ไอที ธุรกิจ

ความรู้โบราณสอดคล้องงานวิจัย ตำรับยา กลีบบัวแดง ช่วยนอนหลับ ฟื้นฟูความจำ

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 11 ส.ค. 2563 เวลา 07.04 น. • เผยแพร่ 11 ส.ค. 2563 เวลา 06.59 น.

ความรู้โบราณสอดคล้องงานวิจัย ตำรับยา กลีบบัวแดง ช่วยนอนหลับ ฟื้นฟูความจำ

พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า มีการศึกษาจากหลายสถาบัน ระบุตรงกันว่า อาการนอนไม่พอ หรือ หลับๆ ตื่นๆ เป็นผลเสียต่อสมอง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ดังรายงานการวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พบว่า การนอนน้อยหรือคุณภาพการนอนไม่ดี มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มระดับคราบโปรตีนอะไมลอยด์เบต้า (amyloid beta peptides) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นพิษต่อสมอง เมื่อสะสมมากเข้าจะกลายเป็นแผ่นในสมอง ขัดขวางการส่งสัญญาณประสาท และนำมาซึ่งโรคอัลไซเมอร์ นักวิจัยศึกษาผู้สูงอายุ 70 คน มีอายุเฉลี่ย 76 ปี จากการสแกนสมองพบว่า ผู้ที่มีการนอนน้อยต่ำกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน หรือผู้ที่หลับๆ ตื่นๆ มีระดับสาร amyloid-beta peptides ในสมองสูงกว่าผู้ที่นอนเกิน 7 ชั่วโมง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบัน นักวิจัยยังไม่อาจสรุปว่า การนอนที่ไม่ดี เป็นสาเหตุการสร้างสาร amyloid-beta peptides หรือการที่มีสาร amyloid-beta peptides สูงทำให้นอนไม่หลับ เรียกว่าเป็นได้ทั้งสองทาง เช่นเดียวกับงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ ระบุว่า เหตุผลหนึ่งที่มีการนอนไม่หลับ อาจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ เพราะการนอนหลับจะช่วยขับสารพิษออกจากสมอง พบว่าเมื่อหนูนอนหลับ เซลล์ในสมองจะสะอาดขึ้น

ส่วนรายงานของ Dr.Mariken Nedergaad ในวารสาร Science ก็ระบุว่า การนอนอาจช่วยป้องกันสมองเสื่อมได้ สอดคล้องกับงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่พบว่าการนอนหลับทำให้ระงับผลจากยีน APOE-E4 ซึ่งเป็นยีนที่ทำให้พัฒนาเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยทดสอบในผู้สูงอายุ 700 ราย ที่ติดตามผลการนอนและความจำ ระยะแรกไม่มีใครเป็นโรคสมองเสื่อม แต่อีก 6 ปีต่อมา มี 98 รายเป็นโรคอัลไซเมอร์ และ 201 รายเสียชีวิต เมื่อตรวจสมองพบว่ามีแผ่นหนาและความยุ่งเหยิงที่บ่งบอกสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ “การนอนไม่พอ ทำให้มีปัญหาด้านความจำและความคิด แม้ในคนปกติ ส่วนภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ ที่เรียกว่า sleep apnea ซึ่งทำให้ตื่นในเวลาสั้นๆ นับร้อยครั้งก็มีปัญหาในด้านความจำ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมเช่นกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พญ.โศรยา กล่าวว่า แพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ทำการพัฒนาตำรับยาจากองค์ความรู้พื้นบ้าน ใช้ชื่อ กลีบบัวแดง และ เก็บข้อมูลพบว่า ช่วยให้นอนหลับดีขึ้นในผู้ป่วย จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่า สารสกัดจาก ตำรับยากลีบบัวแดง ออกฤทธิ์ต้านกลไกการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในหลายกลไกพร้อมๆ กัน คือ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปกป้องสมอง ช่วยฟื้นฟูความจำ ช่วยลดระดับฮอร์โมนความเครียดในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ที่มีหน้าที่เปลี่ยนความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว อีกทั้งยังยับยั้งการสะสมของ amyloid beta peptides และ ยับยั้งเอนไซม์แอซีทิลโคลีนเอสเทอเรส (acetylcholinesterase inhibitors) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาการสลายตัวของสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อแอซีทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความจำของมนุษย์ หากสารสื่อประสาทชนิดนี้ลดลง จะส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ซึ่งกลไกนี้ของตำรับกลีบบัวแดง เป็นกลไกเดียวกันกับยารักษาสมองเสื่อมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  นับเป็นการช่วยยืนยัน องค์ความรู้โบราณ ที่สัมพันธ์กับการวิจัยสมัยใหม่  ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนในชื่อ อภัย-บี กลีบบัวแดง และ ทางโรงพยาบาล กำลังดำเนินงานวิจัยตำรับยานี้ในผู้ที่มีภาวะถดถอยทางสมอง หรือ Mild Cognitive impairment (MCI) ซึ่งคงทราบผลการวิจัยภายในปีนี้

ท่านที่สนใจ สามารถติดตาม ตำรับยากลีบบัวแดง หรือ อภัย-บี ได้ โดยจะมีจำหน่ายใน งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน ณ ฮอลล์ 10-11-12 เมืองทองธานี และในงานจะมีการให้ความรู้กับผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคสมองเสื่อมด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