ไลฟ์สไตล์

โรคกลัว(Phobia) ความกลัวขั้นขีดสุดที่อาจอันตรายถึงตาย! ได้

Horrorism
อัพเดต 10 มี.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 07.40 น. • Horrorism

 

       เคยกลัวอะไรที่สุดในชีวิต หรือกลัวอะไรแปลก ๆ เหมือนที่ดาราเขากลัวกันบ้างไหมคะ ?

       โรคกลัวของแปลก ๆ อาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวของใครหลายคน แต่โรคดังกล่าวมีอยู่จริง คนที่เป็นไม่ได้ดัดจริตหรือกระแดะแกล้งทำเป็นกลัวเพื่อเลียนแบบดารานะคะ บางคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมคนคนหนึ่งถึงได้กลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเหตุการณ์บางอย่างได้มากขนาดนั้น จนทำให้คนรอบข้างมองว่าแปลกประหลาดหรือเสแสร้งแกล้งทำ ล่าสุดอาการโฟเบียที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้เกิดจากการเปิดตัว iPhone11 ที่ทำให้คนที่เป็นโรคกลัวรู (Trypophobia) อาการกำเริบ! ฟังไม่ผิดหรอกค่ะ โรคกลัวรู!!!และในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับ โรคกลัว (Phobia)กันค่ะ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

   

ที่มาของภาพ : khaosod

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

       อาการโฟเบียในสิ่งแปลก ๆ มีอยู่มากมาย บางสิ่งคุณอาจจะไม่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์จะกลัวได้ อย่างเช่นภาวะการกลัวรูหรือที่เรียกว่า Trypophobia เกิดขึ้นเมื่อพบเห็นรูต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่มนุษย์ทำและเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งภาวะนี้แบ่งระดับความกลัวออกไปหลายระดับ ตั้งแต่คันยุกยิก ขนลุก อาการขยะแขยง ตัวสั่น เขาอ่อน และหมดสติไปเลยก็มีนะคะ นักแสดงชื่อดัง แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ก็เป็นคนหนึ่งที่มีอาการนี้ค่ะ

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

       ความกลัวที่ไม่มีเหตุผลเรียกว่า โรคกลัว หรือโฟเบีย (Phobia)เป็นความกลัวชนิดที่ไม่ปกติ มักจะเกิดกับความกลัวสิ่งของ บุคคล การกระทำ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ การกลัวมีความรุนแรงทางอารมณ์ เป็นพฤติกรรมเชิงอารมณ์ที่รุนแรงที่จะปฏิเสธต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ภายนอกที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่ตนเอง โรคกลัว (Phobia) นี้จะแตกต่างกับความกลัว (Fear) ที่ไม่มีการแสดงอารมณ์ที่รุนแรง อย่างการร้องไห้ฟูมฟายหรืออาเจียน และแตกต่างกับความวิตกกังวล เพราะกรณีของโฟเบียเรารู้ว่าตัวเรากลัวอะไร แต่เราไม่รู้ว่าเราเป็นกังวลในเรื่องอะไร

 

ที่มาของภาพ : biteofnews

 

อาการของโรคกลัว

       อาการของโรคกลัว หรือ โฟเบีย อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวโดยตรงหรือเพียงแค่จินตนาการถึงสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น โดยผู้ป่วยมักตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้กลัว ดังนี้

  • เกิดอาการตื่นกลัว ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ พูดติดขัด ปากแห้ง คลื่นไส้ เหงื่อออก มือเท้าสั่น ความดันโลหิตสูง หมดสติ วิตกกังวลว่าตนเองจะตาย เป็นต้น
  • ควบคุมตนเองไม่ได้ แม้รู้ตัวว่าเป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล
  • รู้สึกวิตกกังวลหรือกลัวมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  • พยายามทำทุกทางเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว
  • เด็กที่เป็นโรคนี้อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียว ร้องไห้งอแง ไม่ยอมอยู่ห่างพ่อแม่ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว

 

 

สาเหตุของโรคกลัว

       โฟเบียแบ่งชนิดตามสิ่งที่แต่ละคนรู้สึกกลัว เช่น โรคกลัวความสูง โรคกลัวเข็มฉีดยา โรคกลัวเลือด โรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการกลัวเหล่านี้ แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้

  • การรับฟังหรือประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความรู้สึกกลัว เช่น ผู้ที่เสพข่าวเครื่องบินตกอาจเกิดความรู้สึกกลัวจนไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
  • การเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะพฤติกรรมของคนใกล้ชิดและลักษณะการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
  • กระบวนการทำงานของสมองที่ผิดปกติ

 

ที่มาของภาพ : tipsdd

 

การรักษาโรคกลัว

       ผู้ป่วยโรคกลัวส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาหากหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวได้และอาการป่วยไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ในกรณีที่ต้องได้รับการรักษา แพทย์อาจต้องใช้หลายวิธีควบคู่กันเพื่อประสิทธิภาพการรักษาที่ดีที่สุด เช่น

