อยากกู้ซื้อบ้านต้องทำอย่างไร เตรียมเอกสารอย่างไรให้ยื่นผ่านตั้งแต่ครั้งแรก อ่านที่นี่เลย!
หลายคนที่กำลังเตรียมตัวขอสินเชื่อบ้านอยู่ อาจจะกำลังเผชิญปัญหากับเอกสารขอสินเชื่อบ้านต่าง ๆ ที่มากมาย ตั้งแต่เอกสารไม่ครบ ไม่รู้ว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง หรือยื่นเอกสารไปครบแล้วแต่สุดท้ายกลับถูกปฏิเสธเพราะเอกสารไม่ผ่าน เครดิตไม่น่าเชื่อถือ วันนี้เรามีเทคนิคการเตรียมตัวมาฝาก
ทบทวนเอกสารขอสินเชื่อบ้านที่ต้องยื่น
เอกสารขอสินเชื่อบ้านประกอบไปด้วย 3 หมวดหลัก ได้แก่ เอกสารส่วนบุคคล เอกสารการเงินหรือแสดงที่มารายได้ และเอกสารหลักประกัน
1. เอกสารส่วนบุคคล
เอกสารขอสินเชื่อบ้านกลุ่มนี้ ไม่มีอะไรมาก ธนาคารเพียงต้องการหลักฐานส่วนบุคคลไว้ยืนยันตัวตนและทำธุรกรรมด้วยเท่านั้น ทั้งนี้ ถ้าผู้ขอสินเชื่อมีคู่สมรส ก็ต้องยื่นเอกสารของคู่สมรสด้วย เพราะถือเป็นบุคคลเดียวกัน เอกสารส่วนบุคคล ได้แก่
- บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
- สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (คู่สมรส) (ถ้ามี)
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
2. เอกสารทางการเงิน
เอกสารทางการเงิน คือ เอกสารที่เราจะใช้แสดงที่มารายได้ ดังนั้น ที่มารายได้ของแต่ละอาชีพจึงแตกต่างกัน ซึ่งธนาคารจะแบ่งอาชีพที่มีรายได้ต่างกันเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. พนักงานประจำ
- ใบรับรองเงินเดือน / หนังสือผ่านสิทธิสวัสดิการ
- สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
2. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน/หลักฐานแสดงฐานะการเงินอื่นๆ (พร้อมเอกสารฉบับจริง)
- สำเนาทะเบียนการค้า/ทะเบียนบริษัท/ห้างหุ้นส่วน
- หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- รูปถ่ายกิจการ
- สำเนาใบประกอบวิชาชีพ
ทั้งนี้ เอกสารการเงินมักเป็นส่วนที่ทำให้หลายคนกู้ขอสินเชื่อไม่สำเร็จ เพราะเครดิตหรือความน่าเชื่อถือทางการเงินไม่เพียงพอ ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมสร้างเครดิตให้กับเอกสารทางการเงินให้ดีก่อนยื่นกู้ วิธีเหล่านั้นจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
3. เอกสารหลักประกัน
เอกสารขอสินเชื่อบ้านในกลุ่มสุดท้าย เราต้องยื่นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับธนาคารว่าเราจะชำระหนี้คืนให้แก่เขา โดยที่กรรมสิทธิ์ของสินทรัพย์จะยังเป็นของเราอยู่ เอกสารหลักประกันก็มีหลายประเภทโดยจะแตกต่างกันที่จุดประสงค์การกู้ คือ ซื้อ หรือสร้าง
- สำเนาจะซื้อจะขาย / สัญญาวางมัดจำ / สัญญาเช่าซื้อการเคหะฯ และหนังสือรับรองยอดคงเหลือ
- หลักฐานการเป็นเจ้าของอาคาร
- สำเนาโฉนดที่ดิน / นส.3ก / หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด / อช.2 ทุกหน้า
- ใบอนุญาตปลูกสร้าง / ต่อเติม
- แบบแปลน
- ใบประมาณการปลูกสร้าง / สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง
*หมายเหตุ ธนาคารอาจขอเอกสารเพิ่มเติมจากผู้ขอกู้ตามแต่กรณี เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการให้สินเชื่อ
ตรวจสอบเครดิตทางการเงิน ยื่นขอสินเชื่อให้ผ่านในครั้งเดียว
ตามที่ระบุไปข้างต้นแล้ว เอกสารขอสินเชื่อบ้านประเภทเอกสารการเงิน มักจะเป็นอุปสรรคที่อาจทำให้คุณยื่นขอสินเชื่อไม่ผ่าน เพราะเอกสารการเงินคือสิ่งที่ธนาคารจะใช้พิจารณาความสามารถและความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของเรา ได้แก่ บัญชีเงินฝากหรือรายการเดินบัญชี (Statement) ย้อนหลัง 6 เดือน และประวัติการชำระหนี้ โดยคุณสามารถสร้างเครดิตให้เอกสารทั้งสองประเภทนี้ได้ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้
1. ตรวจสอบเครดิตบูโร
ก่อนที่จะขอกู้ คุณควรตรวจประวัติการชำระหนี้ของคุณกับ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร (NCB: National Credit Bureau) ก่อน เพื่อดูว่าเครดิตของคุณมีปัญหาอะไรหรือไม่ เช่น ค้างชำระ ติดแบล็คลิสต์ ประวัติชำระไม่ตรงเวลา ถ้าหากมีประวัติข้างต้น ธนาคารอาจไม่อนุมัติสินเชื่อให้คุณ
