ไอที ธุรกิจ

เศรษฐกิจไทย ไร้ปาฏิหาริย์ สลบยาว U-Shape

ฐานเศรษฐกิจ
เผยแพร่ 22 ก.พ. 2563 เวลา 02.50 น. • Thansettakij

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ปกติจะมองภาพเศรษฐกิจเป็นบวกมากกว่าเอกชน อย่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ก็ประกาศปรับลดจีดีพีปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.7-3.7% ปรับลงเหลือ 1.5-2.5% หลังตัวเลขจีดีพีปี 2562 โตแค่ 2.4% ตํ่าสุดในรอบ 5 ปี

เมื่อดูในรายละเอียดของประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้ของสภาพัฒน์ถือว่ามองในเชิงบวกอย่างมาก เพราะตัวเลขการเติบโตที่ 1.5-2.5% เป็นการเติบโตที่อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.2% การส่งออกของไทยยังโต 2% ภัยแล้งไม่ลุกลามมากเกินไป กระทบภาคการผลิตไม่เกิน 5%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่ปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณล่าช้าคลี่คลายเบิกจ่ายได้ 91.2% ในภาพรวม งบลงทุนเบิกจ่ายได้ไม่ตํ่ากว่า 65% และการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาได้ โดยสถานการณ์ไวรัสโคโรนาจบได้ใน 3 เดือน หรือราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม มีนักท่องเที่ยว 37 ล้านคน รายได้ไม่ตํ่ากว่า 1.73 ล้านล้านบาท

 

แต่สัญญาณสำคัญที่สภาพัฒน์ส่งออกมาดังๆ ระหว่างการแถลงข่าวจีดีพี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาคือ “เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี หรือช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีความเสี่ยงที่จะติดลบ สอดคล้องกับ TMB Analytics ของธนาคารทหารไทยที่ออกมาฟันธงว่า เศรษฐกิจไตรมาสมีแนวโน้มติดลบ 2% แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นภาวะถดถอย เพราะถ้าปัจจัยลบต่างๆ คลี่คลาย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 และภัยแล้งจบได้ภายใน 3 เดือน จีดีพีจะกลับเป็นบวกได้ในไตรมาส 2

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

*ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ นับว่าอาการสาหัสกว่าที่หลายคนคิด *

ยิ่งถ้าถอดรหัสจากรายงานผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็จะพบว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวตํ่ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 จะกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างแน่นอน

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

มีคำถามตามมาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไหร่ คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาฟันธงว่า หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลายเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกิน 3% ได้อีกในปี 2564

 

สอดคล้องกับข้อในจดหมายเปิดผนึกที่ผู้ว่าการธปท.ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ระบุถึงระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งเป็นดัชนีวัดกำลังซื้อ จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในอาการซึมๆ แบบนี้ไปจนถึงกลางปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

แต่การฟื้นตัวครั้งนี้เราอย่าหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ หรือสิ่งอัศจรรย์มาดลบันดาลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรุนแรง หรือในภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า โตแบบ V-Shape ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่ายๆ คือเมื่อเศรษฐกิจถึงจุดตํ่าสุดแล้วจะพุ่งขึ้นเหมือนตัว V แบบนี้คงเป็นไปได้ยาก

เท่าที่ผมได้พูดคุยกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนฟันธงตรงกันว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในลักษณะตัว U หรือ U-Shape โดยที่ฐานของตัว U จะยาวกว่าตัวยูปกติ แต่จะยาวแค่ไหน ผมจะมาเล่าให้ฟังกันต่อในตอนหน้า

 

คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Tomvorapot
    ปัญหาหลักเรา คือ หนี้ครัวเรือน พึ่งพาส่งออกและท่องเที่ยวมากเกินไป ใช้ค่าเงินบาท ซึ่งเป็นแต้มต่อคนไทยไม่ถูกทางเอาเสียเลย รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจภายในผิดที่ผิดทาง แก้ลงทุนกระจุก รวยกระจุก จนกระจาย พัฒนานาเศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่พอเพียง แล้วเจอฝุ่นและไวรัส เศรษฐกิจชะลอตัวในลักษณะนี้ ต้องปรับที่ดุลบัญชีภาครัฐ มากกว่าการเงินหรือภาคประชาชน ผ่านพื้นที่การคลัง ผ่านการสร้าง พรก. ดีๆและตรงจุด แค่ฉบับเดียว เศรษฐกิจภายในจะดีขึ้น และต้องหยุดลดดอกเบี้ยด้วว เศรษฐกิจมหภาคจึงจะมีโอกาสฟื้นเร็ว..
    22 ก.พ. 2563 เวลา 03.50 น.
ดูทั้งหมด