สรุปทิศทาง LINE ประเทศไทยสู่การเป็น ‘Life On LINE’ ที่มากกว่าซูเปอร์แอป
LINE แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาจากการเป็นแพลตฟอร์ม แชท สู่การเป็นผู้ช่วยในการใช้ชีวิต ตามวิสัยทัศน์ ‘Life On LINE’ ด้วยการผสมผสานระหว่าง OMO, Fintech และ AI เข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภค
อึนจอง ลี รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลก LINE Plus คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงภาพรวมของ LINE ประเทศไทย ที่ปัจจุบันให้บริการมาแล้วกว่า 6 ปี ว่าได้กลายเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่คนไทยนึกถึง และใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยจากสถิติพบว่า คนไทยใช้งาน LINE สูงถึง 26 วันต่อเดือน และมีอัตราการเปิดใช้งานสูงถึง 93%
ในส่วนของจำนวนผู้ใช้งาน LINE ในประเทศไทยประมาณ 44 ล้านคน หรือคิดเป็น 78% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ชายราว 53% และผู้หญิง 47% ทำให้ LINE กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทย
สำหรับทิศทางของ LINE ที่จะเกิดขึ้นหลังจากคือก้าวสู่การรเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการใช้ชีวิต ด้วยการเข้าไปซัพพอร์ตไลฟสไตล์ของผู้ใช้ในทุกๆ วัน ทุกๆ ช่วงเวลา โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ ‘Life on LINE’ ที่จะเริ่มไปพร้อมกันทั่วโลก
การเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับทุกคน คือการนำเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ตื่นนอนถ้าต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารก็สามารถเปิดเข้ามาอ่าน LINE TODAY ออกจากบ้าน เดินทางก็สามารถใช้ Rabbit LINE Pay ชำระค่าโดยสาร ไปจนถึงการจองร้านอาหารที่สามารถติดต่อผ่าน LINE ได้ทันที ทุกที่ทุกเวลา
แน่นอนว่าด้วยการเป็น LINE ในปัจจุบันยังไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ทำให้ในปีนี้ LINE มีการตั้งเป้าหมายขึ้นมาครอบคลุมใน 3 ส่วนคือ 1.การเชื่อมต่อธุรกิจออนไลน์ และออฟไลน์เข้าด้วยกัน (OMO) 2.พัฒนาบริการสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินให้สะดวกขึ้น และ 3.นำ AI เข้ามาช่วยยกระดับการใช้งาน LINE ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น
พร้อมยกตัวอย่างการเชื่อมธุรกิจออนไลน์ และออฟไลน์ ด้วยการนำเสนอบริการใหม่อย่าง LINE Mini App ที่จะเข้าไปช่วยร้านค้าบริหารจัดการช่องทางการสื่อสารผ่าน LINE ให้สะดวกมากขึ้น และยังสามารถเพิ่มบริการอย่างสั่งสินค้า จองโต๊ะ ทำรายการส่งเสริมการขายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครสมาชิก ให้รีวอร์ด รวมถึงการเพิ่มช่องทางการชำระเงิน และแจ้งเตือนแก่ลูกค้า
ถัดมาในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงิน LINE มีบริการอย่าง Rabbit LINE Pay ที่เข้ามาให้บริการในรูปแบบของ Mobile Payment Platform อยู่แล้ว หลังจากนี้ก็จะเสริมบริการในส่วนของ Financial Service ต่อเนื่องจากการจับมือกับทางธนาคารกสิกรไทย ตั้ง KASIKORN LINE ขึ้นมาให้บริการทางการเงินเพิ่มเติม
จุดเด่นที่สำคัญของการเปลี่ยน LINE ให้กลายเป็นธนาคารบนสมาร์ทโฟนคือ การทำธุรกรรมต่างๆ ต้องง่าย สามารถเชื่อมต่อกับช่องทางอื่นๆ ได้ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด (Cashless) ก่อนที่จะก้าวไปสู่การปล่อยสินเชื่อต่างๆ ในอนาคต
สุดท้ายในส่วนของ AI ที่ผ่านมา LINE ได้มีการนำ AI เข้ามาใช้ในการให้บริการอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสมแก่ผู้ใช้ทั้งในบริการอย่าง LINE TV, LINE TODAY, Timeline, Sticker และการโฆษณา ที่นำพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้มาวิเคราะห์ และนำเสนอในเรื่องราวที่สนใจเจาะลงไปเป็นรายบุคคล
ที่บอกว่าลึกลงไปถึงรายบุคคลแปลว่า เมื่อผู้ใช้งาน LINE เปิดหน้าจออย่าง LINE TODAY ขึ้นมา ผู้ใช้แต่ละรายทั้ง 44 ล้านคน จะเห็นการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างกันไป ตามพฤติกรรมที่แสดงออกในการให้ความสนใจข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หน้าจอแสดงผลของแต่ละรายไม่เหมือนกัน
ยังมีการนำเทคโนโลยีอย่าง OCR (Optical Character Recognition) มาพัฒนาให้รองรับภาษาไทย ในการที่แปลงข้อความในรูปภาพให้กลายเป็นตัวอักษร พร้อมนำไปใช้งานต่อได้ทันที ซึ่งเปิดให้ผู้ใช้ชาวไทยใช้งานมาสักพักแล้ว
ส่วนการนำ AI มาใช้ในช่องทางใหม่ๆ คือการนำเสนอ Smart Channel หรือช่องทางแจ้งเตือนข้อมูลบนหน้ารายชื่อหน้าต่างสนทนา ของผู้ใช้ที่จะคัดเลือกสิ่งที่ผู้ใช้สนใจมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นพยากรณ์อากาศ ตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปจนถึงข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจในแต่ละช่วงเวลา
จากการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ LINE มีความตั้งใจที่จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสนทนา หรือซูเปอร์แอป แต่จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยในการใช้ชีวิตของทุกๆ คน ให้สมกับวิสัยทัศน์ Life On LINE
ชิว ออดิโอ แดนซ์ ดีสุดๆครับ
20 ส.ค. 2562 เวลา 10.30 น.
ดูทั้งหมด