ทั่วไป

พ.ท.บรรจบ โตนวล นักรบ 3 สมรภูมิ จากเกาหลี สู่ทุ่งช้าง และเวียดนาม (จบ) สงครามทุ่งช้าง

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 15 พ.ค. 2566 เวลา 02.42 น. • เผยแพร่ 15 พ.ค. 2566 เวลา 02.42 น.

รายงานพิเศษ | มงคล วัชรางค์กุล

พ.ท.บรรจบ โตนวล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นักรบ 3 สมรภูมิ

จากเกาหลี สู่ทุ่งช้าง และเวียดนาม (จบ)

สงครามทุ่งช้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พ.ท.บรรจบ โตนวล เล่าว่า ในบรรดาสมรภูมิ 3 สมรภูมิที่ผ่านมา – สงครามเกาหลี, สงครามทุ่งช้าง จนถึงสงครามเวียดนามนั้น สมรภูมิที่อยู่ในความทรงจำของคุณพ่อตลอดมา คือ

สงครามทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

เพราะรบกันดุเดือดมาก กว่าจะตีอำเภอทุ่งช้างกลับคืนได้ ฝ่ายเราสูญเสียพอสมควร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาพการรบยังติดตาอยู่จนทุกวันนี้

คุณพ่อบรรจบ โตนวล กลับจากเกาหลี ปี 2494 ได้รับการเลื่อนยศจากสิบโทขึ้นเป็นจ่าตรี ไม่ต้องติดยศสิบเอก ข้ามขึ้นไปเลย

ติดยศจ่าตรี 3 เดือน แล้วขึ้นยศจ่าโท

ช่วงนี้ กองพันย้ายจากอยุธยาไปค่ายจิรประวัติ นครสวรรค์

จ่าโทบรรจบ โตนวล เติบโตในชีวิตราชการเลื่อนขึ้นชั้นสัญญาบัตรด้วยการไปเรียนหลักสูตรผู้บังคับหมวดที่จังหวัดสระบุรี 1 ปี ครั้งนี้คุณพ่อเก่งมากสอบได้ที่ 1 ของรุ่น หลักสูตรนี้ทหารราบจากทั่วประเทศไปเรียน มีจ่าสิบเอกทหารราบหนึ่งร้อยกว่าคนเข้าเรียน สอบแข่งขันกัน

คุณพ่อบรรจบ โตนวล เติบโตในชีวิตราชการจนครองยศร้อยเอกในปี พ.ศ.2510

ปี 2510 เกิดเหตุการณ์ยุทธการทุ่งช้าง

ทหารลาวร่วมกับทหารเวียดนามและกองกำลังกะเหรี่ยงเข้าล้อมแล้วยึดอำเภอทุ่งช้าง ทหารม้า ม.พัน 7 อุตรดิตถ์ถูกโจมตีวันเดียวตาย 15 ราย

ผู้ว่าฯ, นายอำเภอ, พันตำรวจเอก, เสนาธิการกองพลที่ 4 เสียชีวิตพร้อมกัน เพราะถูกหลอกเอาไปยิงทิ้ง

กองทัพภาคที่ 3 พิษณุโลก จึงสั่งทหารจากค่ายจิรประวัติไปช่วยรบ

ทหารจากค่ายจิรประวัติ กรมทหารราบที่ 4 เข้าสู่สมรภูมิทุ่งช้าง

ขณะนั้น ร.อ.บรรจบ โตนวล สังกัดกองพันที่ 2 ค่ายจิรประวัติ เป็นผู้นำกองกำลังส่วนหน้า นอกนั้นส่วนหน้าเป็นฝ่ายพลเรือนพวกปลัดอำเภอ มีเพื่อนทหารจากค่ายจิรประวัติเข้าร่วยรบอีกคนคือ ร.อ.แสวง แม้นเหมือน

คุณพ่อบรรจบเล่าว่า หนึ่งกองพันที่ไปจากค่ายจิรประวัตินั้น แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าส่วนที่ 1 คุณพ่อบรรจบเป็นผู้คุมกำลังส่วนหน้า ออกเดินทางจากนครสวรรค์ไปก่อน ถึง อ.เด่นชัย เข้า จ.แพร่ ออกจากแพร่เข้า จ.น่าน