คุณอาจต้องเริ่มแก้ไขประวัติเหล่านั้นด้วยวินัยการชำระหนี้ที่ดี หรือลองปรึกษาธนาคารที่ต้องการถึงแนวทางขอสินเชื่อเมื่อติดประวัติเครดิตบูโร สำหรับธนาคาร ธอส. ก็มีโครงการโรงเรียนการเงินที่จะช่วยแนะนำแนวทางสร้างวินัยการเงินและการยื่นขอสินเชื่อให้ผ่านแม้จะเคยติดประวัติเครดิตบูโรมาก่อนก็ตาม
2. ปลดภาระสินเชื่ออื่น ๆ ลง
ข้อมูลหนี้สินของคุณทั้งหมดในระบบจะมีบันทึกอยู่ในเครดิตบูโร หากคุณมีภาระหนี้สินมากเกินไป ธนาคารจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้คุณ เพราะโดยทั่วไป ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อให้บุคคลไม่เกิน 30% – 40% ของรายได้ นั่นถือ หนี้สินทั้งหมดของคุณ รวมแล้วจะต้องไม่เกิน 40% ของรายได้
สินเชื่อที่คุณควรปลดให้ได้ก่อนขอสินเชื่อบ้านก็อาจเป็นสินเชื่อระยะกลาง เช่น สินเชื่อผ่อนรถ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลก้อนใหญ่ เพื่อให้ภาระหนี้สินของคุณน้อยลง และเพื่อเป็นประวัติว่าคุณสามารถชำระหนี้ได้
3. ชำระหนี้ให้ตรงเวลา
หากคุณมีหนี้สินอื่น ๆ ด้วย หรือทำบัตรเครดิตซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นอยู่บ้าง หนี้ประเภทนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อเครดิตการเงินของคุณ ถ้าหากคุณชำระหนี้ตรงเวลาเสมอ เพราะเมื่อธนาคารเข้าไปตรวจประวิตคุณกับเครดิตบูโร เขาก็จะเห็นว่าคุณชำระหนี้ตรงเวลา คุณมีวินัยทางการเงินที่น่าเชื่อถือ โอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
4. ใช้เงินอย่างเป็นระบบ
สำหรับข้อนี้ ธนาคารจะเล็งไปที่บัญชีเงินฝากของเรา เพื่อที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา คุณลองนึกดูได้ว่า ธนาคารจะเชื่อถือคนแบบใด ระหว่างคนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ บางเดือนมาก บางเดือนน้อย แล้วกดเงินบ่อย บางทีกดมากจนเกือบหมดบัญชี กับคนที่มีรายได้สม่ำเสมอ และมียอดกดเงินเท่าๆ ใกล้เคียงกันในแต่ละเดือน ธนาคารจะเลือกเชื่อถือคนแบบไหน
แน่นอนว่า คนที่ธนาคารจะเชื่อถือว่ามีพฤติกรรมการใช้เงิน คือ คนที่ใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ ซึ่งคุณสามารถสร้างความน่าเชื่อถือตรงนี้ได้ แใ้จะไม่ได้มีรายได้ประจำก็ตาม
- ฝากเงินจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละเดือน หรือมีขั้นต่ำที่ต้องมีเงินเข้าเป็นรายรับ
- มีกำหนดวันในการกดเงินจากบัญชี และจำกัดจำนวนครั้ง เช่น กดเงิน 2 ครั้งต่อเดือน คือ วันที่ 1 และวันที่ 16 เป็นต้น
- ไม่กดเงินจนหมดบัญชีหรือไม่กดเงินทีละมาก ๆ
5. ออมเงินเท่าจำนวนผ่อน
ข้อนี้ถือเป็นเทคนิคเฉพาะที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือ การฝากเงินเข้าบัญชีในจำนวนที่ใกล้เคียงกับยอดผ่อนเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป ตามรายการเดินบัญชีที่ต้องยื่น ซึ่งคุณสามารถคาดคะเนยอดผ่อนชำระต่อเดือนของคุณแบบคร่างๆ ได้ก่อน โดยใช้สัดส่วนชำระหนี้ 7,000 บาท / 1,000,000 บาท (สำหรับสัญญาผ่อนชำระ 30 ปี)
ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการซื้อบ้านราคา 2,000,000 บาท คุณก็จะต้องผ่อนบ้านเดือนละประมาณ 14,000 บาท เป็นต้น
วิธีนี้ยังถือเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้คุณด้วย และถือเป็นการทดลองผ่อนจริง ดังนั้น หากคุณทำได้ อย่างไรเอกสารการเดินบัญชีของคุณก็ต้องผ่านแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีอีกเคล็ดลับในการออมเงินเพื่อการกู้สินเชื่อบ้าน คือ การฝากเงินกับธนาคารที่คุณสนใจขอกู้ เป็นการสร้างประวัติทางการเงินกับผู้ปล่อยกู้ให้เขาตรวจสอบง่ายขึ้น และยังเป็นการสานสัมพันธ์ก่อนขอกู้จริง เพิ่มโอกาสอนุมัติไปอีกขั้น
ขอบคุณ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
อ่านข่าวเพิ่มเติม