ฉีดวัคซีนยัง?
กลายเป็นคำถามฮิตที่คนไทยนำมาทักทายถามไถ่ เมื่อรัฐบาลมีมาตรการเปิดจองฉีดวัคซีน หลายคนคงเริ่มลงทะเบียนผ่าน 'หมอพร้อม' กันแล้ว ขณะเดียวก็เริ่มเห็นคนมีชื่อเสียงทยอยกันไปรับวัคซีนเป็นระยะ
หนึ่งในกระแสที่กำลังร้อนแรงคือ 'ทางเลือก' ในการฉีดวัคซีน ที่หลายคนกำลังนำมาถกเถียง เพราะเมื่อดูสถานการณ์วัคซีนไทยในขณะนี้ มีเพียง วัคซีน'ซิโนแวค' สำหรับบุคคลธรรมดา และ 'แอสตร้าเซเนก้า' สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในขณะที่บางข้อมูลบอกว่าประเทศอื่นมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อกว่า
ท่ามกลางการถกเถียงถึงทางเลือกนี้เอง ที่ทำให้หลายคนมองว่าคนกลุ่มนี้ 'ช่างเลือก' บางคนกล่าวหาว่าคนเหล่านี้เป็น 'Anti-Vaxxer' หรือพวกกลุ่มคน 'ไม่เอาวัคซีน'
ว่าแต่กลุ่ม Anti-Vaxxer คือใคร? เราเข้าข่าย 'คนไม่เอาวัคซีน' ไหม? ลองอ่านกันเลย!
'Anti-Vaxxer' ไม่ฉีด ยังไงก็ไม่ฉีด!
กลุ่มคนปฏิเสธวัคซีน หรือ 'Anti-Vaccination' เกิดขึ้นพร้อมๆ กับวัคซีนเข็มแรกเลยก็ว่าได้ ซึ่งวัคซีนชนิดแรกสุดที่มนุษย์คิดค้นคือวัคซีนป้องกัน 'โรคฝีดาษ' ประมาณปี 1800 พัฒนาโดยเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษ ที่ใช้ไวรัสฝีดาษในวัว มาทำให้อ่อนแรง และนำไปฉีดให้มนุษย์ เรียกอีกอย่างว่าการ 'ปลูกฝี' เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีอาการข้างเคียงคืออาจทำให้ผู้ถูกปลูกฝีรู้สึกป่วยเล็กน้อย
แต่ด้วยวิธีการที่ฟังดูค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและ 'นอกรีต' สำหรับคนในยุคนั้น ทุกคนไม่มั่นใจในการนำ 'ไวรัส' หรือ 'เชื้อโรค' จากสัตว์ มาฉีดใส่คน หรือเด็กเพื่อรักษาโรคเลย แนวคิดดังกล่าวได้รับการวิจารณ์อย่างรุนแรงมากขึ้นไปอีก เมื่อประเทศอังกฤษออกกฎให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนอย่างจริงจัง
กลุ่มต่อต้านวัคซีนเริ่มก่อตัวขึ้นมาในช่วงเวลานี้ ราวปี 1879 สมาชิกกลุ่มต่อต้านวัคซีนได้นำแนวคิดนี้ไปเผยแพร่ที่สหรัฐอเมริกาด้วย กลายเป็นสมาคม Anti Vaccination Society of America คอยป่าวประกาศว่าวัคซีนนั้นเป็นเจ้าตัวร้าย และเป็นเครื่องมือของรัฐและหมอที่ใช้ในการทำร้ายประชาชนเท่านั้น
ที่เป็นประเด็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือในปี 1998 แพทย์แอนดรูว์ เวคฟีลด์ (Andrew Wakefield) เขียนบทความลงในนิตยสาร The Lancet หนังสือพิมพ์ทางการแพทย์ ว่าวัคซีนโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (วัคซีน MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ฉีดให้เด็กอ่อนเป็นเข็มแรก เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะออทิสซึมในเด็ก อย่างไรก็ตาม The Lancet ประกาศถอดบทความนี้ในปี 2004 เพราะหมอเวคฟีลด์ไม่สามารถชี้แจงหลายจุดบอดในบทความได้
ต่อมาผลวิจัยในปี 2020 รวบรวมสถิติจากเปเปอร์จำนวน 138 ชิ้น เผยว่าเด็ก 23 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีน MMR มีภูมิคุ้มกันจากโรคดังกล่าวจริง และไม่มีผลกระทบต่อภาวะออทิสซึมแต่อย่างใด
แม้ข้อพิสูจน์เรื่องวัคซีนก่อให้เกิดภาวะออทิสซึมจะถูกตัดตกไปแล้ว แต่แนวคิดนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อ 'ขบวนการต่อต้านวัคซีน' ยุคใหม่ สังเกตได้จากจำนวนสมาชิกกลุ่มต่อต้านวัคซีนใน Facebook ที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 31 ล้านคน
กลุ่มคนต่อต้านวัคซีนเหล่านี้ ให้เหตุผลว่าการเลี้ยงลูกโดยธรรมชาตินั้นดีที่สุด พวกเขาเชื่อว่าการฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนการนำลูกหลานไปเป็นหนูทดลองให้รัฐบาลและบริษัทยา ทั้งยังยืนกรานว่าวัคซีนไม่เคยได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก ซึ่งการปฏิเสธวัคซีนของคนบางกลุ่ม ทำให้โรคบางโรคกลับมาระบาดอีกครั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยออกมาประกาศว่าการต่อต้านวัคซีนเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่อันตรายที่สุดของโลกในปี 2019 เลยทีเดียว
ตัวอย่างเหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่เกิดจากกลุ่ม Anti-Vaxxer คือเมื่อมีครอบครัวต่อต้านวัคซีนครอบครัวหนึ่งเดินทางไปประเทศคอสตาริกา ในระหว่างที่เที่ยว ลูกชายของครอบครัวเกิดป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะโรคหัด ซึ่งโรคนี้ไม่พบการระบาดในประเทศคอสตาริกามานาน ทำให้เกิดมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดทันที มีการตามตัวผู้โดยสารเที่ยวบินเดียวกับครอบครัวนี้มาสอบโรค ครอบคลุมไปถึงพนักงานโรงแรมที่ครอบครัวนี้เข้าพัก สถานที่ท่องเที่ยว ก่อให้เกิดความวุ่นวายไปทั่ว
ขบวนการต่อต้านวัคซีน ในยุคโควิด-19
แนวคิดวัคซีนทำให้เกิดภาวะออทิซึม ยังส่งผลกระทบต่อการรับวัคซีนในยุค 'โควิด-19' หนึ่งในกลยุทธ์การตั้งมั่นในจุดยืน 'ไม่ฉีดวัคซีน' ของคนกลุ่มนี้คือการยืนกรานว่าจะไม่รับวัคซีนโควิด-19 เด็ดขาด แต่จะใช้วิธีธรรมชาติเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแทน มีการอ้างว่าให้บริโภควิตามินซี น้ำมันงา กระเทียม และที่หนักข้อที่สุดคือการใช้สารฟอกขาวรักษาโควิด!