       1. จิตบำบัด คือการปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อเรียนรู้วิธีรับมือกับความกลัว แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาโดยใช้การเผชิญกับความกลัวหรือการบำบัดพฤติกรรมและความคิด

  • การเผชิญกับความกลัว อาจช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวได้ด้วยตนเอง โดยให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ และค่อย ๆ ปรับระดับความใกล้ชิดให้มากขึ้น เช่น แพทย์จะให้ผู้ที่กลัวการขึ้นลิฟต์จินตนาการถึงการขึ้นลิฟต์ ดูรูปภาพของลิฟต์ ลองเข้าใกล้ลิฟต์ จากนั้นจึงให้ลองใช้งานลิฟต์ อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะจำเป็นต้องมีลำดับขั้นของการบำบัดที่ถูกต้องและเหมาะสม หากลองทำเองที่บ้านอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • การบำบัดพฤติกรรมและการรู้คิดคือการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับความกลัวอย่างเหมาะสม โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะชี้แนะให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้การรับมือกับความกลัวได้ด้วยตนเอง

       2. การรับประทานยา บางครั้งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลหรือตื่นกลัวก่อนเริ่มรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดหรือเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่กลัว ยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ ได้แก่

  • ยาต้านอาการซึมเศร้ามีสรรพคุณช่วยลดความวิตกกังวล ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะการหยุดยาทันทีอาจทำให้เกิดอาการถอนยา ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • ยาคลายเครียดเป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่แพทย์อาจนำมาใช้ช่วยลดอาการวิตกกังวล เช่น เบนโซไดอะซีปีน ไดอะซีแพม เป็นต้น ยานี้ควรใช้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนด เพราะการใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ และการหยุดรับประทานยาทันทีอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องการหยุดใช้ยา ส่วนผู้ที่มีประวัติติดสุราหรือติดยาเสพติดไม่ควรใช้ยาชนิดนี้
  • เบต้าบล็อกเกอร์ เป็นกลุ่มยาลดความดันโลหิต แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาชนิดนี้เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากความกลัวหรือวิตกกังวล เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง อาการสั่นตามแขนและขา เสียงสั่น เป็นต้น

       นอกจากนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยรับมือกับความวิตกกังวลและความกลัวได้ เช่น การฝึกสมาธิ การออกกำลังกาย การทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย เป็นต้น

 

การป้องกันโรคกลัว

       ปัจจุบันไม่มีวิธีป้องกันโรคกลัวที่ได้ผล 100%ทว่าการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่มีบุตรควรปรึกษาจิตแพทย์ถึงวิธีรับมือกับความกลัวและการแสดงออกทางพฤติกรรมเมื่อรู้สึกกลัวอย่างเหมาะสม เนื่องจากพฤติกรรมของพ่อแม่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เด็กเลียนแบบและเกิดอาการโฟเบียตามไปด้วย

 

       ในโลกนี้มีโรคกลัวอะไรที่แปลก ๆ เยอะแยะไปหมดแต่ละอย่างประหลาดจนยากจะเข้าใจ เป้าหมายของการรักษา โรคกลัว หรือ โฟเบีย คือ การช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิด คลายความวิตกกังวล และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา เพื่อลดความกลัวต่าง ๆ ด้วยตนเอง อย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ… ส่วนใครที่มีความกลัวอะไรแปลก ๆ แบบที่คนอื่นเขาไม่กลัวก็เอามาแชร์กันบ้างนะคะ _

 

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ : โรคกลัว(Phobia) ความกลัวขั้นขีดสุดที่อาจอันตรายถึงตาย! ได้

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 6
  • วิธีออกจากความกลัว คือไม่กลัวนั้นละครับ
    23 ก.พ. 2563 เวลา 03.01 น.
  • Lex
    ผมว่ากลัวอะไรพวกนี้ก็ไม่แปลกหรอกครับ แค่กลัวรู คนไทยๆรอบตัวผมเค้ากลัวคนอื่นได้ดีกัน ผมว่านี่สิแปลก คนอื่นแท้ๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย เค้าได้ดีของเค้าไป ยังจะไปกลัวอีก ผมว่านี่แหละคนเป็นโรคกลัวอะไรแปลกๆ
    09 ก.พ. 2563 เวลา 04.13 น.
  • 555_HNong_😎✨
    ตรงกันข้าม ผมกับชอบ อะไรที่เป็นรูๆ ครับ 😆
    10 ม.ค. 2563 เวลา 23.12 น.
  • Kittisak
    กลัวก็อย่าใช้สิ
    25 พ.ย. 2562 เวลา 06.23 น.
  • นงลักษณ์
    ปิ๊ง ดิฉันก็กลัวค่ะ เวลาเห็นมีอะไรที่เป็นรูเยอะๆ ดูแล้วไม่ชอบ
    22 พ.ย. 2562 เวลา 12.19 น.
ดูทั้งหมด