ส่วนที่ 2 ตามมาถึง อ.เด่นชัย นำโดย พ.ท.ทิพย์ อัมพะเศวต

กองกำลังคุณพ่อบรรจบมีทหารประมาณ 200 นาย ทั้งหมดมาจากค่ายจิรประวัติ ร.อ.บรรจบนำ 3 กองร้อย คือ กองร้อยอาวุธเบา 2 กองร้อย กองร้อยอาวุธหนัก 1 กองร้อย

ทีมคุณพ่อบรรจบมีร้อยเอกอีกนายร่วมด้วย แต่ไปลาออกที่จังหวัดน่าน เพราะกลัว

นอกจากนั้น มี ร.ท.ชาญ กำหนดแน่ (กองร้อยที่ 1) ร.ท.วงกต (กองร้อยที่ 2) กองร้อยอาวุธหนักคุณพ่อควบคุมด้วยตัวเอง

กองกำลังส่วนที่ 2 ตั้งกำลังอยู่ที่ อ.เด่นชัย

ทีมคุณพ่อบรรจบเข้ารบที่น่านก่อน ข้ามแม่น้ำน่าน ไป อ.สา อ.ปัว แล้วถึง อ.ทุ่งช้าง รบกับ ผกค.เป็นชนเผ่าจากเวียดนาม รบกันแบบไม่เห็นตัว ออกรบวันแรกทหารตาย 3 นาย วันที่สอง ตาย 4 นาย มีนายหทารหนุ่มเพิ่งจบจาก จปร.ตายด้วย

ใช้เวลา 3 วัน จึงยึด อ.ทุ่งช้างคืนจาก ผกค.ได้

ส่วนที่ 2 ตามไปจัดตั้งกองพันที่ทุ่งช้าง

สมรภูมิน่านเป็นการรบที่ดุเดือดมาก ไม่มีการ “จับเป็น” เชลยศึก

สงครามเวียดนาม

ปี พ.ศ.2511 ร.อ.บรรจบ โตนวล เงินเดือนทะลุขั้นพันตรี แต่ไม่เอาตำแหน่ง เพราะต้องการไปเวียดนาม ถ้าขึ้นยศพันตรีแล้วหาตำแหน่งไปยาก

ร.อ.บรรจบไปเวียดนามรุ่นที่ 2 ส่วนที่ 1 ชื่อ กองกำลังเสือดำ

พ.อ.สุปรีย์ กัลยาณมิตร ให้คุณพ่อไปเวียดนามในตำแหน่ง ฝอ.1 (ฝ่ายอำนวยการ)

คุณพ่อบรรจบนั่งเครื่องบิน C 130 จากสนามบิน บน.6 ไปลงที่สนามบินลองถั่น จ.เบียนหว่า (Bien Hao) ใกล้ไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในขณะนั้น

นั่งรถจากสนามบินลองถั่นเข้าไปที่ค่ายแบร์เคตที่อยู่ไม่ไกล

ร.อ.บรรจบ โตนวล ออกสนามรบที่เวียดนามแทนเพื่อน (ร.อ.ชาญ กำหนดแน่) ที่ป่วยอยู่หนึ่งเดือนที่ในป่า ตั้งกองกำลังห่างจากค่าย 3 ก.ม.แล้วไม่ได้ออกรบอีกเลย เพราะอยู่ประจำในค่ายแบร์เคต ตำแหน่งฝ่ายอำนวยการ 1

ค่ายทหารหลายค่ายตั้งอยู่ที่ไซ่ง่อน มีอังกฤษ อเมริกา ฟิลิปปินส์ ไทย ตุรกี

คุณพ่อบรรจบอยู่เวียดนาม 1 ปี ตอนกลับนั่งเครื่อง C 130 มาลงที่ บน.6 เข้ารับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลหญิง

กลับมาได้รับเงินเดือนขึ้น 5 ขั้น เลื่อนชั้นยศเป็นพันตรี พร้อมเหรียญชัยสมรภูมิเหรียญที่สอง

