การ์กอยล์(Gargoyle) หรือ ปนาลี มาจากคำว่า “Gargouille”(กากุยล์) ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ แปลว่า “ปาก” การที่เสียงของคำว่า Gargoyle คล้ายเสียงกลั้วน้ำในปาก และคล้ายคำว่า “Gargle” (บ้วนปาก) ในภาษาอังกฤษ คือสิ่งบอกใบ้ถึงความเป็นมาแห่งนามของ การ์กอยล์ ได้เป็นอย่างดี
โดยทั่วไปเราจะเห็น การ์กอยล์ หรือ ปนาลี ประดับอยู่ตามมุมหลังคาหรือผนังด้านนอกอาคาร โดยเฉพาะโบสถ์คริสต์สไตล์โกธิค ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดการประดับรูปปั้นเหล่านี้ รูปร่างของการ์กอยล์นั้นมีทั้งมังกร อสุรกาย ปีศาจ อมนุษย์ ว่าง่าย ๆ คือ สัตว์ประหลาดหน้าตาดุร้ายทั้งหลาย แต่ที่โด่งดังอย่างมากคือการ์กอยล์แห่ง มหาวิหารนอเทรอดาม กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการประดับตกแต่งด้วยปีศาจเหล่านี้เต็มไปหมด และมีส่วนหนึ่งที่ดูคล้ายมนุษย์ค้างคาวด้วย
อสุรกายแห่งรูออง
ตำนานกำเนิด การ์กอยล์ ของชาวยุโรปเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 ณ หมู่บ้านรูออง (Rouen) ตอนเหนือของฝรั่งเศส มหันตภัยที่กำลังคุกคามหมู่บ้านแห่งนี้อยู่คือ “มังกร” นามว่า ลา กากุยล์(La Gargouille) เป็นมังกรไฟคอยาว มีปีก ตามแบบฉบับมังกรตะวันตก ลา กากุยล์ สามารถบินเหนือหมู่บ้านแล้วพ่นไฟแผดเผาเรือกสวนไร่นากับบ้านเรือน รวมทั้งอาละวาดทำร้ายหรือกินชาวบ้านกับฝูงปศุสัตว์ได้ด้วย มันยื่นคำขาดให้ชาวบ้านรูอองส่งหญิงสาวของหมู่บ้านเป็นเหยื่อให้มันประจำทุกปี ชาวบ้านก็ยอมทำตามอย่างจำใจ
ในที่สุด หมู่บ้านรูอองก็มี “ฮีโร่” มาช่วย เป็นนักบวชคริสต์ นาม เซนต์โรมานุส(St. Romanus) หรือนักบุญโรมานุส ผู้มีเพียงไม้กางเขนและน้ำมันศักดิ์สิทธิ์สำหรับปราบ ลา การ์กุยล์ ท้ายที่สุดมังกรร้ายก็สยบต่อนักบวชผู้นี้ ท่านส่งมันให้ชาวบ้านจัดการเอง ชาวรูอองผู้เคียดแค้นลงมือสังหารเจ้ามังกรก่อนนำไปเผาไฟ แต่เพลิงไม่อาจทำลายมังกรไฟให้สิ้นซากได้ เพราะส่วนหัวและคอของมังกรร้ายไม่ยอมไหม้ไฟ
เซนต์โรมานุสจึงให้ชาวบ้านนำหัวมังกรไปประดับกำแพงวิหาร ซึ่งเป็นโบสถ์ที่ชาวบ้านสร้างเพื่ออุทิศถวายแด่วีรกรรมของท่านเอง กลายเป็นธรรมเนียมการประดับรูปปั้นปีศาจ “การ์กอยล์” ตามอาคารโบสถ์หรือศาสนสถานในคริสต์ศาสนานับแต่นั้น ความเชื่อที่คู่มากับตำนานนี้คือ หัวมังกรมีอานุภาพขับไล่ความชั่วร้ายทั้งหลายได้ แต่บางตำนานเล่าว่า ปีศาจตัวดังกล่าวไม่ใช่มังกร แต่เป็นอมนุษย์รูปร่างคล้าย “ค้างคาว”
เมื่อค่านิยมการประดับหัวมังกรแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ความหลากหลายของไอเดียการสร้างรูปปั้นเริ่มกระจัดกระจายเป็นปีศาจนานาเผ่าพันธุ์ตามท้องถิ่น แต่ไม่ว่าการ์กอยล์จะถูกสร้างให้เป็นตัวอะไร หน้าตาของมันจะต้องดุร้ายและน่าเกลียดน่ากลัวไว้ก่อน เพื่อข่มขวัญสิ่งชั่วร้ายที่เข้าใกล้เขตอาคารให้มากที่สุด
