ทั่วไป

อากาศวิกฤติพ่นพิษพิภพ

สยามรัฐ
อัพเดต 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 23.00 น. • สยามรัฐออนไลน์

สภาพภูมิอากาศในหลายพื้นที่ของโลก ณ เวลานี้ ต้องถือว่า แปรปรวนจนน่าเป็นห่วง

อย่างที่ “ไทย” เรา ใน “ต่างจังหวัด” หลายแห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน ก็ผจญชะตากรรมกับ สถานการณ์ “ภัยแล้งหนัก” ที่ถึงขนาดผู้เชี่ยวชาญสันทัดกรณี ออมาชี้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นภัยแล้งที่หนักสุดในรอบหลายสิบปีเลยก็ว่าได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่ ภูมิภาคเอเชียใต้ คาบเกี่ยวไปถึงเอเชียกลาง อันกอปรด้วยอินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ ในเอเชียใต้ และอัฟกานิสถาน ในเอเชียกลาง ก็ต้องบอกว่า หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าภูมิภาคใดในเวลานี้ เพราะวิกฤติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งพิษแรงทำให้เผชิญทั้ง “ภัยแล้ง” และ “ภัยลมฝนมรสุม” ในเวลาเดียวกัน จนสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างระทมทุกข์หนัก

ฝนที่ตกหนัก ทำให้เกิดดินถล่มลงมาทับบ้านเรือนประชาชนในปากีสถาน ส่งให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยมีรายงานตัวเลขความสูญเสียจากสภาพวิกฤติทางอากาศ โดยเฉพาะจาก “ลมมรสุม” ที่ทำให้เกิด “ภาวะฝนตกหนัก” ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้เกิด “ภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลัน” และ “ดินถล่ม” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 150 คน และยังวิตกกังวลกันว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะทะยานเพิ่มขึ้นอีก

นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ภัยพิบัตจากสภาพภูมิอากาศที่วิกฤติข้างต้น ก็ส่งให้เกิดผลกระทบต่อประชากรของภูมิภาคแถบนั้นกว่า 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับผลกระทบทางตรงถึง 4.3 ล้านคน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่ของบรรดาประเทศในเอเชียใต้และเอเชียกลางตามที่เอ่ยชื่อแล้วข้างต้น ก็ผจญชะตากรรมกับ “ภาวะภัยแล้งหนัก” อีกประการหนึ่งด้วย เรียกว่า เผชิญทั้งภัยฝนมรสุมและภัยแล้งในเวลาเดียวกัน

ภาวะความแห้งแล้งที่ชาวอัฟกานิสถานหลายพื้นที่กำลังเผชิญ

โดยภัยแล้งที่ภูมิภาคดังกล่าวเผชิญ เช่นที่ “อัฟกานิสถาน” ถึงขนาดทำให้เกษตรกรจำนวนหลายล้านคน ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน เพราะพื้นที่การเกษตรเดิมของพวกเขา เพาะปลูกอะไรไม่ได้ เนื่องจากแล้งหนัก

ท่ามกลางการพยากรณ์ของบรรดานักอุตุนิยมวิทยาว่า ปีนี้ในหลายพื้นที่ของเอเชียกลาง เอเชียใต้ แล้งเหลือหลาย เช่นเดียวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยเราด้วย โดยจะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนทิ้งช่วง” เป็นระยะเวลานาน ฝนมาล่าช้ากว่าปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา

เหล่านักอุตุนิยมวิทยา ได้แสดงทรรศนะถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ภัยแล้งเช่นนั้นด้วยว่า เป็นเพราะปรากฏการณ์ความชื้นจากขั้วโลกเหนือไม่แผ่ลงมา จนทำให้ไม่เกิดมวลอากาศเย็นแผ่ลงมาในพื้นที่ที่อยู่ทางตอนใต้ของขั้วโลกเหนือ นั่นเอง โดยสาเหตุที่ทำให้ความชื้นจากขั้วโลกเหนือไม่แผ่ลงมา ก็มาจากสาเหตุการเคลื่อนตัวของบรรยากาศโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นเอง ซึ่งจะเรียกว่า เป็นผลพวงของพิษภัยจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ก็มิผิด

พร้อมกันนี้ บรรดานักวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศอย่าง “สถาบันเทคโนโลยีอีทีเอช” ในนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งจากภาวะโลกร้อนในอนาคตจะยิ่งเลวร้ายไปกว่าปัจจุบันอีก โดยประเมินกันว่า อีกราว 30 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวๆ 2 องศาเซลเซียส โดยถ้าว่ากันแบบเฉพาะเจาะจง หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้นกว่า 2 องศาเซลเซียส อย่างที่โทรอนโต แคนาดา อุณภูมิจะเพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ส่วนที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2.9 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่ก็มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียส เช่น นครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 1.4 องศาเซลเซียส เป็นต้น

