ทั่วไป

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ 'เหา' (5) กองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียนติด 'เหา'?

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 18 ม.ค. เวลา 13.46 น. • เผยแพร่ 10 ม.ค. เวลา 02.35 น.

โจโฉแตกทัพเรือในศึกเซ็กเพ็ก ก็เพราะเพลิงไฟ… แต่กองทัพนโปเลียนอันแสนเกรียงไกรแตกพ่ายก็เพราะ “เหา”

ใช่แล้วครับ! กองทัพนโปเลียน ติด “เหา”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ติดกันแบบงอมแงม ติดกันจนไข้รากสาดใหญ่ หรือที่เรียกกันติดปากในภาษาฝรั่งว่า ไทฟัส (typhus) ที่มีเหาเป็นพาหะนั้นแพร่กระจายไปทั่วกองทัพ

เล่นเอากองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียน (Grande Arm?e) ขนาดเจ็ดแสนคน เรียกว่ายิ่งใหญ่ที่สุดที่ยุโรปเคยมี ต้องสูญสิ้นท่า เหลือรอดกลับมาแค่ไม่ถึงสามหมื่นนาย

และที่ยังพอมีกำลังวังชาพอสู้รบต่อได้ มีเหลือไม่ถึงพัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างที่รู้กัน ในยุคของนโปเลียนพื้นแผ่นดินแห่งทวีปยุโรปนั้นร้อนระอุไปด้วยภัยสงคราม ฝรั่งเศส อังกฤษ โปแลนด์ ปรัสเซีย บาวาเรีย และอีกหลายประเทศถูกดึงเข้ามาอยู่ในสมรภูมิอันดุเดือดที่กินเวลายาวนานนับทศวรรษ

นโปเลียนคือจอมทัพชาญศึก ที่รุกรานไปทั่วยุโรป…

แต่สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง มหาสงครามบุกรัสเซียของฝรั่งเศส (French invasion of Russia) คือบทเรียนที่จอมทัพมากประสบการณ์อย่างนโปเลียนจะต้องจดจำไปจนวันตาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เพราะในศึกนี้ นอกจากจะปราชัยอย่างหมดรูปแล้ว เขายังสูญกองทัพไปอีกนับแสน

คำถามคือเกิดอะไรขึ้นกับกองทหารของนโปเลียน ทำไมกองทัพที่กรำศึกมาแล้วทั่วทุกสารทิศจึงแตกพ่ายอย่างน่าอัปยศ

เพราะถ้าย้อนไปดูข้อเท็จจริง แม้จะเสียไพร่พลไปมากโข แต่ทัพใหญ่ของนโปเลียนบุกทะลวงรุกไล่กองทัพรัสเซียจนล่าถอยไปได้ตลอดทางในแทบทุกสมรภูมิ ตั้งแต่ที่สโมเลนสค์ (Smolensk) ไปจนถึงโบโรดิโน (Borodino) ไปจนถึงมอสโก (Moscow) ที่จริง พวกเขายึดมอสโกได้แล้วด้วยซ้ำ แต่ในท้ายที่สุด พวกเขาก็ยังต้องล่าถอย

แถมต้องทิ้งชีวิตทหารหาญอีกมากมายไว้ระหว่างทาง

สงครามครั้งนี้เริ่มจากความขุ่นข้องหมองใจของนโปเลียนที่ทางฝั่งพระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 1 (Tsar Alexander I) แห่งรัสเซียแอบไปมีสัมพันธ์ทางการค้ากับจักรวรรดิอังกฤษและละเมิดสนธิสัญญาสงบศึกที่ทำไว้กับเขาที่เมืองทิลสิต (Tilsit)

ในฤดูร้อนของปี 1812 นโปเลียนตัดสินใจระดมพลทหารกว่าเจ็ดแสนนาย และเริ่มกรีธาทัพใหญ่บุกรัสเซีย

และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของตำนานแห่งหายนะของกองทัพฝรั่งเศสที่ถึงพริกถึงขิง ไม่แพ้ยุทธการผาแดงในสามก๊ก

ในตอนแรก กองกำลังอันแข็งแกร่งของนโปเลียนเป็นกองทัพที่น่าเกรงขาม มีกฎระเบียบชัดเจน การสั่งการทุกขั้นตอนดูเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นระบบ การจัดทัพในทุกกรมกองดูรัดกุม

แต่พอกองทัพดำเนินเข้าเขตประเทศโปแลนด์ ทุกสิ่งที่เคยดีงามก็เปลี่ยนไป

หลักๆ เลยก็เป็นเพราะว่าถนนหนทางในประเทศโปแลนด์นั้นเป็นถนนแบบบ้านๆ ที่สร้างขึ้นมาให้ชาวบ้านใช้กันในการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีโครงสร้างที่แข็งแรงพอจะรองรับการขนส่งปืนใหญ่ ยุทธภัณฑ์และเสบียงจำนวนมหาศาลของกองทัพขนาดนับแสนคนของนโปเลียน

ผ่านไปไม่นาน ถนนที่พวกเขายาตราทัพผ่าน ก็เริ่มราน ร้าว แตกเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้การลำเลียงเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์กองทัพนั้นต้องหยุดชะงัก และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ส่งมาได้ถึงแนวหน้า

นโปเลียนตระหนักดีว่าจะเกิดปัญหาขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ แต่ปัญหาที่นโปเลียนกังวลและให้ความสำคัญมากสำหรับโปแลนด์นั้นไม่ใช่เรื่องถนนหนทางแต่เป็นเรื่องการป้องกันและรักษาโรคระบาด

ในเวลานั้น โปแลนด์คือศูนย์กลางการระบาดของโรคไทฟัส เขาสั่งให้มีการสร้างโรงพยาบาลสนามไว้รองรับทหารป่วยในหลายเมืองที่เขาดำเนินผ่าน

และกำชับอย่างเข้มงวด ห้ามมิให้ทหารของกองทัพของเขาไปติดต่อหรือมีปฏิสัมพันธ์อะไรกับชาวบ้านในโปแลนด์เป็นอันขาด

แต่ทว่า สถานการณ์ในแนวหน้าค่อนข้างแย่ ทหารกองหน้าขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ถนนก็ขาด เสบียงยังไง ก็ส่งมาไม่ได้ แม้จะมีกฎที่ชัดเจน

แต่กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ด้วยความหิว พวกทหารก็ยอมที่จะเสี่ยงแหกกฎและเริ่มลอบปล้นสะดมชาวบ้านในโปแลนด์เพื่อแย่งชิงอาหารและปัจจัยสี่

อนิจจา เหมือนกรรมสนองกรรม กองทหารเริ่มติดเหาจากชาวบ้าน และด้วยความเป็นอยู่ในค่ายทหารที่ทั้งแออัดและซกมก ที่เป็นเสมือนดินแดนสวรรค์ของพวกเหา ถึงเวลาอาบน้ำ บางคนก็อาบ บางคนก็ซักแห้ง เสื้อผ้าเครื่องแบบใส่แล้วก็หมกๆ ซุกๆ สุมๆ กันไว้ บางทีจะใช้ก็สะบัดๆ แล้วเอามาใส่ซ้ำ ไม่ช้าไม่นาน ทั้งกองทัพก็เต็มไปด้วยเหา

สภาพกองทัพฝรั่งเศสที่ถูกรุกรานด้วยเหานั้นถึงขั้นน่าเวทนา พวกเขาโดนกองทัพเหาโจมตีอย่างหนักถึงขนาดมีคนเคยอุปมาเอาไว้ว่าในยามที่หลับตาลงนอน ก็ต้องสะดุ้งตื่นจากการถูกเหาจิกกัด

