SMEs-การเกษตร

“THADPIAM R.FARM” เพาะไก่ดำอินโด (Ayam Cemani) คุณภาพ

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 10 ก.พ. 2566 เวลา 14.17 น. • เผยแพร่ 10 ก.พ. 2566 เวลา 21.00 น.

Ayam Cemani หรือไก่ดำอินโด เป็นไก่ดำอีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย สีดำของไก่สายพันธุ์เกิดขึ้นเนื่องจากเนื้อเยื่อผิวคล้ำส่วนเกินซึ่งเกิดจากภาวะทางพันธุกรรม ทำให้ทุกส่วนของร่างกายมีสีดำรวมถึงอวัยวะภายในและกระดูกด้วย

ไก่ดำอินโดพัฒนาสายพันธุ์มาจากไก่ป่ามีลักษณะโครงสร้างแข็งแรง โดยเฉพาะต้นขาที่มีกล้ามเนื้อมากกว่าไก่ชนิดอื่น จึงทำให้ชาวบาหลีนิยมนำมาเป็นไก่ชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บ้านเรานำพันธุ์ไก่ดำอินโดมาเลี้ยงกันมากขึ้น มีผู้เพาะพันธุ์ขายราคาตามคุณภาพ นิยมเลี้ยงเป็นไก่สวยงามหรือนำไปบริโภค

คุณรักษา ทัดเปี่ยม ทำงานประจำเป็นพนักงานบริษัท ผู้ที่ชื่นชอบเลี้ยงไก่ โดยเฉพาะไก่สวยงามสายต่างประเทศหลายชนิดและอยู่ในวงการมาหลายปี กระทั่งเปลี่ยนมาเลี้ยงไก่ดำอินโดเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

คุณรักษาสนใจไก่ดำอินโดด้วยเหตุผลเพราะชื่นชอบในรูปร่างลักษณะที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะ ขณะเดียวกัน เห็นว่าไก่ชนิดนี้ที่เลี้ยงกันอยู่หลายแห่งในประเทศมีข้อดีคือโครงสร้างที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่ลักษณะเด่นประจำพันธุ์หลายอย่างดูด้อยลง จึงตั้งใจที่ต้องการจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักรูปลักษณ์มาตรฐานของไก่ดำอินโดเพื่อที่จะได้ช่วยกันพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีขึ้นในอนาคต

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“จุดประสงค์และเป้าหมายการเลี้ยงไก่ดำอินโดเพื่อ 1. ความชอบ 2. เพาะ-ขยายพันธุ์ให้คนอื่นที่สนใจนำไปเลี้ยงตามเจตนารมณ์ และ 3. ต้องการเผยแพร่ให้คนทั่วไปรู้จักรูปลักษณ์ จุดเด่นที่ได้มาตรฐานของไก่ดำอินโดมากขึ้น เป็นการเผยแพร่ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวด การให้ความรู้ตามงานแสดง”

ฟาร์มเพาะเลี้ยงไก่ดำอินโดของคุณรักษามีชื่อ “THADPIAM R.FARM” ตั้งอยู่เลขที่ 64 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองสะเดา อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เพาะขายลูกพันธุ์ ขายไก่รุ่น ขายพ่อ-แม่พันธุ์ รวมถึงขายไข่เชื้อ แบ่งการเพาะขยายพันธุ์เพื่อขายออกเป็น 2 แบบ คือไก่ดำอินโดภายในประเทศหรือไก่ดำอินโดพื้นฐาน กับไก่ดำอินโดนำเข้า

ไก่ดำชนิดแรกคุณรักษาเสาะหาลูกพันธุ์ไก่ดำอินโดจากแหล่งเพาะ-ขายชื่อดังหลายแห่งมาเลี้ยงให้โตเพื่อศึกษาพัฒนาการก่อนในเบื้องต้น จากนั้นจึงเลือกตัวที่มีลักษณะสมบูรณ์นำมาพัฒนาสายพันธุ์เพื่อเปรียบเทียบดูความเปลี่ยนแปลงในเรื่องลักษณะรูปร่างว่าเป็นอย่างไรบ้าง จนได้เป็นไก่ดำสายพันธุ์ใหม่รุ่นแรกที่มีลักษณะตรงตามมาตรฐาน มีความสวยงามและโดดเด่น มีโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรง แล้วใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วนไก่ดำอินโดที่นำเข้ามาเพื่อเพาะ-ขยายพันธุ์มีด้วยกัน 4 ชนิดตามลักษณะขน ได้แก่ 1. ขนเรียบ 2. ขนย้อน 3. ขนแร้ง และ 4. ขนเข็ม โดยพันธุ์ขนเรียบได้รับความนิยมในด้านตลาดสวยงามมากที่สุด ส่วนที่เหลือถือเป็นไก่ดำอินโดที่มีความแปลกแม้จะไม่สวยแต่ความแปลกทำให้ได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม

ลูกพันธุ์ที่เพาะขายแบ่งเป็น 2 เกรด คือ

1. เกรดพื้นฐานของไก่ดำอินโดที่เลี้ยงในประเทศแล้วนำมาผสมไขว้แล้วคัดพันธุ์จนได้ไก่ดำอินโดที่มีคุณภาพดีตรงตามเกณฑ์ ขายราคาเดือนละ 800-900 บาทต่อตัวแล้วแต่ความสมบูรณ์ ความสวยงาม ความเด่นของรูปทรง และ

2. เป็นเกรดไก่ดำอินโดที่นำเข้าแล้วมาเพาะ-ขายพันธุ์ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

2.1 เกรดไก่นำเข้าผสมกับไก่ดำพื้นบ้านในไทย (ไก่ดำนำเข้าจะได้เลือดที่พัฒนาการเรื่องสีดำเข้ม ส่วนไก่พื้นฐานในไทยจะได้เรื่องโครงสร้างความแข็งแรง แต่มีพิเศษตรงลิ้นดำ มีราคาขายเดือนละ 1,000-1,200 บาทต่อตัว

2.2 เกรดนอกผสมกับเกรดนอก เป็นไก่ดำอินโดแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีราคาขายเดือนละ 2,000-2,500 บาทต่อตัว ทั้งยังมีลิ้นดำเข้มกว่า

คุณรักษาชี้ว่า ไก่ดำอินโดเลี้ยงยาก ตายง่าย ดังนั้น กระบวนการเลี้ยงตั้งแต่ผสมพันธุ์ ดูแลให้อาหาร สถานที่ ตลอดจนสภาพแวดล้อมจึงควรดูแลและควบคุมอย่างเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

การผสมพันธุ์

อายุพ่อ-แม่ที่เริ่มผสมพันธุ์ตั้งแต่ 7 เดือนขึ้นไป และจะใช้งานพ่อ-แม่พันธุ์ไปจนถึงอายุประมาณ 2 ปี เมื่อพ่อ-แม่พันธุ์มีอายุพร้อมแล้วจะจับคู่แยกผสมในอัตราตัวผู้-ตัวเมีย 1 : 1, 1 : 2 หรือ 1 : 3 ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม วิธีนี้จะช่วยรักษาสุขภาพไก่ให้มีความแข็งแรงไม่โทรมอันนำมาซึ่งการออกไข่ที่มีคุณภาพ ได้ไข่สมบูรณ์ทุกฟองหรืออาจเสียหายน้อยที่สุด ต่างกับการปล่อยผสมพันธุ์แบบรวมที่ก่อให้เกิดอันตราย บาดเจ็บ สร้างความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจของไก่

ใช้เวลาผสม 1 สัปดาห์จะได้ไข่ประมาณ 7 ฟอง นำไข่เข้าตู้ฟักประมาณ 7 วัน ใช้ไฟส่องเข้าไปที่ไข่แต่ละใบเพื่อดูว่ามีเชื้อหรือไม่ หากพบเห็นเป็นเส้นเลือดฝอยแสดงว่าไข่สมบูรณ์ แต่ถ้าไม่พบให้นำไข่ฟองนั้นออกแล้วฟักไข่ที่สมบูรณ์ต่อไปจนได้เวลาประมาณ 19-21 วัน

จากนั้นนำลูกไก่เข้าตู้อนุบาลเพื่อให้ลูกไก่สามารถปรับสภาพร่างกายให้เหมาะสมกับอุณหภูมิ หลังจากนั้นจึงย้ายไปเข้ากรงลอย ในช่วงนี้ลูกไก่มีอายุประมาณ 1 เดือนครึ่ง สามารถคุ้ยเขี่ยอาหารกินได้เอง

การผสมพันธุ์ไก่ในฟาร์มกำหนดว่าจะต้องผสมไก่ดำอินโดพันธุ์แท้นำเข้าแต่ละชนิดขนทั้ง 4 ชนิดก่อน เมื่อได้พันธุ์ต้นแบบที่สมบูรณ์มีมาตรฐานแล้วจากนั้นจึงเริ่มผสมไขว้แบบ 2 ชนิดในตัวเดียวเพื่อสร้างให้เป็นไก่แปลก เป็นการสร้างมูลค่า เพราะตอบโจทย์ลูกค้าที่นิยมไก่แปลก เพราะไม่เพียงเป็นไก่ที่มีขนดำสนิททั้งตัวแล้ว ยังมีขนแปลกในแบบต่างๆ ด้วย

