ไลฟ์สไตล์

เกมไม่ใช่ตัวร้าย! ‘น้องนะโม เพจเกรียนเมอร์’ นักสตรีมเกมวัย 7 ขวบ ที่ใช้ความน่ารักเอาชนะใจคนนับแสน

INTERVIEW TODAY
เผยแพร่ 31 มี.ค. 2564 เวลา 17.00 น. • nawa.

“น่ารักครับ น่ารักก็รักนาน ๆ นะครับ”

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กน้อยคนหนึ่ง ฟังแล้วก็คงคิดว่าเป็นเด็กธรรมดาทั่วไป แต่หากบอกว่านี่คือเสียงของ ‘น้องนะโม’ ด.ช.นพรัตน์ ประหยัดใช้ นักสตรีมเกมวัยเพียง 7 ขวบ เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ ‘เกรียนเมอร์’ ที่มียอดผู้ติดตามเกือบสามแสนคน ก็คงต้องหันมาทำความรู้จักน้องนะโมกันให้มากขึ้น ผ่านคำบอกเล่าของ ‘คุณพ่อหมี’ ว่าทำไมเด็กประถมตัวกะจิ๊ดริดถึงกลายเป็นสตรีมเมอร์ที่พี่ ๆ แฟนคลับหลงรักหัวปักหัวปำได้ขนาดนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อเกมคือความชอบของพ่อและลูก

“มันเริ่มจากผมกับน้องชอบเล่นเกมอยู่แล้ว พอดีว่าเราไปเห็นเพจนึง เขามีเด็กมาสตรีมเกมเหมือนกัน แล้วเราเห็นเขาเล่นเก่ง เราเลยกลับมามองลูกตัวเองบ้าง ก็คิดว่าถ้าน้องเล่นเกมธรรมดา ๆ ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ และมันก็ไม่ได้ทำให้พัฒนาการในการเล่นของน้องเก่งขึ้นด้วย เราก็เลยอยากผลักดันให้น้องได้ทำในสิ่งที่น้องชอบให้ออกมาดีครับ”

“ถามว่าน้องเริ่มชอบเล่นเกมตั้งแต่ตอนไหน เท่าที่เห็นเขาเล่นก็ประมาณสัก 4-5 ขวบครับ เวลาเขาเล่นโทรศัพท์ก็เล่นเกมตลอด ตอนนั้นก็เป็นเกมโทรศัพท์ทั่ว ๆ ไปเลยครับ ก่อนที่จะมาเป็นเกมไฟล์ใหญ่แบบทุกวันนี้ ผมก็เลยสอนน้องเล่น เราก็มองแล้วถามเขาว่า ถ้าอยากเล่นให้มันเก่งแบบนี้ เราก็ต้องทำสตรีม ผมก็ค่อย ๆ สอนเขาทีละนิด เวลาน้องสตรีมก็ให้เขาจัดเอง เขาจะได้รู้จักการเล่นมากขึ้นครับ”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“เปิดเพจเกรียนเมอร์มาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ปี 2019 นับรวม ๆ แล้วน่าจะเข้าปีที่ 2 แล้วครับ ช่วงแรกที่สตรีมก็ไม่ได้มีคนดูเยอะเลยครับ คนดูก็จะเป็นคนในครอบครัวนี่แหละ แล้วก็มีเพื่อน ๆ ของเราที่แชร์ไปประมาณ 7-8 คน บางวันก็ไม่มีคนดูเลย พวกเราดูกันเองอะไรอย่างนี้ครับ”

ตอนสตรีมช่วงแรก ๆ น้องนะโมรู้สึกยังไงบ้างคะที่มีคนเข้ามาชมการไลฟ์

น้องนะโม : มีคนเข้ามาดูก็ดีใจมากครับ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เกมแรกที่สตรีมจำได้ไหมว่าเป็นเกมอะไร