ปีศาจผู้พิทักษ์
ด้านความเชื่อ การ์กอยล์ถือเป็น “ผู้พิทักษ์วิหาร” เพราะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายมาใกล้ตัวอาคารหรือศาสนสถาน และปกป้องผู้ศรัทธาจากการรังควาญของเหล่าปีศาจนอกศาสนิก ตำนานเล่าว่า แม้การ์กอยล์ในรูปลักษณ์สารพัดสัตว์ประหลาดจะเป็นหินหรือรูปปั้นแข็งทื่อในตอนกลางวัน แต่พวกมันจะมีชีวิตในตอนกลางคืน ยิ่งไปกว่านั้น การ์กอยล์สามารถเฝ้ามองผู้คนผ่านไปมาได้แม้อยู่ในสภาพที่ภายนอกเป็นหิน
อย่างไรก็ตาม ในด้านงานสถาปัตยกรรม หน้าที่ของการ์กอยล์ไม่ใช่เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายภายนอก แต่คือการปกป้องอาคารศาสนสถานจาก “น้ำฝน” ที่มาจากด้านบนหรือหลังคาอาคาร จะเห็นว่ารูปปั้นการ์กอยล์คือปลายทางของ “ท่อระบายน้ำ” ที่ลำเลียงน้ำจากทั่วตัวอาคารส่งออกไปข้างนอก ป้องกันไม่ให้น้ำฝนกัดเซาะสร้างความเสียหายแก่ตัวโบสถ์ นับเป็นการประดับตกแต่งอย่างชาญฉลาดที่ได้ทั้งความสวยงาม สื่อความหมายทางศรัทธา และปิดบังรางน้ำไม่ให้ยื่นออกมาลอย ๆ จนดูไม่เจริญตาสำหรับศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์
จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการ์กอยล์ต้องมี “คอ” หรือรูปร่างเหยียดยาวยื่นออกมา เพื่อส่งน้ำออกไปให้ไกล นี่ยังเป็นที่มาของชื่อ “กากุยล์” (ปาก) ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ดังกล่าว เพราะท่อน้ำมักสิ้นสุดบริเวณปากของรูปปั้นเสมอ
ด้านศิลปกรรม ศิลปะโกธิคของโบสถ์ที่ประดับตัวการ์กอยล์คือจุดสูงสุดของพัฒนาการศิลปกรรมแห่งยุคกลางของยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายยุคกลางต่อเนื่องยุคเรเนซองส์ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12-16 มีตัวการ์กอยล์เป็นตัวแทนงานศิลปกรรมจากความเชื่อเรื่องสัตว์ประหลาด และเป็นส่วนเติมเต็มให้งานสถาปัตยกรรมมีอายุยืนยาวขึ้น
แม้จะปรากฏในตำนานคริสต์ศาสนาของยุโรปยุคกลาง แต่นวัตกรรมหัวสัตว์ระบายน้ำมีอยู่ในอารยธรรมอื่น ๆ ทั่วโลกก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น ตุรกี อียิปต์ หรือกรีซ ยกตัวอย่าง วิหารเทพซุส ในประเทศกรีซ มีการพบร่องรอยรูปปั้นในลักษณะและตำแหน่งที่บ่งชี้วัตถุประสงค์เดียวกันกับการ์กอยล์จำนวนหลายสิบตัว และอาจมีถึงร้อยตัวสมัยที่วิหารนี้ยังสมบูรณ์ จึงไม่แน่ว่ายุโรปตะวันตกรับเอาค่านิยมการปั้นการ์กอยล์จากต่างแดน ก่อนทำการ “เลื่อนขั้น” ปีศาจในนิทานปรัมปราให้เป็น “ผู้พิทักษ์” หรือตัวแทนของคริสตจักร คอยปกป้องคริสตศาสนิกชนจากความชั่วร้าย
