แห่อาลัย ‘น้องเบนซ์’ ราชวินิต เหยื่อถังดับเพลิงระเบิด เจ้าของเพจ ‘วางแผนเรื่องเงินๆ’
จากกรณีเกิดเหตุแก๊สระเบิดในโรงเรียนราชวินิตมัธยมระหว่างซ้อมแผนอพยพหนีไฟ ถังดับเพลิง CO2 ได้ระเบิดขึ้น ทำให้มีนักเรียนเสียชีวิต 1 ราย เป็นนักเรียนชั้น ม.6 ทราบชื่อว่า“น้องเบนซ์” และบาดเจ็บอีกรวม 30 ราย โดยเจ้าหน้าที่ได้งดผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่ และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจสอบแล้ว
โดยมีรายงานว่า “น้องเบนซ์” ผู้เสียชีวิต เป็นนักเรียนชั้น ม.6 ได้ทำเพจส่วนตัว ชื่อ “วางแผนเรื่องเงินๆ” ที่ให้คำนิยามเพจตัวเองไว้ว่า “ใครที่ยังจัดการเงินในชีวิตประจำวันไม่ได้หรือใช้เท่าไหร่ก็ไม่เหลือเก็บให้วางแผนเรื่องเงินๆ ช่วยคุณ” ซึ่งเพิ่งจะเปิดเพจดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ เริ่มโพสต์แรกเมื่อ 2 มิถุนายนกับสเตตัสว่า “ให้เราเป็นเพื่อนคุณในการจัดการเงิน”
เบนซ์ ได้เรียบเรียงเนื้อหาให้รู้จักการจัดสรรเงิน และการเงินเบื้องต้น ที่ใช้ได้ตลอดชีวิต และเทคนิคในการเริ่มออมเงิน เพื่อให้มีเงินสำรองใช้ในอนาคต โดยเมื่อ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เล่าเรื่องการบริหารจัดการเงินส่วนตัว ที่ว่า “รายได้ – รายจ่าย = เงินออม”
โดยว่า “ซึ่งประสบการณ์ของผมนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจวบจนปัจจุบันครับ ผมจะขอเล่าย้อนไปในช่วงวัยเด็ก สมัยนั้นเด็กๆ ทุกคนถูกพร่ำสอนการจัดการเงินด้วยวิธีง่ายๆ นั่นคือรายได้ – รายจ่าย = เงินออม ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้ครับแต่ หากเราใช้เงินที่ได้มานั้นหมดล่ะ แล้วเงินออมของเราจะเพิ่มพูนขึ้นจากเดิมได้อย่างไรและหากเด็กๆ เหล่านั้นมีของที่อยากได้ล่ะ ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น ขนมหลายห่อ หรือแม้กระทั่งการใช้เงินไปกับความพอใจต่างๆ และวัยเด็กของผมนั้นก็ใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับสิ่งที่กล่าวมา ซึ่งทำให้ผมในบางวันในแต่ละเดือนไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ซื้ออาหาร
ตรงจุดนี้แหละครับทำให้ผมตระหนักเรื่องเงินออมหรือโดยส่วนตัวผมเรียกมันว่า ‘เงินกันตาย’ เงินที่ผมจะเก็บออมนั้นจะเป็นเงินที่ใช้ยามฉุกเฉินซะส่วนใหญ่ในช่วงนั้นแต่ผมก็มีเก็บเพื่อที่อยากจะเห็นตัวเงินมีเยอะขึ้นจนพอใจ ในวัยเด็กผมบริหารเงินโดยถือคติว่า ‘เงินที่เสียไปจะไม่เป็นไรหากเราได้เงินมามากกว่า’ หมายความว่า หากผมใช้เงินไป 50 บาท และผมได้เงินเพิ่ม 100 บาท = ผมไม่เสียเงิน ใช่ครับมันเป็นวิธีคิดที่ไม่น่าดูชมเลยล่ะครับและจุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อผมอายุ 11-13 ปี ผมตระหนักได้มากขึ้นและผมมีความตั้งใจที่จะออมเงินให้ได้ 10,000 บ. ในตอนที่จบ ป.6 …. ใช่ครับ ผมสำเร็จในการเก็บเงินตามเป้าจากความตั้งใจและมุ่งมุ่นมากพอ และหลังจากนั้นผมก็ได้เข้าสู่โลก งการเงินและการลงทุนง
ในช่วงแรกเมื่อผมได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินในแบบต่างๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจหลักพื้นฐานทำให้ผมได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวผมในวัยเด็กเคยคิดเรื่องการจัดการเงินนั้นมีทั้ง ถูกและควรปรับปรุง หลังจากที่ผมมีความรู้ในเรื่องการจัดการเงิน บริหารเงิน ผมไม่รอช้าได้นำวิธีต่างๆ มาปรับใช้เรื่อยมา ลองวิธีการต่างๆ ที่คิดว่าดี