น้องนะโม : เป็นเกม Free Fire ครับ

ครอบครัวมีกฎเหล็กในการเล่นเกม

“หลังจากนั้นเราก็สตรีมมาเรื่อย ๆ เกือบทุกวัน ประมาณว่าถ้าผมว่างจากงานก็มาสตรีมครับ หรือว่าถ้าคนในครอบครัวว่างพอที่จะเปิดสตรีมได้ ก็ให้เขาเล่น แต่น้องจะได้เล่นเกมเฉพาะเวลาสตรีมเท่านั้นนะครับ เพราะว่าถ้าน้องไม่ได้สตรีม น้องจะไม่ได้เล่นโทรศัพท์เลย แต่น้องก็อาจจะได้ดู YouTube ดูการ์ตูนในทีวีจอใหญ่ ๆ แทน ผมพยายามให้เขาห่างจากโทรศัพท์ให้มากที่สุด ไม่อยากให้เขาติดโทรศัพท์มากเกินไปครับ”

“วันหนึ่งน้องจะได้สตรีมไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่ตามเวลาจริง ๆ 2 ชั่วโมงก็ลงแล้วครับ มันก็เต็มที่ของเขาแล้ว เขาเล่นทุกวันเขาก็อิ่มของเขาเองครับ ไม่จำเป็นต้องไปบังคับให้เขาเลิกเลย เมื่อทำแบบนี้ เขาก็พอของเขาเองครับ”

น้องนะโมมีงอแงบ้างไหมถ้าวันไหนคุณพ่อไม่ให้เล่นแล้วน้องอยากจะเล่น

“ทุกวันนี้น้องไม่งอแงนะครับ เขาเล่นแล้วเขาอิ่มตัวของเขาเองครับ จนบางวันเขาจะบอกเราว่า วันนี้น้องขอไม่สตรีมนะ น้องจะไปดูหนังแทน เราก็ไม่ได้ไปบังคับอะไร เขาอยากสตรีมก็สตรีม ไม่ได้ซีเรียสอะไรครับ”

มุมมองของคุณพ่อหมีกับประโยคที่ว่า 'ทำไมปล่อยให้เด็กเล่นเกม ทำไมไม่เอาเวลาไปตั้งใจเรียนหนังสือ'

“ไม่ค่อยสนใจครับ คนที่เขาเข้าใจ ผมไม่ต้องอธิบายเขาก็เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจ หรือคนที่คอยจ้องจะว่าเรา ต่อให้เราอธิบายยังไงเขาก็ไม่เข้าใจหรอกครับ มุมมองของเราแค่คิดว่า น้องเรียนวันละ 7-8 ชั่วโมง ใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนเกือบทุกวัน นั่นคือเวลาของเขา ถึงเวลาเลิกเรียนมันก็เป็นเวลาที่เขาได้เล่นได้ใช้ชีวิตได้สนุกแบบที่เด็ก ๆ ต้องการ อีกอย่างเราก็ไม่ได้ปล่อยให้เขาเล่นเกมเป็นครึ่งวันครึ่งคืนอะไรแบบนี้เลยครับ ที่สำคัญเลยก็คือเราดูแลเขาแบบใกล้ชิดตลอดทุกครั้งที่น้องเล่นเกม”

“อีกอย่างคือเกมที่น้องเล่น มันอาจจะเป็นเกมที่เหมาะกับวัย 16+ ถึง 18+ เราในฐานะผู้ปกครองเราจะอยู่กับน้องตลอดเวลาที่น้องเล่นเกมเหล่านี้อยู่แล้วครับ”

เคยมีคอมเมนต์ดรามาว่า เกมที่น้องเล่นเป็นเกมของเด็กโต เพราะเนื้อหาเกมมีความรุนแรง

“ผมมองว่ามันเป็นกฎเกณฑ์อย่างหนึ่ง ไม่ใช่กฎหมายจะห้ามว่าเด็ก ๆ ห้ามเล่นเลย แต่แค่บอกว่าเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด และน้องก็อยู่ในการควบคุมของผู้ปกครองตลอด อย่างแรกเลยคือน้องไม่สามารถเปิดสตรีมเองได้แน่นอน ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วยตลอดเวลาครับ”

