“จับปูดำขยำปูนา จับปูม้าคว้าปูทะเล สนุกจริงเอยเอ๊ยเอยนอนเปล ชะโอละเห่นอนเปลหลับไป”
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เชื่อว่าหลายท่านน่าจะจำเพลงกล่อมเด็กเพลงนี้ได้นะครับ ในเพลงบอกถึงปูชนิดต่างๆ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม เด็กๆ ก็ได้จินตนาการและหลับไปอย่างมีความสุข นั่นเป็นเพลงกล่อมเด็กเนอะ แต่ในความเป็นจริง ปูนาเป็นสัตว์ที่น่าสงสารอย่างยิ่ง เมื่อถึงฤดูกาลทำนา ปูนาแต่ละตัวก็เป็นศัตรูของต้นข้าวในนา จนชาวนาต้องซื้อยาฆ่าปูมากำจัดกันอย่างหลากหลาย ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในผืนนาขยายวงไปทั่วประเทศ “ปูนากัดกินต้นข้าว” นี่คือความผิดที่ต้องสังเวยชีวิต
โลกนี้มีความยุติธรรมเสมอ เมื่อปูนาถูกจำกัดมากขึ้น ก็ส่งผลถึงห่วงโซ่อาหาร การขาดหายไปของปูนา ส่งผลถึงกระทั่งธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ร้านส้มตำ ที่ปัจจุบันจะเห็นว่ามีแต่ปูทะเลเป็นส่วนมาก หาปูนาดองกินยากมากแล้ว และมิใช่หายไปเพียงปูนา กุ้งฝอย หอยขม ปลาซิว ลดจำนวนลงอย่างสอดคล้องกัน
ผมเองก็เป็นเด็กบ้านนอก ในช่วงฤดูกาลทำนาหน้าฝน อาหารจากท้องนามีอยู่มากมาย ปักเบ็ดก็ได้ปลา ขึงข่ายก็ได้ปลา กระทั่งใช้ไฟส่องในยามค่ำคืนก็มีปลาให้จับมาทำอาหารอย่างสมบูรณ์ ในส่วนที่น้ำไหลแค่เอาผ้าเขียวไปรองก็มีกุ้งฝอยปลาซิวติดมาให้นำไปปรุงอาหารอย่างมากมาย ดังนั้น ปูในหน้าฝนเราจึงไม่ค่อยได้จับมากิน แต่คนเฒ่าคนแก่พาทำในการถนอมปูนาไว้กินอย่างแยบยล ให้ปูนาอยู่คู่กับนาข้าวอย่างไม่ทำร้ายกัน วิธีง่ายๆ ก็คือเดินเลาะในนา เจอปูก็จับมาหักก้ามเล็กออก เท่านี้ปูนาก็หมดพิษสงในการจะใช้ก้ามคีบตัดต้นข้าวแล้ว กว่าก้ามใหม่จะงอกมาก็พอดีถึงฤดูเก็บเกี่ยว ที่ปูนาจะเข้ารูเป็นปูนาจำศีลดังที่เราเข้าใจกันแล้ว นี่แหละเป็นช่วงที่ปูนาจะอร่อยมาก มันเยิ้มเลย นำมาปรุงอาหารเมนูไหนก็อร่อย
เมื่อปูนาเริ่มหายาก ปริมาณที่มีไม่เพียงพอในการบริโภค ก็เริ่มมีเกษตรกรรุ่นใหม่ศึกษา ทดลองเพื่อนำปูนามาเลี้ยงเพื่อหวังจะทดแทนในส่วนที่ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค ลองผิดลองถูกกันอยู่ช่วงหนึ่ง จนปรับปรุงและถ่ายทอดเป็นวิชาการเลี้ยงปูนาให้สำเร็จเพื่อการค้าได้อย่างแท้จริง มีผลผลิตจำหน่ายทั้งปูสด ปูปรุงสุก กระทั่งน้ำพริกต่างๆ โดยมีปูนาเป็นวัตถุดิบหลัก
ที่ ททบ.5 มีกิจกรรมเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรมาออกร้านในพื้นที่ฟรี มีเกษตรกรเลี้ยงปูนานำผลผลิตมาจำหน่ายและแนะนำการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ กระทั่งรวมกลุ่มสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายทั่วประเทศ
คุณมารุต คลองตะเคียน คือเกษตรกรที่หันมาเลี้ยงปูนา จนกระทั่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างเพียบพร้อม กระทั่งหาลูกฟาร์มเพื่อรับซื้อปูสดกลับมาจำหน่ายและแปรรูป ซึ่งปกติก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้เช่นกัน เพราะเดิมทำอาชีพเลี้ยงหมู และแฟนทำงานบริษัท ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ในภาระหน้าที่การงานของแฟนหนักขึ้น ทำงานไม่ค่อยเป็นเวลา พักผ่อนน้อย จึงอยากให้ออกมาทำงานอยู่กับบ้าน ครั้นจะเลี้ยงหมูเพิ่มก็กระไรอยู่ ก็เลยหันไปมองอย่างอื่น ประกอบกับความเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า มองว่าการเลี้ยงปูนาน่าจะเป็นอาชีพได้อย่างยั่งยืน จึงศึกษาและลงมืออย่างจริงจัง
