Explainer เป็นประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ประกาศก่อนหน้านี้ว่าวันที่ 25 พฤศจิกายน จะเดินทางไปเรียกร้องที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแผนไปชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่แทน
ทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมถึงเดินเกม ในประเด็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และธนาคารไทยพาณิชย์ไปเกี่ยวข้องอะไรด้วย workpointTODAY จะอธิบายสถานการณ์ให้เข้าใจง่ายที่สุดใน 17 ข้อ
1) ในอดีต สมัยรัชกาลที่ 1 ทรัพย์สินของราชสำนักกับรัฐบาลยังคงมีความทับซ้อนกัน เงินที่รัฐบาลได้จากการค้าขายกับต่างประเทศ จะตกเป็นเงินของพระมหากษัตริย์ทั้งหมด และพระองค์สามารถใช้จ่ายทรัพย์สินที่ได้มา ได้อย่างอิสระ
2) แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เกิดขึ้นในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 เนื่องจากพระองค์ทำการปฏิรูปการคลังอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก มีการแยกกัน ว่าเงินก้อนไหนเป็นของรัฐบาลที่จะทำมาใช้จ่ายเพื่อบริหารประเทศ และเงินก้อนไหนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์
3) โดยภาษีที่เก็บได้จากประชาชน รัชกาลที่ 5 จะจัดสรรเงินก้อนใหญ่เข้าคลังของประเทศ เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง ส่วนอีก 15% จะถูกนำส่ง "พระคลังข้างที่" เปรียบเสมือนหน่วยงานที่รับผิดชอบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ โดยพระคลังข้างที่จะเอาเงินที่ได้มา ไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่นการรถไฟ การเดินเรือ การธนาคาร ฯลฯ เพื่อทำให้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีความเติบโตมากขึ้น
เมื่อมีเงินก้อนโต ทำให้ "พระคลังข้างที่" นำเงินไปกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสร้างรายได้ต่อยอดให้กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างมหาศาล
4) ในปี 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และหลังจากนั้น 4 ปี สภาได้ออกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในปี 2479 โดยแบ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ออกเป็น 3 ส่วน
A- ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หมายความถึง ทรัพย์สินส่วนตัวที่เป็นของพระมหากษัตริย์องค์นั้นๆ
B- ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หมายความถึง ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อเป็นประโยชน์ของแผ่นดิน เช่นพระราชวัง เป็นต้น
C- ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หมายความถึง ทรัพย์สินส่วนอื่นๆ เช่น มาจากการลงทุน เป็นต้น เป็นสินทรัพย์ที่มีมอบไว้ให้สถาบันกษัตริย์ให้สมพระเกียรติการเป็นประมุขของประเทศ โดยผู้ดูแลทรัพย์สินส่วนนี้คือกระทรวงการคลัง
จุดสำคัญ คือ เป็นการ "แยก" ทรัพย์สินของกษัตริย์พระองค์หนึ่ง กับ สถาบันกษัตริย์ออกจากกัน
5) พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ใช้งานจริง 11 ปี ในปี พ.ศ.2490 ประเทศไทยมีการรัฐประหารขึ้น โดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจจากรัฐบาล และ พ.ร.บ.ฉบับปี 2479 จึงถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยนำเอา "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" แยกเป็นนิติบุคคล มีอิสระจากรัฐบาล คือเมื่อก่อนจะไปลงทุนอะไร ก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อน แต่เมื่อกลายเป็นนิติบุคคลแล้ว ก็สามารถนำไปสร้างกำไรได้ทันที ทั้งการลงทุน ซื้อหุ้น หรือการเก็บค่าเช่าที่ดินที่ถือครองอยู่
6) ด้วยการซื้อที่ดินเอาไว้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงมีที่ดินกระจายไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็สามารถปล่อยเช่าทำรายได้ นอกจากนั้น การที่ไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่อดีต เช่นกับธนาคารสยามกัมมาจลในยุค ร.5 เวลาต่อมาธนาคารก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ ในชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งผลให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้นอยู่ถึง 21
7) การลงทุนตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 สร้างรายได้อย่างชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งจำนวนเงินมหาศาลที่ได้รับจากค่าเช่า และการลงทุน สถาบันพระมหากษัตริย์ก็นำไปสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมคืนกลับไป
8) การบริหารทรัพย์สินของพระมหาษัตริย์ อยู่ในรูปแบบนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2491 จนถึงตลอดช่วงการครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือแยกชัดเจนระหว่าง "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" กับ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"
9) หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ในเดือนตุลาคมปี 2559 หลังจากนั้นเป็นเวลา 9 เดือน วันที่ 16 กรกฎาคม 2560 มีการออก พ.ร.บ ฉบับใหม่ ชื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560
เพื่ออธิบายให้เข้าใจง่าย ถ้าย้อนกลับไปอ่านใน (ข้อ 4) ด้านบน เราจะเห็นว่า ทรัพย์สินเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จะแบ่งเป็นสามส่วนคือ
A- ทรัพย์สินส่วนพระองค์
B- ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
C- ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
โดยใจความหลัก ของพ.ร.บ. ฉบับปี 2560 คือ รวมทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (B) และ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (C) เข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า "ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์"
นอกจากนั้น คณะกรรมการดูแลทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ คนที่ตัดสินใจว่าจะนำเงินไปลงทุนในกิจการใดๆ ในอดีตจะมีประธานกรรมการที่ระบุชัดเจนคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะเปลี่ยนให้ ประธานฯ และกรรมการ จะเป็นใครก็ได้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย
ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการออก พ.ร.บ.ฉบับปี 2561 มาเพิ่มเติมรายละเอียด โดยเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน จาก "สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์" เปลี่ยนเป็น "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ตัดคำว่าฝ่ายออกไป
ความเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องที่สำคัญคือ จากเดิมที่ พ.ร.บ. 2560 จะรวมกันแค่ B+C แต่ พ.ร.บ. ฉบับปี 2561 จะเป็นการรวม A+B+C เข้าไว้ด้วยกันโดยให้อยู่ในพระราชอำนาจของในหลวงรัชกาลที่ 10 นอกจากนั้นการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ พระมหากษัตริย์จะมีอำนาจสูงสุด
10) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนรายชื่อผู้ถือหุ้นในกิจการต่างๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือครองไว้ เช่น ปูนซีเมนต์ไทย 30% หรือธนาคารไทยพาณิชย์ 21% จากเดิมในยุครัชกาลที่ 9 จะใช้ชื่อผู้ถือหุ้นว่า "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" แต่ล่าสุด ได้ถูกเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้น ให้เป็นของในหลวงรัชกาลที่ 10 แทน
11) หลังจาก พ.ร.บ. ปี 2561 ถูกนำมาใช้ และ ชื่อผู้ถือหุ้นถูกเปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ 10 เรียบร้อยแล้ว จึงเกิดคำถามในสังคมว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นในองค์กรใหญ่อย่าง ปูนซีเมนต์ไทย หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เป็นชื่อของรัชกาลที่ 10 แทน ซึ่งเอกสารจากสำนักงานทรัพย์สินฯ อธิบายว่า การใช้ชื่อรัชกาลที่ 10 แทนที่ เพราะจะได้มอบหมายงานให้ข้าราชบริพารดูแลกิจการได้อย่างใกล้ชิด โดยมุ่งหวังให้กิจการเหล่านี้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และข้อบังคับอย่างเคร่งครัด