พ.ท.บรรจบ โตนวล ลาออกจากราชการก่อนเกษียณ 2 ปี เพื่อมาเลี้ยงหลาน-ลูกของคุณต้อย

เรียนถามคุณพ่อบรรจบ โตนวล ที่รอดปลอดภัยจาก 3 สมรภูมิว่า ห้อยพระอะไรบ้าง

คุณพ่อตอบว่า ห้อยพระกริ่งคลองตะเคียน, สมเด็จวัดหน้าต่างนอก, สมเด็จวัดกษัตราธิราช, เหรียญหลวงพ่อถนอม วัดตูม

ทั้งหมดคือพระอยุธยาล้วนๆ

หมายเหตุ : ในการเขียนบทความเกี่ยวกับทหารผ่านศึกไทยครั้งนี้ ผมได้ไปค้นคว้าหาข้อมูลที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) และมีความเห็นว่า อผศ.ควรจะเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจการมขององค์การให้กว้างขวาง เข้มแข็งมากกว่านี้

ตัวอย่างเช่น “ห้องเกียรติศักดิ์” ที่มีภาพถ่ายและคำบรรยายถึงสงครามต่างๆ (ถึงแม้จะยังไม่ครบถ้วน) นั้น ล็อกประตูไว้ตลอดเวลา ผมต้องไปขออนุญาตจึงมีเจ้าหน้าที่มาเปิดให้เข้าชม แต่คนที่พาเข้าชมก็ไม่มีความรู้ที่จะบรรยายอะไรได้

ที่จริง ห้องนี้จัดทำไว้ดีมาก ควรจะมีวิทยากรประจำ จัดประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาชม ส่งข่าวถึงโรงเรียนต่างๆ ให้ครูพาเด็กนักเรียมาชม จะได้ชื่นชมวีรบุรุษของชาติ

ในอเมริกา การเชิดชูทหารผ่านศึกเป็นเรื่องใหญ่มาก บางเมืองมีอนุสาวรีย์ มีพิพิธภัณฑ์ พอถึงช่วงวันทหารผ่านศึก จะนำรูปทหารผ่านศึกที่เสียชีวิตในสงครามมาติดเชิดชูเกียรติไว้ที่เสาไฟฟ้าในถนนหลักของเมือง

บอกยศ ชื่อ ชื่อสงคราม และปีที่เสียชีวิต

ทำไมแต่ละอำเภอในเมืองไทยจะติดรูปทหารผ่านศึกของอำเภอที่เสียชีวิตเป็นการเชิดชูเกียรติในวันทหารผ่านศึกบ้างไม่ได้หรือ?

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 9
  • บ่าวฉุย
    คุณงามความดี​ของ​ช้าง​ป่วย​ ข​อบคุณ​ที่นำเสนอ ผมได้แค่​ เหรียญ​ทหาร​ผ่านศึก​ ชั้น​4​ ครับ​ลุง ผ่านสมรภูมิ​เขากรุงชิง​ รอดมาได้​ถึง​วันนี้​
    15 พ.ค. 2566 เวลา 06.51 น.
  • 🌸🍀NNh🐼ng🍀🌸
    ถ้าให้ทำแบบต่างประเทศ พวกนายพลฯที่อ้าปากว่า รักชาติ มันจะพูดว่าเหรียญที่ติดหน้าอกได้จากสมรภูมิไหน ได้อย่างไร.?
    15 พ.ค. 2566 เวลา 05.14 น.
  • ยุทธการ โกษากุล 966
    วีรบุรุษสงคราม ไม่ครั่นคร้ามศัตรู
    15 พ.ค. 2566 เวลา 05.11 น.
  • HuaNa Kamsamida
    แล้วไง?
    15 พ.ค. 2566 เวลา 07.42 น.
  • Rong
    โธ่ ขนาดในองค์การทหารผ่านศึกเองแท้ๆยังติดแต่รูปผู้บังคับบัญชา ที่เป็นนายพลเท่านั้น
    15 พ.ค. 2566 เวลา 06.48 น.
ดูทั้งหมด