เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน การประกวดผ้าลายพระราชทาน ผ้าลายดอกรักราชกัญญา และงานหัตถกรรม โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการ”ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายภูภวิศ กฤตพลนารา นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ ISSUE นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรด์ WISHARAWISH ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ประธานหลักสูตรแฟชั่นสิ่งทอและเครื่องตกแต่ง วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเอกพจน์ วงศ์อารยะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางวาสนา นวลนุกูล รองประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายกัมปนาท จักรวาล วิเวศ ศรีพุทธา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ข้าราชการ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประชาชน นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทย ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ทรงมีความรักความเมตตาและความห่วงใย ทรงได้ทุ่มเทพระสติปัญญาและพระวรกายเพื่อที่จะ “สืบสาน รักษาและต่อยอด” พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำให้ชีวิตของคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้สืบสานงานแบ่งเบาพระราชภาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงได้ชุบชีวิตผ้าไทยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ครั้งที่พระองค์ทรงลงพื้นที่ไปช่วยเหลือพสกนิกรที่ประสบอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม ได้มีโอกาสช่วยเหลือกลุ่มทอผ้า นับตั้งแต่นั้นมาผ้าไทยเราก็กลับมามีชีวิต เกิดเป็นที่มาของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ที่ต่อมาเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แสดงให้เห็นถึงวัฏจักรของผ้าไทยที่เคยเจริญรุ่งเรือง เห็นได้จากสมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีการสวมเสื้อคอลายพระราชทาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปแฟชั่นผ้าไทยก็เริ่มจางหายไป จนมาถึงเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” รื้อฟื้นอนุรักษ์ผ้าไทยให้กลับมาอีกครั้ง โดยการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้า ผู้ผลิตผ้า พัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการสวมใส่ในทุกวัยและทุกโอกาส แสดงให้เห็นการฟื้นคืนชีพของผ้าไทยไปสู่ความรุ่งเรืองจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยสำคัญแห่งการขับเคลื่อนผ้าไทยที่พระองค์ได้พระราชทาน คือ “คน” ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการ คณะทำงาน และพี่น้องประชาชน
“ข้าราชการ คือ กลไกที่สำคัญที่สุดที่ต้องเป็นสะพานถ่ายทอดน้ำพระราชหฤทัยไปสู่ประชาชน ต้องช่วยกันขับเคลื่อนและส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย โดยเริ่มตั้งแต่การศึกษาหาความรู้เรื่องผ้าไทยอย่างลึกซึ้งและเข้าใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้คือการสืบสานภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ผสมผสานกับการใช้องค์ความรู้เรื่องแฟชั่นสมัยใหม่ เพราะแฟชั่นคือความนิยมชมชอบของผู้คน เช่นเดียวกันกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ที่ได้ทำหน้าที่ในการ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของคนมหาดไทย นับตั้งแต่การก่อตั้งกระทรวงมหาดไทย นานกว่า 131 ปี และแม้ว่าเราจะทำได้ดีแต่ยังคงไม่ดีที่สุด จึงต้องยังทำหน้าที่ของข้าราชการ เป็นสะพานเชื่อม น้อมนำองค์ความรู้และความปรารถนาดีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ไปสู่พี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศ จึงเป็นความโชคดีว่า งานที่เรารักจากพระองค์หญิงท่าน จะส่งผลดีไปยังพี่น้องประชาชนอย่างยิ่ง เกิดเป็นมรรคผล โดยเฉพาะตัวอย่างที่หมู่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้หมู่บ้านเป็นต้นแบบของการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งความสำเร็จมีหัวใจสำคัญ คือ คน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชน OTOP ได้ใช้ทักษะความชำนาญที่มีติดตัว อันเกิดจากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษผสมผสานกับวิทยาการสมัยใหม่ โดยไม่ทิ้งรากเหง้าของความเป็นไทย และทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้ทันสมัย เหมาะสมถูกใจคนรุ่นใหม่และอนาคต บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการพึ่งพาตนเอง โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืน และเป็นความอยู่รอดของโลกอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงริเริ่มผลักดันผ้าไทยให้เกิดแฟชั่นใหม่ที่ยังคงภูมิปัญญาเดิมของคนไทย โดยการพระราชทานแบบลายผ้า “ลายขอสิริวัณณวรี” ให้ประชาชนคนไทยได้นำไปพัฒนาและออกแบบจนเกิดเป็นความนิยมเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในผ้า แต่ยังเกิดขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ จากนั้นต่อมาได้พระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” “ลายดอกรักราชกัญญา” และลายบาติกพระราชทานอื่น ๆ อีกมากมาย ทรงแสดงให้เห็นว่าแฟชั่นลายใหม่นั้นทำให้เกิดเป็นที่นิยม เป็นที่ต้องการ สามารถสร้างรายได้สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเริ่มจากให้ผู้ผลิตผ้า ผู้ประกอบการผ้า ออกแบบใส่จินตนาการเพื่อให้เกิดชิ้นงานใหม่ ดังคำว่า “ต่อยอด” ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ใช้สีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) รวมถึงการสร้าง Story telling และอีกเป้าหมายที่สำคัญอีกประการของพระองค์ท่าน คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อไปยังคนในชุมชนและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