“ที่สำคัญคือนอกเวลาสตรีม น้องจะไม่ได้เล่นโทรศัพท์เลย พี่ ๆ แฟนคลับจะรู้กันหมด น้องก็มีเวลาของน้องเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปมีเวลาเล่น ดูทีวี ดูการ์ตูน ครบทุกอย่างเหมือนเด็กปกติครับ แต่แค่เวลาเล่นเกม เราเอาเวลาเล่นเกมของน้องมาจัดสตรีมก็เท่านั้นเอง”

อยู่ดี ๆ น้องนะโมก็ดังระเบิดระเบ้อในไม่กี่วัน

“น่าจะเกิดจากการแชร์ต่อ ๆ กันไปนี่ล่ะครับ ช่วงระยะเวลาเดือนนั้น มีคนแชร์น้องเยอะมากครับ พอถึงวันหนึ่งวันที่คนดูเยอะที่สุด คนเขาก็เอาไปโพสต์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ หลายทาง เช่น Twitter หรือ Facebook แชร์คลิปใน TikTok มันก็เลยบูมขึ้นมาในวันเดียวครับ ตอนนั้นมีคนดูประมาณ 3 หมื่นกว่าคนครับ”

น้องตื่นเต้นไหมครับตอนนั้น

น้องนะโม : ตื่นเต้นครับ

“วันนั้นเขาก็ตั้งใจเล่น ทำหน้าที่ของเขาไป เขาก็ตื่นเต้นในแบบของเขา มีแต่เราในฐานะผู้ปกครองนี่แหละที่พอเราเห็นคนมาดูเยอะ ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลง เราก็ดีใจที่มีคนชอบ มีคนรักลูกเราเยอะครับ”

ถามคุณพ่อหมีว่าตั้งแต่ทำเพจเกรียนเมอร์มา ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อย่างเช่นเวลาสตรีมเกมก็มีแฟนคลับที่ชื่นชอบน้อง คอยแจกดาวให้น้อง มีคนช่วยโดเนตเงินให้บ้าง รวมถึงมีสปอนเซอร์เกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่งทุกอย่างที่ได้รับมาก็เก็บเป็นทุนไว้ให้น้องนะโมทั้งหมด

น้องนะโมเคยได้ดาวเยอะสุดเท่าไหร่คะ

น้องนะโม : 70,000 ดาวครับ

เมื่อถามน้องนะโมว่า ตั้งแต่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง น้องก็ตอบว่า “เวลาไปเที่ยวก็มีพี่ ๆ มาขอถ่ายรูปบ้างครับ”

พี่ ๆ แฟนคลับน้องนะโมโดนตกก็เพราะคำพูดแสนน่ารัก และไพเราะเสมอ ไม่เคยมีครั้งไหนที่น้องจะหลุดคำไม่น่ารักหรือคำหยาบคายออกมาเลย ขอยืนยันในฐานะผู้ติดตามคนหนึ่ง

เล่นมันมากแค่ไหนก็ยังอ่านคอมเมนต์พี่ ๆ คนดูเสมอ แถมยังเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนอีกด้วย

“ทีแรกก็ช่วยกันคิด ช่วยกันหาคำคม คนในบ้านพยายามหาคาแรคเตอร์ให้เขา ก็ได้เห็นจากพี่ ๆ ในสตรีมหลายคน เราก็จับมาดัดแปลงให้เป็นสไตล์ของน้องครับ”

คิดว่าคนรักน้องนะโมเพราะอะไรคะ

น้องนะโม : เพราะน้องน่ารักครับ !

