ในพระราชสำนัก

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ ‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’

The Bangkok Insight
อัพเดต 01 เม.ย. 2567 เวลา 17.03 น. • เผยแพร่ 01 เม.ย. 2567 เวลา 23.00 น. • The Bangkok Insight

"กรมสมเด็จพระเทพฯ" สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

พระองค์ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพารเรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
กรมสมเด็จพระเทพฯ

พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อปี 2501 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน พ.ศ. 2515 ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะ ด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ

จากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่งปี 2520 ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กรมสมเด็จพระเทพฯ เจ้าฟ้าผู้มากความสามารถ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ อยู่เสมอ และทรงช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านต่าง ๆ

นอกจากพระราชกรณียกิจหลากสาขา กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ ทรงประพันธ์และแปลหนังสือมากมาย รวมทั้งหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยทรงใช้พระนามแฝงหลายชื่อ อาทิ แว่นแก้ว ที่ทรงใช้เมื่อปี 2521 ในหนังสือพระราชนิพนธ์สำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

กรมสมเด็จพระเทพฯ

ในปี 2548 นับเป็นปีมหามงคลที่ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรน้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการอ่าน และทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์สำหรับเด็กและเยาวชนมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์

พระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถอย่างมากในด้านดนตรีไทย และทรงนำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ

จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”

พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการศึกษา และการพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่ การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

กรมสมเด็จพระเทพฯ

น้ำพระราชหฤทัยเผื่อแผ่ถึงเพื่อนบ้าน

นปี 2533 เมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนลาว เป็นครั้งแรก ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลเป็นเงิน 12 ล้านกีบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินไปก่อสร้างเรือนนอน ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า ซึ่งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปทางทิศเหนือประมาณ 67 กิโลเมตร พระราชทานชื่อว่า “อาคารสิรินธร”

โดยมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในรูปแบบของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยนำแนวทางที่ดำเนินการในประเทศไทยมาประยุกต์ใช้ และสนับสนุนการประกอบอาชีพเสริม

ปี 2535 ทรงพระราชดำริพระราชทานความช่วยเหลือกัมพูชา ในการก่อตั้งวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ที่จังหวัดกำปงธม กัมพูชา โดยพระราชทานเงินค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ เสด็จฯ ไปทรงเปิดวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุน แก่นักเรียน เพื่อให้มาศึกษาต่อในประเทศไทย ในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรอาชีวศึกษา เพื่อนำความรู้กลับไปสอน และพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัย รวมทั้งทรงสนับสนุนการศึกษาด้านนาฏศิลป์ และดนตรี

กรมสมเด็จพระเทพฯ

พระองค์ยังทรงร่วมมือกับนานาประเทศ เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาสังคม อาทิ ความร่วมมือระหว่างไทย กับลาว ซึ่งพระองค์ทรงมีโครงการตามพระราชดำริ ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และการสาธารณสุข และการพัฒนาทางด้านการศึกษา

โครงการเพื่อการพัฒนาของพระองค์ยังได้ขยายออกไปยังประเทศกัมพูชา เมียนมา และเวียดนามด้วย ทั้งยังทรงร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ที่ทรงให้ความร่วมมือในโครงการอาหารในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการของโครงการอาหารโลก แห่งสหประชาชาติ โดยได้แต่งตั้งให้พระองค์เป็นทูตพิเศษของโครงการ

การสถาปนาพระอิสริยยศ

กรมสมเด็จพระเทพฯ

สยามบรมราชกุมารี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ และพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520

กรมสมเด็จพระเทพฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปี 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี

ที่มา: วิกิพีเดีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ดูข่าวต้นฉบับ