2562 เวลา 00.33 น.
  • เหตุผลและแนวทางการแก้ไขย่อมที่จะทำให้ผู้คนยอมรับฟัง.
    20 ก.ย 2562 เวลา 20.26 น.
  • เป็นบทความที่ดี ขอเสริมอีกข้อ จำไว้ว่าสิ่งที่เขาจะพูดเป็นเรื่องของความทุกข์อย่าทุกข์ไปกับเขาละ พยายามชี้ให้เขาเห็นสิ่งที่สวยงาม
    20 ก.ย 2562 เวลา 12.31 น.
ดูทั้งหมด