“ตลาดคนนิยมไก่ดำอินโดจะให้ความสำคัญในเรื่องความสมบูรณ์ของรูปร่างและทุกส่วนของร่างกาย มีรูปร่างและรูปทรงสวยงามตามลักษณะมาตรฐานซึ่งลูกค้าตลาดไก่ดำชอบแนวนี้ แต่สำหรับไก่ดำอินโดนำเข้าลูกค้ามักชอบแนวไก่แปลกมากกว่า ที่สำคัญนิยมไก่ลิ้นดำเป็นจุดที่ระบุราคาสูง-ต่ำ

สำหรับสายประกวดนิยมใช้ไก่ดำอินโดขนเรียบชนิดเดียว จะเป็นไก่พื้นฐานหรือไก่นอกนำเข้าก็ได้เพียงแต่ขอให้มีโครงสร้างรูปร่างลักษณะตรงตามมาตรฐาน ขนเรียบดำเข้ม”

อย่างที่บอกว่าคุณรักษามีงานประจำทำอยู่ และการเลี้ยงไก่ดำอินโดเป็นเพียงรายได้เสริม ดังนั้น การเพาะ-ขายพันธุ์ไก่ดำอินโดจึงไม่ได้เน้นปริมาณจำนวนไก่ แต่ให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพไก่มากกว่า ผลผลิตไก่ดำอินโดจากฟาร์มนี้ขายหมดเกลี้ยงทุกครั้ง เพราะลูกค้ารู้ว่าฟาร์มแห่งนี้ผลิตไก่คุณภาพ ได้มาตรฐาน แข็งแรง ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดเชิงธุรกิจได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกหลอก

“การเพาะฟักของไก่ดำอินโดจึงมีจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกัน ยังช่วยพ่อ-แม่พันธุ์แต่ละตัวมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์และออกไข่ให้มีคุณภาพ ลดความเสียหาย แล้วยังได้ลูกไก่ที่สมบูรณ์ แข็งแรง”

เรื่องอาหาร รูปแบบการเลี้ยง

ลูกไก่วัยแรกเกิดใช้อาหารสำเร็จรูปของหมูมาบดให้ละเอียดเพราะมีโปรตีนสูงช่วยทางด้านการเสริมโครงสร้างและความสมบูรณ์ภายใน พอเป็นไก่รุ่น ไก่โตจะเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมตามวัย นอกจากนั้น ยังให้อาหารเสริมในแต่ละช่วงวัย พร้อมไปกับยังเสริมด้วยสมุนไพรอย่างกะเพราเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยให้เดือนละ 1-2 ครั้ง

เลี้ยงไก่ในโรงเรือนที่มีเล้าไก่จำนวน 10 ช่อง แต่ละช่องมีขนาด 2 คูณ 2.5 เมตร มีจำนวนไม่เกิน 3 ตัว มุงตาข่ายมุ้งลวดไว้โดยรอบเพื่อป้องกันศัตรูทางธรรมชาติ บริเวณโรงเรือนมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องผ่านไม่อับชื้น ลักษณะการเลี้ยงไม่ได้ขังในกรงตลอด บางเวลาจะปล่อยไก่ออกมาเดินเล่นภายนอก ปล่อยให้คุ้ยเขี่ยดินเล่น เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยทำให้ไก่ไม่เครียด

ทางด้านสุขอนามัยภายในโรงเรือนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก อย่างสมัยก่อนที่เริ่มเลี้ยงในโรงเรือนจะใช้แกลบปูพื้นซึ่งพบปัญหาหลายอย่าง แกลบเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคทำให้ไก่ป่วยและตาย จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้ทรายแทนเพราะทรายจะดูดซับน้ำหรือของเสียลงด้านล่างและแห้งเร็ว ทั้งยังไม่ส่งกลิ่นเหม็น

ภายในโรงเรือนมีการจัดทำความสะอาดทุกสัปดาห์ ล้างภาชนะที่ใส่อาหารและน้ำเป็นประจำ ตลอดจนยังร่อนทรายปูพื้นนำเศษขยะออก แล้วเปลี่ยนทรายใหม่ทุกเดือน โดยก่อนเปลี่ยนจะทำความสะอาดพื้น ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักแล้วโรยปูนขาวก่อนเททรายใหม่

หากกำลังมองหาฟาร์มไก่ดำอินโดที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ต้องที่ “THADPIAM R.FARM” สนใจสั่งซื้อไก่ดำอินโดโทรศัพท์พูดคุยกับคุณรักษาได้ที่โทรศัพท์ 086-159-6354 หรือชมกิจกรรม รับรู้ข่าวสาร ความรู้การเลี้ยงไก่ดำอินโดได้ที่ เฟซบุ๊ก : Zogether R Thadpiam

ดูข่าวต้นฉบับ