“มั่นใจขนาดนั้นเลยเหรอครับว่าปูนาจะสร้างอาชีพให้เราได้”
“ผมมั่นใจครับ ศึกษามาดีแล้ว ที่สำคัญ มีตลาดรอบริโภคอยู่ไม่น้อย ทุกวันนี้ไม่มีปูนาวางขายตามตลาดเลย หากเรามีก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้ผู้บริโภคต่อไป”
“แรกๆ พบปัญหาอะไรไหมครับ”
“ก็มีครับ ทั้งจากการเลี้ยงเอง เนื่องจากเรายังมือใหม่ บางอย่างก็ลองผิดลองถูกบ้าง แต่ที่เรามั่นใจเพราะก่อนลงมือเลี้ยง เราได้ศึกษาอย่างจริงจัง”
“แถวบ้านให้กำลังใจยังไงไหมครับ”
“เขาก็ว่าเราบ้านั่นแหละครับ ทำงานอยู่ดีๆ โรงเลี้ยงหมูก็มี จะไปเลี้ยงปูนาทำไม”
“แล้วเราคิดยังไงครับ”
“ดีเลยครับ เมื่อมองว่าเราเป็นแบบนี้จะได้ไม่มีคู่แข่ง ผมก็เลี้ยงเรื่อยมา จนตอนนี้แปรรูปจำหน่ายหลากหลายแล้วครับ”
ในโรงเลี้ยงปูนาของคุณมารุต เป็นโรงเรือนขนาด 400 ตารางเมตร ตั้งกระชังผ้าใบขนาด 2×4 เมตรจำนวน 26 บ่อ โดยแบ่งเป็น
– แถวที่ 1 จำนวน 7 บ่อ เอาไว้เพาะขยายลูกปูนา แบ่งเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่
– แถวที่ 2 จำนวน 7 บ่อ เอาไว้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
– แถวที่ 3 จำนวน 7 บ่อ เอาไว้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
– แถวที่ 4 จำนวน 5 บ่อ เอาไว้ปรับสภาพปูนา
ในแต่ละบ่อ จะเลี้ยงปูนาได้ 240 ตัว เป็นตัวผู้-ตัวเมียอย่างละ 120 ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงก็จะเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่หาได้ มะม่วง มะละกอ มะพร้าว กล้วย ฟักทอง แคร์รอต ปลาเล็กปลาน้อย โครงไก่ต้มสุกบด และให้อาหารเมล็ดไฮเกรดเสริมด้วย โดยปูนาที่ผสมพันธุ์แล้วจะใช้เวลาตั้งท้องฟักออกมาประมาณ 45 วัน การอนุบาลลูกปูก็จัดบ่อเลียนแบบธรรมชาติ ใส่พืชน้ำไปเยอะๆ ประเภทสาหร่ายหางกระรอกจะดีมาก เพราะลูกปูจะได้เกาะอาศัยและกัดกินได้ด้วย ใส่น้ำสูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใส่กระบอกไม้ไผ่ลงไปให้เป็นที่หลบซ่อนของลูกปูด้วย ในช่วงนี้ให้เปิดปั๊มน้ำช่วยเพิ่มออกซิเจนและลดการเน่าเสียของน้ำด้วย อาหารลูกปูช่วงนี้ก็เป็นไข่ตุ๋น เต้าหู้ไข่ ไข่ผำ ไรแดง ให้แต่น้อยพอกินเท่านั้น
“ปูนาอายุกี่เดือนถึงจะเริ่มจำหน่ายได้ครับ”
“6 เดือนครับ”
“ขายราคาเท่าไหร่ครับ”
“150-180 บาท ตามฤดูกาลครับ”
“โห! ราคาดีไม่น้อยเลย แล้วพอขายเหรอครับ”
“ไม่พอหรอกครับ ทางเราเลยเปิดเป็นคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับพี่น้องเกษตรกรท่านอื่นๆ ด้วยครับ”
“แล้วที่ว่าแปรรูป”
“ที่นี่มีน้ำพริกปูนา 4 รสชาติครับ น้ำพริกตาแดงมันปูนา น้ำพริกเผาปูนาไข่เค็ม น้ำพริกนรกปูนา น้ำพริกปูนาปลาย่าง แล้วยังมีปูนาดองน้ำปลากวน หลนปูนา ปูนาอบสมุนไพร ยำปูนา มันปูนา”
“ราคารับซื้อจากลูกฟาร์มคิดยังไงครับ”
“หากเลี้ยงบ่อดินก็รับซื้อ กิโลกรัมละ 60 บาท เลี้ยงระบบน้ำใสก็กิโลกรัมละ 80 บาทครับ ของเรามี GAP รับรองครับ”
“หากมีคนสนใจมาศึกษาหรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ได้ไหมครับ”
“ยินดีครับ โทร.มาก่อนได้เลยครับ 084-019-0079 และ 064-643-7365 ฟาร์มเราอยู่วิหารแดง สระบุรีครับ”