แผนที่แสดงเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่คาดว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2593 (ค.ศ. 2050)

ทั้งนี้ จากการที่พื้นที่หลายแห่งทั่วโลก มีอุณหภูมิสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ยที่ 2 องศาเซลเซียสข้างต้น ก็บ่งชี้ว่า ทางการของประเทศต่างๆ ยังคงล้มเหลวในการควบคุมอุณหภูมิโลกมิให้สูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ใช่แต่เท่านั้น จากการศึกษาวิจัยของสถาบันอีทีเอช ยังประเมินว่า จากผลพวงของอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ก็จะทำให้สภาพอากาศในเขตขั้วโลกเหนือ ที่มีอากาศหนาว เปลี่ยนแปลงจนมีสภาพอากาศคล้ายกับบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรมากขึ้นด้วย โดยราวกับว่าเมืองในขั้วโลกเหนือเหล่านั้น เขยิบเข้ามาใกล้กับเส้นศูนย์สูตรถึง 1,000 กิโลเมตร เลยทีเดียว เช่น กรุงลอนดอน ของอังกฤษ ในอีก 30 ปีข้างหน้า ก็จะมีสภาพอากาศคล้ายกับนครบาร์เซโลนาของสเปนในปัจจุบัน เป็นต้น

ผลการศึกษาวิจัยของสถาบันอีทีเอช ยังระบุด้วยว่า ปัจจัยจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ก็จะทำให้สภาพภูมิอากาศของบรรดาเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก แปรปรวนไปจากเดิมอย่างมาก และแปรปรวนกันในลักษณะที่แปลกประหลาดด้วย นั่นคือ เกิดภาวะอุทกภัยอันสืบเนื่องจากฝนตกหนัก และภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรงในแบบพร้อมๆ กันได้ เหมือนอย่างที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียกลาง กำลังเผชิญอยู่นี้

วิกฤติสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติตามมา

งานศึกษาวิจัยของสถาบันอีทีเอช ยังมีคำเตือนด้วยว่า เหตุอากาศเปลี่ยนแปลงไปข้างต้น ก็จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชากรโลก ก่อนหยิบยกถ้อยแถลงของนางมามิ มิซึโทริ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการลดความเสี่ยงต่อหายนะภัย มาสะกิดต่อทางการของประเทศต่างๆ ให้ตระหนักถึงพิษภัยของวิกฤติสภาพอากาศให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และให้ดำเนินมาตรการในอันที่จะช่วยลดปัญหาทางสภาพอากาศ รวมถึงแนะนำให้เตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับหายนะภัยอันเกิดวิกฤติทางอากาศที่นับวันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 7
  • Prasert/ประเสริฐ
    จิตใจมนุษย์มันต่ำทรามลงทุกวันๆ มันถึงทำให้อะไรหลายๆอย่างบนโลกใบนี้เลวร้ายตามลงไป
    19 ก.ค. 2562 เวลา 02.05 น.
  • ยังไม่สำนึก
    19 ก.ค. 2562 เวลา 02.01 น.
  • @Na99
    เมื่อรู้เช่นนี้ก็ควรเตรียมการรับมือล่วงหน้า ไม่ใช่ถึงเวลามาโทษฟ้าดิน เพราะไม่รู้จักการวางแผนตั้งรับ... ล้วนแต่คิดว่าถึงพรุ่งนี้ “กูก็รอดอีกวัน” ... จุดอ่อน มนุษย์...
    19 ก.ค. 2562 เวลา 02.01 น.
  • Kazuya
    เพราะคนมันวิปริตก่อนนั่นแหละ จิตวิปริต กายวิปริต กระทำวิปริต คนชั่วคิดคต โกง ไม่รู้จักพอ บางอย่างมันควร ลิมิต แต่ คนเรามัน อันลิมิต มันก็เลยต้องรับรางวัล จากธรรมชาติ เพราะผลของการกระทำ ตัดป่า สร้างโรงงาน สิ่งปลูกสร้าง จนสัดส่วน ของ ธรรมชาติ มันเหลือน้อย ต่ำกว่าเกณฑ์
    19 ก.ค. 2562 เวลา 01.36 น.
  • มลฤดี
    ครูบาอาจารย์ท่านเคยพูดว่าบ้านเมืองทั่วโลกจพิบัติเพราะคนชั่วฟ้าดินจะเกิดอาเพศแห้งแล้งนํ้าท่วมลมแรง
    19 ก.ค. 2562 เวลา 00.46 น.
ดูทั้งหมด