ทหารบางคนถึงกับยอมฉีกเสื้อและกางเกงของเขาโยนเข้าไปในกองไฟ และได้ยินเสียงเหาระเบิดปะทุอยู่ข้างในเปรี๊ยะ เปรี๊ยะ ราวกับเสียงยิงปืนของกองทหารราบ

หลังจากที่กองทัพเหาเข้ารุกราน พวกทหารก็เริ่มล้มป่วยจากไทฟัส

พวกเขามีอาการไข้ และมีผื่นแดงขึ้นตามตัว โรงพยาบาลสนามที่เคยจัดเตรียมไว้หลายแห่งทั้งในแดนซิก (Danzig) โคนิกสเบิร์ก (K?nigsberg) และธอร์น (Thorn) เริ่มแออัดไปด้วยทหารป่วย

โรคระบาดเริ่มคร่าชีวิตทหารของกองทัพนโปเลียนไปอย่างรวดเร็ว ในตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าตัวการแท้จริงที่คอยแพร่ไทฟัส นั้นคือ “เหา”

จากบันทึกของคาร์ล วอน คลอสวิตซ์ (Carl Philip Gottfried von Clausewitz) นักการทหารชื่อดังชาวปรัสเซีย“กองทัพหลวงของนโปเลียนข้ามแม่น้ำนายแมน (nieman river) ด้วยไพร่พลราว 301,000 คน แต่ในตอนที่กองทัพของเขายาตราไปถึงเมืองสโมเลนสค์ในอีก 52 วันต่อมา นโปเลียนเหลือไพร่พลอยู่แค่เพียง 182,500 คนเท่านั้น นั่นหมายความว่าเขาได้สูญเสียทหารไปถึง 105,000 นาย หรือราวๆ หนึ่งในสามของกองทัพเขา ตั้งแต่เพิ่งเริ่มสงคราม”

การศึกติดพันยาวนานหลายเดือน นโปเลียนรบพุ่งชนะจนยึดเมืองได้หลายเมืองขับไล่กองกำลังของจักรวรรดิรัสเซียที่นำทัพโดยจอมพลตาเดียว มิคาอิล คูทูซอฟ (Mikhail Kutuzov) ให้ถอยร่นไปจนถึงมอสโก

แต่แทนที่ชนะแล้วจะได้เสบียงเพิ่มจากการยึดเมือง ยึดค่าย กลับต้องผจญกับ“กลยุทธ์ผลาญภพ (Scorched earth)” ของคูทูซอฟที่ไล่เผาทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมือง ในค่ายที่กองทัพนโปเลียนจะพอเอาไปใช้ให้สิ้นซาก ไม่เหลืออะไรไว้ให้กองทัพฝรั่งเศสได้เก็บเกี่ยวแม้เพียงนิด

นั่นหมายความว่าต่อให้ยึดเมืองได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะได้แต่เมืองร้างและเศษซากปรักหักพัง อยากอยู่ก็อยู่ไม่ได้ พอถึงหน้าหนาวที่เยือกเย็นอย่างร้ายกาจ ยังไงก็ต้องถอนทัพถอยกลับไปอยู่ดี

ลมเหมันต์เริ่มพัดผ่าน ทว่า นโปเลียนยังคงดื้อแพ่ง รีรอที่จะให้พระเจ้าซาร์ อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ยอมจำนนและขอเจรจาขอคืนเมือง

ทว่า ผลที่ได้กลับตาลปัตร ฤดูหนาวกลับมาถึงก่อนพระราชสาส์นขอเจรจา

ท้ายที่สุด สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต นโปเลียนไม่มีทางเลือก นอกจากจะตัดสินใจยอมสั่งถอนทัพกลับฝรั่งเศส และในระหว่างที่ถอนทัพนี้เองที่กองทัพรัสเซียของมิคาอิลและพวกกองโจรคอสแสค (Cossack) เริ่มจู่โจมตลบหลัง

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (5) กองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียนติด ‘เหา’?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com

ดูข่าวต้นฉบับ