ทั่วไป

“ชีวมวล (Biomass)” พลังงานสีเขียวเป็นมิตรต่อโลก

The Bangkok Insight
อัพเดต 22 ก.พ. 2564 เวลา 16.45 น. • เผยแพร่ 22 ก.พ. 2564 เวลา 16.45 น. • The Bangkok Insight

ชีวมวล (Biomass) การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ใหม่ โดยการแปรรูปพลังงานที่ถูกกักเก็บไว้ตามธรรมชาติ จัดเป็นพลังงานหมุนเวียน โดยมีการนำชีวมวลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า

ประเทศไทยมีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร และปลูกพืชหลากหลายชนิดตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละภาค ทำให้แต่ละปี มีเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยว หรือจากการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมหาศาล

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ประเมินว่าในแต่ละปี จะมีเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรประมาณปีละ 60 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณมหาศาลที่ต้องกำจัดทิ้งไป มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์

จากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกลับมาใช้ใหม่ โดยการแปรรูปพลังงานที่ถูกกักเก็บไว้ตามธรรมชาติ ในเศษวัสดุเหล่านี้ ซึ่งเรียกเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรโดยรวมว่า "ชีวมวล (Biomass)"

ชีวมวล
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ชีวมวล หมายถึง สารอินทรีย์ที่เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ และสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้ สารอินทรีย์เหล่านี้ได้มาจากพืชและสัตว์ต่าง ๆ เช่น เศษไม้ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานของพืช ที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโต จากนั้นจะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง หรือแปรสภาพเป็นของเหลว ที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน แทนพลังงานจากฟอสซิลได้

ชีวมวล จึงจัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) ที่สำคัญชนิดหนึ่ง โดยมีการนำชีวมวลมาใช้เป็นพลังงาน โดยมีแหล่งที่มาได้ 2 แหล่ง คือ เศษวัสดุจากการเกษตร และการแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน

ชีวมวลที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลังจากการเก็บเกี่ยว หรือโค่นต้น เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ยอดอ้อย เหง้ามันสำปะหลัง ยอดใบข้าวโพด ลำต้นข้าวโพด ใบปาล์ม ทางปาล์ม ยอดใบและลำต้นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง ทะลายมะพร้าว ทางมะพร้าว ใบมะพร้าว ลำต้นปาล์มน้ำมัน ปลายไม้ ตอ ราก และกิ่งก้านไม้ยางพารา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ยังมีชีวมวล ที่เกิดขึ้นในกระบวนการของโรงงานอุตสาหกรรม หลังแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย ซังข้าวโพด เปลือกมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใยปาล์ม กะลาปาล์ม ปีกไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้ยางพารา เศษไม้ยางพารา เปลือกมะพร้าว กาบมะพร้าว กะลามะพร้าว และเปลือกมะม่วงหิมพานต์

ชีวมวล

จากปริมาณชีวมวลที่เกิดขึ้นแต่ละปี ที่มีจำนวนมหาศาล ได้มีการนำชีวมวลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า และนำชีวมวลบางประเภทไปใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิง หรือไบโอดีเซล ซึ่งกระบวนการแปรรูปไปเป็นพลังงาน มีหลายรูปแบบ

1. การเผาไหม้โดยตรง (Combustion) เป็นการนำชีวมวลมาเผา จะได้ค่าความร้อนที่แตกต่างกันตามชนิดของชีวมวล ความร้อนที่ได้สามารถนำไปใช้ในการผลิตไอน้ำที่มีอุณหภูมิ และความดันสูง ไอน้ำนี้จะถูกนำไปขับกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าต่อไป ชีวมวลประเภทนี้ คือ เศษวัสดุทางการเกษตร และเศษไม้

2. การผลิตก๊าซ (Gasification) เป็นกระบวนการเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็ง หรือชีวมวลด้วยกระบวนการเผาแบบอัดอากาศได้ก๊าซเชื้อเพลิง เรียกว่า ก๊าซสังเคราะห์ (Syngas) มีองค์ประกอบของก๊าซมีเทน ไฮโดรเจน และ คาร์บอนมอนอกไซด์ สามารถนำไปใช้กับเครื่องยนต์ก๊าซ (Gas Engine)

3. การหมัก (Fermentation) เป็นการนำชีวมวลมาหมักด้วยแบคทีเรียในสภาวะไร้อากาศ ชีวมวลจะถูกย่อยสลาย และแตกตัวได้ก๊าซชีวภาพ ที่มีองค์ประกอบของก๊าซมีเทน นำก๊าซมีเทนใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์สำหรับผลิตไฟฟ้า

4. การผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากพืช โดยใช้กระบวนการทางชีวภาพ ย่อยสลายแป้ง น้ำตาล และเซลลูโลสจากพืชทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ให้เป็นเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์เบนซิน หากนำไปผ่านกระบวนการทางฟิสิกส์และเคมี โดยสกัดน้ำมันออกจากพืชน้ำมัน น้ำมันปาล์ม แล้วนำไปผ่านกระบวนการ Transesterification ก็จะผลิตเป็นไบโอดีเซลออกมา เป็นต้น

ชีวมวล

การนำชีวมวลมาเป็นเชื้อเพลิงมีข้อดี คือ การเผาไหม้ชีวมวลแม้จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ แต่จะถูกหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่โดยพืชเพื่อสังเคราะห์แสง จึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และมีกำมะถัน หรือก๊าซซัลเฟอร์ต่ำ ซึ่งไม่สร้างปัญหาเรื่องฝนกรด ขี้เถ้าที่ได้จากการเผา สามารถนำไปเพาะปลูก หรือปรับสภาพดินที่เป็นกรดได้

ในด้านเศรษฐกิจ การเผาชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้า ช่วยลดภาระในการกำจัดเศษวัสดุ ก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเศษวัสดุทางการเกษตร และยังประหยัดเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากไม่ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

ชีวมวล

ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018 Revision 1) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 กำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน (RE/EE) 24.5%

แต่การผลิตไฟฟ้าของประเทศ ยังผลิตจากก๊าซธรรมชาติมากที่สุด ในสัดส่วน 53.4% ถ่านหินและลิกไนต์ ในสัดส่วน 11.4% และพลังงานน้ำในและต่างประเทศ ในสัดส่วน 10.7% ซึ่งจะเห็นว่าสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนและอนุรักษ์พลังงาน มีสัดส่วนเป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 24.5%

หากจำแนกเฉพาะการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลไว้ที่ 4,694 เมกะวัตต์ โดยมี 17% เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้กำกับการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล โดยมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีพันธะผูกพันแล้ว 4,082 เมกะวัตต์ มีผู้ผลิต 293 ราย และเป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) รวม 913 เมกะวัตต์ มีผู้ผลิต 39 ราย

โรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศไทย นับวันจะมีบทบาทมากขึ้น ตาม แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) กำหนดเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล 5,790 เมกะวัตต์ หรือมีสัดส่วนรับซื้อใหม่อยู่ที่ 3,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

ดูข่าวต้นฉบับ