วิธีการดังกล่าวดูจะเข้าใจและจับต้องง่ายกว่าชาวบ้านทั่ว ๆ ไปในยุคกลาง เพราะพวกเขาไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ การรับรู้ว่าศรัทธาของตนมีผู้คุ้มกันย่อมอุ่นใจกว่าการเพ่งดูคำภาษาละตินในพระคัมภีร์ที่พวกเขาไม่เข้าใจความหมายด้วยซ้ำ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในความพิเศษของการ์กอยล์คือการเป็นตัวอย่างอันเด่นชัดของ 2 ตัวตนที่แตกต่างกันสุดขั้ว ด้วยรูปลักษณ์น่าสะพรึงกลัว เหมือนตัวแทนของความเลวทราม แต่มันกลับเป็นผู้พิทักษ์ศาสนสถาน ปกป้องผู้ศรัทธา ทำให้ภาพลักษณ์ของการ์กอยล์ดูเหมือนกระเด็นกระดอนไปมาระหว่าง “ความชั่ว” กับ “ความดี”
ในแง่หนึ่ง การ์กอยล์อาจมีส่วนช่วยเผยแผ่คริสต์ศาสนาในยุโรปสมัยกลางด้วย เพราะมีการพบว่า การ์กอยล์ส่วนหนึ่งถูกสร้าง “อย่างจงใจ” ให้เหมือนเทพหรือสัตว์ประหลาดในตำนานท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อจูงใจ “คนนอกรีต” ให้รับคริสต์ศาสนาได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความนิยมในการสร้างรูปปั้นการ์กอยล์ก็เปลี่ยนไปด้วย นอกจาก “ปีศาจ” เหล่านี้จะถูกนำไปประดับตกแต่งอาคารอื่น ๆ นอกเหนือจากวิหารแล้ว การ์กอยล์สมัยใหม่ยังถูกแต่งเติมไอเดียให้แหวกไปจากสัตว์ประหลาดในปกรนัมหรือตำนานทางศาสนา กลายเป็นสิ่งสะท้อนความร่วมสมัย ตั้งแต่การทำเป็นมนุษย์หน้าตาประหลาด ไปถึง “เอเลี่ยน” ก็มี…
สำหรับการ์กอยล์แห่งมหาวิหารนอเทรอดามนั้น แม้ตัววิหารจะสร้างตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่แพลนเดิมไม่ได้วางให้มีรูปปั้นการ์กอยล์ประดับแต่อย่างใด พวกมันเพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 นี่เอง อย่างไรก็ตาม การ์กอยล์พวกนี้ทำให้ตัวมหาวิหารดูเป็นโบสถ์ที่เหมือนหลุดออกมาจากยุคกลางจริง ๆ อย่างไรอย่างนั้น
อ่านเพิ่มเติม :
- แดง-เขียว สีแห่งปีศาจและความชั่วร้าย ในสายตาของชาวคริสต์
- ต้นตอ “นิทานเวตาล” กับลักษณะของ “เวตาล” ปีศาจช่างพูด-นักเล่าเรื่อง
- “Demon Cat” แมวปีศาจรัฐสภาสหรัฐ เฮี้ยนเป็นลางก่อนเหตุลอบสังหาร “จอห์น เอฟ. เคนเนดี”
อ้างอิง :
Designing Buildings Wiki. Gargoyle. Sep 06, 2021. From https://www.designingbuildings.co.uk/wiki/Gargoyle
Friends of Notre-Dame de Paris.Notre-Dame Cathedral’s Gargoyles: Guardians Of A Gothic Masterpiece. Retrieved August 15, 2023. From https://www.friendsofnotredamedeparis.org/cathedral/artifacts/gargoyles/#:~:text=Gargoyles%20originated%20in%20medieval%20Europe,by%20erosion%20and%20water%20infiltration.
Jim Reed, Ravenwood Castle. Legends and Lore – The Gargoyle. (April 21, 2015). From https://www.ravenwoodcastle.com/2015/04/21/legends-and-lore-the-gargoyle/
Panon Sooksompong, Design Something. ตัวอะไรอยู่บนนั้น? รูปปั้นสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่(บนหลังคา). สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2566. จาก https://dsignsomething.com/2023/05/16/gargoyles/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2566