"รักครับ น่ารักก็รักนาน ๆ นะครับ" เป็นประโยคที่น้องพูดบ่อยสุดเวลาสตรีมเกม คุณพ่อหมีบอกว่า น้องจะพูดเวลามีคนมาคอมเมนต์ชื่นชมน้อง

“ส่วนเรื่องการพูดการจา น่าจะเป็นเพราะที่บ้านไม่พูดคำหยาบเลย ผมกับครอบครัวก็สอนและอบรมน้องตลอด ตอนที่เราทำเพจ เราตั้งใจอยากจะดูพฤติกรรมน้องด้วยส่วนหนึ่ง ว่าน้องพูดหรือได้รับคำอะไรที่คนในบ้านไม่ได้พูดหลุดออกมาบ้างไหม ถ้าถามว่ามีไหม มันก็มีบ้างตามวัยของเด็ก จะมีช่วงที่ขึ้นป. 1 เขาอาจจะมีเพื่อนในโรงเรียนที่ดู YouTube กัน อาจจะได้รับฟังคำอะไรแปลก ๆ มาอยู่บ้าง เราก็คิดว่า มันไม่ได้แล้วนะ ทำแบบนี้ปล่อยไว้จะมีแต่ผลเสียต่อน้อง เราก็เลยอยากให้เขาทำในสิ่งที่มันดีและถูกต้องครับ ก็เลยทำเพจขึ้นมา”

น้องมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมตั้งแต่เล่นเกม

“ก็ยังมีหลุดบ้างโวยวายบ้าง แต่ไม่ถึงกับพูดคำหยาบ จะมีแบบ “อุ๊ย ทำไมขี้โกงอะ” อะไรแบบนี้มากกว่าครับ ประมาณว่าหัวร้อนตอนเล่นเกม แต่เราพยายามจะปลอบประโลมเขา สอนเขาอ้อม ๆ น้องว่าแพ้เขาเองหรือเปล่าฝีมือยังไม่ถึงหรือเปล่า ก็ต้องฝึกกันไปครับ”

เอกลักษณ์อีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยคือ ‘น้องนำโชค’ ตุ๊กแกบนหัวอยู่คู่กับน้องตลอดเวลาที่สตรีมเกม น้องบอกว่าน้องไปซื้อมาจากตลาด ถามว่าทำไมถึงชื่อนำโชค น้องตอบว่า ป๊าตั้งให้ครับ ถ้าไม่มีนำโชคน้องจะเล่นเก่ง แต่ถ้ามีนำโชคน้องจะเล่นไม่เก่ง อ้าว ไหงเป็นงั้นล่ะคะเนี่ย

น้องนะโมชอบสตรีมเกมอะไรที่สุดคะ

น้องนะโม : เกมพับจี (PUBG) ครับ

ทำไมถึงชอบพับจีคะ

น้องนะโม : เพราะว่าสนุกครับ

ชอบเล่นกับคุณพ่อหรือเปล่า

น้องนะโม : เปล่าครับ

“(หัวเราะ) ไม่ค่อยเล่นกับผมครับ ผมชอบดุ เขาชอบเล่นกับพี่ ๆ ในสตรีมมากกว่า เขาตามใจน้องมากกว่า”

ลูกชอบอะไร ครอบครัวก็พร้อมสนับสนุน

“เรื่องอนาคตของน้อง ผมให้เขาเลือกเองเต็มที่เลย ถ้าเขาชอบอะไรทำอะไร เราก็คอยสนับสนุนตลอด ผมไม่ได้ไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าเขาต้องชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร แต่ถ้าบังเอิญว่าสิ่งที่เขาชอบแล้วตรงกับเรื่องที่เราถนัด เราก็สามารถส่งเสริมเขาได้ดีกว่าเท่านั้นเอง อะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ผมสนับสนุนเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเกมครับ เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง ให้เขาเป็นคนเลือกเองดีกว่าครับ”