จนกระทั่งผมค้นพบวิธีที่เรียกว่า ‘ไห 6 ใบ’ ซึ่งวิธีเหล่านี้แบ่งได้หลายแบบใครต้องการไหกี่ใบในการจัดการเงินโดยขั้นต่ำแล้วจะมีไห 4 ใบ ‘ไห 6 ใบ’ หมายถึง การแบ่งเงินก้อนหรือรายได้ของเราออกเป็น 6 ส่วนดังนี้ 1.ใช้ประจำวัน 2.ออมเงิน 3.ลงทุน 4.การศึกษา 5.บริจาค และสุดท้าย 6.ใช้ตามใจ โดยแบ่งออกเป็นสัดส่วนตามนี้ครับ
– 55%, 10%, 10%, 10%, 5%, 10% ตามลำดับ ซึ่งผมได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวผมดังนี้ครับ
– 55%, 15%, 5%, 5%, 5%, 15% = 100% แต่ผมนั้นเปลี่ยนจากการบริจาคเป็นสุขภาพ โดยการจัดเงินแบบนี้ทำให้ผมนั้นเห็นตัวเงินได้ละเอียดยิ่งขึ้นว่าเรามีเงินแต่ละส่วนอยู่เท่าไหร่ ซึ่งจะต่างจากการใช้เงินเป็นก้อนเดียวกันเลยซึ่งจะทำให้เราไม่รู้ว่ามีเงินในส่วนต่างๆ ที่สามารถใช้ได้อยู่เท่าไหร่ หลักการ ‘ไห 6 ใบ’ ได้ทำให้ผมจัดการและบริหารเงินที่ได้ต่อเดือนได้เป็นอย่างดี ผมได้เงินต่อเดือน 6,000 ซึ่งเงินในส่วนนี้ผมต้องใช้จ่ายดูแลตัวเองในทุกวัน
บางท่านที่อ่านมาอาจสงสัยว่าเงินที่ผมได้ต่อเดือนรวมค่าอาหารในแต่ละมื้อไหม คำตอบคือผมต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ อาหารการกินทุกมื้อ สิ่งของต่างๆ รวมทุกค่าอินเทอร์เน็ตต่างๆ ด้วยตัวผมเองทั้งหมดในแต่ละเดือน หลักการ ‘ไห 6 ใบ’ จึงเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับผมในตอนนี้ที่ดีที่สุด ผมมีเงินออมประจำต่อเดือนที่ต้องแยกทันทีหลังได้เงินเดือน
จากนั้นผมจะนำไปจัดสรรไว้ในส่วนต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการนี้เหมาะกับผู้คนที่ได้รับเป็นเงินก้อนไม่จะเป็น ต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ผมอาจลืมบอกไปว่าตัวผมในตอนนี้เป็นนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีความสนใจด้าน การเงินและการลงทุนรวมถึงความรู้ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง”
ทิ้งท้ายไว้ว่า “ในบทความถัดไปจะเกี่ยวกับเรื่องใดขอให้ทุกท่านโปรดตั้งตารอคอยได้เลยครับ”
อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าว ได้มีคนจำนวนมากที่เข้าไปแสดงความเสียใจต่อการจากไปครั้งนี้ และชื่นชมที่มีทัศนคติที่ดี อาทิ
“น้องเบนซ์เขียนบทความได้ดีมีประโยชน์มากๆ ค่ะ ขอให้น้องไปสู่สุคตินะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวค่ะ”
“น้องเก่งมากเลยนะคะ วางแผนชีวิตแต่เด็กเลย ขอให้ไปสู่สุคตินะคนเก่ง”
“ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ พี่ไม่เคยรู้จักน้องมาก่อน ไม่เคยรู้จักเพจของน้อง แต่เมื่อทราบข่าวการจากไปก่อนวัยอันควรของน้องในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้…รู้สึกสะเทือนใจมาก เสียใจกับครอบครัวด้วยจริงๆ ขอให้น้องไปสู่สุขตินะคะ หลับให้สบายคับคนเก่ง”
“เสียใจ กับครอบครัวน้องด้วยครับ บทความมีประโยชน์ พี่จะนำไปปรับใช้ ขอบคุณน้องเบนซ์มากครับ”
“เสียใจกับครอบครัวของน้องด้วยนะครับ น้องเป็นเด็กที่มีความคิดที่ดีน่าชื่นชมนะครับ”
“น้องตั้งใจเขียน และเขียนดีมากเลยครับ ขอให้น้องไปเป็นเทวดาบนสรวงสรรค์ชั้นฟ้าครับ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวน้องด้วยครับ”