“การจัดประกวดลายพระราชทาน มีจุดประสงค์หลัก คือ การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้าได้มีการฝึกฝนพัฒนาทักษะในการทอผ้าอีกทั้งเป็นเวทีให้แสดงความเป็นศิลปหัตถกรรม สร้างความใส่ใจในผลิตภัณฑ์ชุมชน ส่งเสริมการแข่งขันและความเป็นเลิศ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ดีขึ้นต่อไป ดังนั้นผู้ที่เป็นข้าราชการในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทำหน้าที่เป็นคนเชื่อมโยงนำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชน และช่วยผลักดันภารกิจหน้าที่ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เกิดความสำเร็จ ด้วยการช่วยกันทำสิ่งที่ดี ด้วยความแน่วแน่มุ่งมั่นตั้งใจ มีแรงปรารถนา (Passion) ช่วยกันและกันนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) พร้อมส่งเสริมผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการก้าวเดินร่วมกันต่อไปโดยเฉพาะงานหัตถศิลป์หัตถกรรม โครงการผ้าไทย เพราะเราอยากเห็นคนไทยทุกคนมีความสุข บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง พร้อมช่วยกันดูแลสังคมดูแลโลกใบนี้ ทำให้ประชาชนคนไทยได้อยู่ในชุมชนยั่งยืน เพื่อให้ 76 จังหวัด ในประเทศไทยทุกจังหวัดเป็นประเทศไทยที่ยั่งยืน”นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะสืบสานงานของสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ในวงการผ้าไทย เกิดมูลค่าหมุนเวียน กว่า 50,000 ล้านบาท ในเศรษฐกิจไทย ซึ่งมูลค่าเหล่านี้ได้หมุนกลับไปสู่ชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดอีกก็คือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรูปแบบ (Pattern) ทั้งลายผ้าต่าง ๆ ที่พัฒนามาอย่างมากมายจนเกิดเป็นความนิยม ทุกคนสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ซึ่งเป็นเป้าหมายของแนวพระดำริของพระองค์ท่าน ตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่มีการ Mix and Match ทำให้วงการผ้าไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างยิ่งใหญ่ อีกทั้งพระองค์ยังพระราชทานแนวทางการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เกิดเป็น Earth Tone และ Pan Tone ที่ผู้ประกอบการผ้าทุกคนต้องรู้จักในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นการย้อมครามหลายน้ำของผ้าดอนกอย ที่กล่าวมาคือการชุบชีวิตกี่ทอผ้าที่เงียบ เช่นเดียวกับวงการผ้าไทย ให้กลับมามีเสียงดังอีกครั้งหนึ่ง เกิดเป็นแนวโน้มความนิยม (Trend) การสวมใส่ผ้าไทยที่เข้ายุคเข้าสมัย จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนมาร่วมกันช่วยชาติบ้านเมือง สวมใส่ผ้าไทยแสดงความรักแผ่นดินสืบสานอนุรักษ์ประเพณีไทย “ผ้าไทย 1 ผืนบนร่างกายของเรา นอกจากจะช่วยเหลือครอบครัวและชุมชน ยังเป็นการสร้างความมั่นคงในเครื่องนุ่งห่มได้อีกด้วย”
นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” โดยมีเป้าหมายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ช่างทอผ้า และงานหัตถกรรม ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ร่วมโครงการฯ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน โดยดำเนินการพัฒนาผ่านการประกวด ผ้าลายพระราชทาน แบ่งเป็น 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” 2) กิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม 3) กิจกรรมบันทึกและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานผ้าและงานหัตถกรรมที่ได้รับการคัดเลือก และ 4) กิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผ้าและงานหัตถกรรม โดยจะดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” และงานหัตถกรรม ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ 1) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 2) ภาคกลาง จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรม ณ เวลา ตำบลดอนตะโก อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 3) ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 2 กันยายน 2566 ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา ตำบลพะวง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี ในวันที่ 10 – 11 กันยายน 2566 ณ มณฑาทิพย์ ฮอลล์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
นายธนันท์รัฐ กล่าวว่า กฎเกณฑ์การประกวดในปีนี้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และปรับให้เหมาะสมกับการแข่งขัน ซึ่งปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวดกว่า 7,086 ชิ้น/ผืน เกิดจากการ Coaching ที่มีคุณภาพ ประกอบกับหัวหน้าส่วนราชการ พัฒนาการจังหวัด ที่ให้ความสำคัญ ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการผ้าในชุมชนในพื้นที่ได้ส่งผ้าเข้าประกวด ซึ่งผู้เข้าประกวดทุกคนจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รับประกาศนียบัตรจากลายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา นอกจากนี้ทาง สมาคมแม่บ้านมหาดไทยยังสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่ Young OTOP ที่มีผลงานดีอีกด้วย