เลือกวัคซีน ไม่เท่ากับ ต่อต้านวัคซีน
กรณีที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย อาจมองว่าเป็นการถกเถียงเพื่อแก้ปัญหาการขาดทางเลือกวัคซีนที่จัดหาโดยรัฐ ในขณะที่กลุ่มคนต่อต้านวัคซีนเชื่อว่า วัคซีนไม่ปลอดภัย ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งความคิดเหล่านี้มักเกิดจากทฤษฎีสมคบคิดที่แชร์กันในโลกโซเชียลเป็นส่วนใหญ่
'วัคซีน' เป็นวิธีการรักษาโรคที่ปลอดภัยที่สุดวิธีหนึ่งที่มนุษย์คิดค้นได้ กลับกันการปฏิเสธไม่รับวัคซีนแบบชาว Anti-Vaxxer ก็อาจมีผลกระทบต่อส่วนรวม เป็นการทำลายขั้นตอนการเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม (Herd Immunity) และก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้จริงๆ เพราะเหตุผลด้านสุขภาพ ภูมิแพ้ หรืออายุ
อ้างอิง :
Thitipong ประเทศไหนกันครับที่ว่ามีวัคซีนให้เลือกฉีด เอาสภาพเศรษฐกิจอย่างประเทศไทยเรานะครับ แล้วที่ว่าคนไม่อยากฉีดน่ะ ไม่ใช่เพราะความรุ้เรื่องวัคซีนหรอก แต่เป็นเพราะบางคนไม่ยอมแยกระหว่างคำว่าการเมืองกับสุขภาพ พยายามเอามาปนกันแล้วสร้างความรุ่ค่านิยมผิดๆฝห้กับคนที่ไม่รุ้เรื่องเอาไปลือกันจน ประเทศจะเข้าขั้นวิกฤต แล้ว
19 พ.ค. 2564 เวลา 22.47 น.
!ก๋ 🌱 ที่เห็นๆในไทยไม่ใช่พวกไม่เอาวัคซีนหรอก แต่เป็นพวกการเมืองไม่เอารัฐบาลมากกว่า เอาปัญหาสุขภาพไปโยงกับการเมือง มาปั่นหัวชาวบ้านให้กลัววัคซีนตัวนั้นตัวนี้ และจะเอาตัวนั้นตัวนี้ แบบป่วนไปเรื่อย ตัวเองไม่ฉีดแต่ไปไซโคคนอื่นด้วย นี่แหล่ะมีเยอะในไทย
19 พ.ค. 2564 เวลา 23.48 น.
Pan20 จริงๆถ้าเลือกที่จะไม่ฉีดเอง ก็น่าจะรับความเสี่ยงโดย ถ้าหากว่าเป็นโรคแล้วจะต้องจ่ายค่ารักษาเอง เพราะทำให้ระบบสาธาฯต้องรับภาระหนักขึ้น เพราะหมอ พยาบาล ต้องมาเสี่ยง คนในสังคม ต้องมาเสี่ยงกะคุณ
19 พ.ค. 2564 เวลา 23.35 น.
ลัดดา พวกต่อต้าน ถ้ามันเป็นโควิด ก็ปล่อยให้มันตายไปก็จบนะ น่าเบื่อ
19 พ.ค. 2564 เวลา 23.59 น.
Som-O ตอนเรียนได้เรียนเรื่องหมอ Wakefield ที่โยงวัคซีนกับการเป็น Autism และมีดาราฮอลลีวูดเป็นตัวตั้งตัวตี เรื่องต่อต้านวัคซีนด้วย โลกเรามีคนหลายแบบจริง ๆ ค่ะ ถ้าดูจากข้อมูลวัคซีนช่วยทำให้โรคร้ายหมดไปก็เยอะค่ะ (อันนี้พูดโดยรวม ไม่ได้จำเพาะกับโควิด)
19 พ.ค. 2564 เวลา 23.39 น.
ดูทั้งหมด