ถ้าไม่เป็นสตรีมเมอร์น้องนะโมอยากเป็นอะไร คำตอบก็คือ ตอนนี้น้องยังอยากเป็นนักแข่งเกมอี-สปอร์ตอยู่ดีค่ะ

ในฐานะคุณพ่อ เห็นอะไรจากการสนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบ

“เห็นเขามีความสุข มีเป้าหมายของเขา และเขาก็พยายามทำตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ครับ”

การเล่นเกมทำให้น้องแตกต่างจากเด็กทั่วไปบ้างไหม

“ถ้าพูดถึงเล่นเกม ผมว่าไม่ได้แตกต่าง แต่การทำสตรีมเนี่ยแตกต่างครับ เหมือนว่าเราต้องดูแลเขาเป็นพิเศษ เขาเป็นบุคคลสาธารณะไปแล้ว เราจะพยายามเน้นเป็นพิเศษเรื่องกิริยามารยาท จากเมื่อก่อนที่ว่าเราอาจจะดูแลเขาเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไป แต่วันหนึ่งที่เขามาสตรีมแล้วเขามีชื่อเสียง เราต้องดูแลเป็น 2 เท่า พยายามไม่ให้คนอื่นมาว่าลูกเราได้ และพยายามสอนให้เต็มที่ที่สุด”

คำแนะนำถึงผู้ปกครองที่มีลูกเล่นเกม

“ผมว่าเกมกับเด็กเป็นอะไรที่คู่กัน เกมมันเป็นของเล่นของเด็กสมัยนี้ไปแล้ว ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่เกมเลยครับปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การดูแลเอาใจใส่บุตรหลานมากกว่า การมีเวลาให้กันและกันของครอบครัว สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่า ปัจจัยหลักมันไม่ใช่เกม เกมมันเป็นแค่ปัจจัยรองแบบห่าง ๆ ด้วยซ้ำ อย่าไปกลัวเกมเลยครับ”

เห็นไหมคะว่า เกมอาจไม่ใช่ตัวร้ายในชีวิตจริงเสมอไป หากว่าเรารู้จักเล่นให้เหมาะสม อย่างที่คุณพ่อหมีและครอบครัวคอยดูแลเอาใจใส่น้องนะโมอยู่เสมอ เพราะเกมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้เวลาว่างเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะทำอะไร หากทำอย่างพอเหมาะก็ย่อมมีประโยชน์อย่างแน่นอนค่ะ

พี่ ๆ คนไหนอยากติดตามชมความน่ารักของน้องนะโม สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กเพจ เกรียนเมอร์ ได้เลยค่ะ รับรองว่าจะตกหลุมรักสตรีมเมอร์หน้ามนคนจิ๋วคนนี้อย่างแน่นอน..

.

ความเห็น 33
  • tookatoo
    เกมส์ไม่ได้ร้ายหรอกที่ร้ายคือเล่นไม่รู้จักเวลา ว่าควรจะทำอะไร
    13 พ.ค. 2564 เวลา 01.13 น.
  • BEN1990
    ทุกอยา่งถ้าเราเลือกด้านดีๆ มันก็ให้ผลดีครับ
    10 พ.ค. 2564 เวลา 02.24 น.
  • Charnchon
    เกมที่เลือกมาเล่นให้มันเหมาะสมกับเด็กก็ดีครับ ยิงยิงฆ่าๆแบบนี้เด็กเล็กเกินไปมันไม่เหมาะ
    11 เม.ย. 2564 เวลา 21.43 น.
  • ผมนี่แหละส่งดาว 😍😍😍
    03 เม.ย. 2564 เวลา 09.39 น.
  • ต้าว ควาย
    ก็ให้​มันเล่นไปถ้ามันดี​ เล่นแพ้อย่าก้าวร้าว​ อารมณ์​รุนแรง​ละ​
    03 เม.ย. 2564 เวลา 08.30 น.
ดูทั้งหมด