ไอที ธุรกิจ

รฟม. ทุ่มงบ 63 ล้าน สร้างลานจอดรถอัจฉริยะ พร้อมให้บริการตุลาคมนี้

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 15 ก.ย 2566 เวลา 11.25 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2566 เวลา 07.42 น.

“รฟม.” เตรียมให้บริการลานจอดรถอัจฉริยะ 10 แห่ง ในพื้นที่การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กลาง ต.ค.นี้ คาดปีหน้าพร้อมใช้ระบบอัจฉริยะทุกแห่ง

วันที่ 15 กันยายน 2566 นายยุทธศักดิ์ ชื่นใจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวว่า รฟม.ให้บริการพื้นที่จอดรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากว่า 18 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และควรค่าแก่การพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานในยุคนี้ ที่ต้องการความสะดวกสบายและความรวดเร็วมากขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ด้วยความที่เราเป็นรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถครั้งนี้จึงเริ่มต้นจากการจัดซื้อจัดจ้างและประมูลแบบ e-Bidding ซึ่งบริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลและรับผิดชอบการดำเนินงานในโครงการทั้งหมด”

ด้านนายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการนี้คือ การพัฒนาลานจอดรถรูปแบบใหม่ ที่ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ โดยโจทย์ในการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจาก รฟม.แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาทางกายภาพ หรือการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ และการพัฒนาระบบอัจฉริยะในพื้นที่ลานจอดรถ (Smart Parking)

“สำหรับการพัฒนาทางกายภาพมีเป้าหมาย 3 ส่วนคือ 1.สวยและเหมาะกับการให้บริการ 2.เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3.สามารถสร้างรายได้และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีร้านค้าต่าง ๆ เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ ส่วนการพัฒนาระบบอัจฉริยะ เราได้โจทย์มาเยอะมาก แต่หลัก ๆ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1.ต้องเป็นผู้นำตลาด แตกต่างไม่เหมือนใคร 2.สะดวกและทันสมัย 3.ลดต้นทุนการดำเนินงาน”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถอัจฉริยะในโครงการนี้สำเร็จไปแล้ว 10 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ตั้งแต่สถานีรัชดาภิเษก-สามย่าน คาดว่าจะเริ่มให้บริการช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566 และในส่วนของระบบอัจฉริยะที่พัฒนาขึ้นจะถูกใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น “MRTA Parking” ที่ รฟม.เปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2565 เป็นหลัก

“หลัก ๆ ระบบที่เราพัฒนาให้ รฟม.จะเป็นการสแกน QR Code บนแอปเพื่อเข้า-ออกในพื้นที่แล้วเลือกจ่ายเงินตามวิธีที่สะดวก หรือใครที่ไม่มีแอปก็สามารถใช้บัตร QR Code แทนได้ ส่วนผู้ใช้งานที่สมัครสมาชิกประจำไม่ต้องสแกน QR Code เข้า-ออก เพราะระบบกล้องจะอ่านข้อมูลจากป้ายทะเบียนรถและเปิด-ปิดไม้กั้นอัตโนมัติ เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้น คาดว่าการพัฒนาพื้นที่ลานจอดรถทั้ง 10 แห่ง อาจช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ รฟม.ราว 10%” นายสันติพลกล่าว

ทั้งนี้ นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า แต่เดิมแอป MRTA Parking เปิดให้ใช้งานสำหรับสมาชิกรายเดือนที่ใช้ช่องจอดในพื้นที่เป็นประจำเท่านั้น ก่อนจะขยายผลมาสู่การใช้งานแบบเที่ยวเดียว ในโครงการปรับปรุงพื้นที่ครั้งนี้ที่มีงบประมาณจากการจัดซื้อ จัดจ้าง และการประมูลราว 63 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เราเชื่อว่าแอปที่ใช้อยู่สามารถเพิ่มฟีเจอร์ใหม่เข้าไปได้เรื่อย ๆ เช่น ระบบการจองที่จอดรถ และการผูกระบบกับสถานีชาร์จ EV ซึ่งการดึงดูดใจให้คนเข้ามาใช้งานแอปเราคงมาจากความสะดวกสบายเป็นหลัก ซึ่งการสร้าง incentive กับพันธมิตรเป็นแผนการที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคาดว่าพื้นที่ลานจอดรถทุกแห่งที่ปัจจุบันให้บริการประมาณ 11,000 ช่องจอดจะสามารถเปลี่ยนเป็นระบบอัจฉริยะได้ภายในปีหน้า”

ดูข่าวต้นฉบับ