12) วันที่ 10 สิงหาคม 2020 ในงานปราศรัยจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการยื่นข้อเสนอ 10 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยในข้อ 3 ถูกเขียนไว้ว่า
"ยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561" โดยความต้องการของผู้ชุมนุมคือ ยกเลิกการ "รวมกัน" ของทรัพย์สินส่วนพระองค์ และ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ย้อนกลับไป เหมือนกับยุคสมัยรัชกาลที่ 9 ที่สองทรัพย์สินนี้แยกจากกันอย่างชัดเจน
13) สำหรับปมประเด็นของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น กลุ่มเยาวชนปลดแอก เดินหน้าจี้ประเด็นนี้เป็นวาระสำคัญในการชุมนุม หลังจากชุมนุมที่ราชประสงค์เสร็จสิ้น ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2020 ได้มีการประกาศว่า "วันที่ 25 พฤศจิกายน เจอกันที่สำนักทรัพย์ฯ"
14) การประกาศล่วงหน้า 1 สัปดาห์ ทำให้ทางรัฐบาล เตรียมการมาขัดขวางไม่ให้ ผู้ชุมนุมเข้าถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ถนนพิษณุโลกได้ มีการจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ บังเกอร์ ลวดหนาม มาปิดทางเดินสัญจร และปิดถนนตามจุดต่างๆมากมาย
15) แต่ในช่วงกลางดึก ก่อนถึงวันนัดชุมนุม เวลา 22.25 น. ของวันที่ 24 พ.ย. ในเพจเยาวชนปลดแอก ได้ประกาศเปลี่ยนสถานที่ จากสำนักงานทรัพย์สินฯ ไปเป็นที่ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาใหญ่แทน ที่รัชโยธิน โดยอธิบายว่าเป็นการแก้เกม ไม่ให้ฝ่ายรัฐตั้งตัวทัน และลดการปะทะที่ไม่จำเป็นด้วย ส่วนสาเหตุที่ต้องไป SCB เพราะเป็นหนึ่งในองค์กรที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำการถือหุ้นใหญ่อยู่นั่นเอง
16) ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ในวันนัดหมายคือ 25 พ.ย. ฝ่ายรัฐ ที่ลงตู้คอนเทนเนอร์ และลวดหนามไปหมดแล้ว รื้อถอนออกไม่ทันในช่วงเช้าส่งผลให้การจราจรในเขตกรุงเทพชั้นใน มีความติดขัดมาก ขณะที่ในเขตสำนักงานทรัพย์สินมีตำรวจ และทหารจำนวนมาก แต่ไม่มีผู้ชุมนุมเลย นั่นเพราะแจ้งเปลี่ยนสถานที่ไปเรียบร้อยแล้ว
17) สำหรับประเด็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นจุดสำคัญที่ผู้ชุมนุมตั้งคำถามในการปราศรัยว่า ว่ามีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบ จากในยุคในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เคยแยก ทรัพย์สินส่วนพระองค์ กับ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อย่างชัดเจนมาตลอด 69 ปี แล้วมาปรับใช้ พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบัน ที่ทำให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการครอบครองทรัพย์สินทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว
น.ต.จีระศักดิ์. ส. ได้ความรู้ดีครับ
26 พ.ย. 2563 เวลา 10.29 น.
Carbon™ 420 ~2% พวกที่คิดจะล้มเค้าไม่สนใจความจริง ตั้งหน้าตั้งตาจะบิดเบือนอย่างเดียว เพื่ออำนาจและผลประโยชน์นักการเมือง
26 พ.ย. 2563 เวลา 10.13 น.
Keng บทความนี้ สรุปข้อมูลสำคัญ ยังไม่ครบถ้วน
ค้นหาอ่านเพิ่มเติม ได้ไม่ยาก
26 พ.ย. 2563 เวลา 10.25 น.
𝓢𝓪𝓶𝓹𝓸𝓸 งั้นสมพร ทักษิณ หญิงอ้อตาย ก็ยึดทรัพย์เข้าประเทศให้หมดได้เลย อย่าดีแต่จ้องจะยึดเงินคนอื่น
26 พ.ย. 2563 เวลา 10.46 น.
มีคำถาม
ก็แล้วไง
ยังไง มันก็ไม่ใช่ของผม ผมรู้แค่นั้น
ส่วนเงินคนอื่น จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนกระเป๋าใส่
ให้ใครใช้ ให้ใครยืม มันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของคนนั้น
ตื่นเช้ามา ทำงาน สิ้นเดือน รับเงิน
จบครับ นี้แหละตังผม
สุดท้าย เงินของคนอื่น ไม่ได้เอาไปในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
เอาไปช่วยเหลือ มันก็ดีแล้ว แล้วจะไปอะไรกันนักหนา
กับเงินของคนอื่น
โทดที ผมเป็นคนคิดเล็กๆ คิดมาก ปวดหัว
ปวดหัวกับลูกเมียพอแล้ว
26 พ.ย. 2563 เวลา 10.35 น.
ดูทั้งหมด