ไลฟ์สไตล์

10 ความยึดมั่นที่ทุบทำลายความสุขของคนเรา | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์
เผยแพร่ 09 ก.ย 2562 เวลา 07.58 น.

1. ยึดในร่างกาย และวัตถุของตน 

คือความยึดมั่นถือมั่นในก้อนธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ในสสาร จนเกิดความเข้าใจผิดว่านี่คือร่างกายของตน คือความเสื่อม ความแก่ชรา ความเจ็บ และความตายของตน ยึดว่าของสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของๆ ตนเช่น นี่คือบ้านของตน เงินทองของตน แผ่นดินแห่งนี้คือโรงเรียนของตน สถานที่แห่งนี้คือที่ทำงานของตนเป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2. ยึดในตัวบุคคล 

คือการเชื่อมโยงสมมุติว่ามีตัวเราเข้ากับสมมุติว่ามีตัวเขา เช่นยึดว่านี่คือคนรักของฉัน คือพ่อแม่ ลูก เพื่อน คืออาจารย์ของฉัน ความยึดในตัวบุคคลนี้นำไปสู่การแยกตนเองออกจากองค์รวมของโลก ทำให้ใจเข้าไปยึดบุคคลเป็นรายๆ ไป เกิดความเข้าใจผิดคิดไปเองว่า เขาเป็นของๆ เรา และเขาควรทำให้เรารู้สึกพอใจ

3. ยึดในมายาคติของภาพลักษณ์ชื่อเสียง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คือการส่งใจไปผูกติดกับนามธรรมที่มองไม่เห็น ต้องการให้นามธรรมนั้นเข้ามายังศูนย์รวมตนที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับอัตตา คือแนวความคิดที่ว่า บุคคลอื่นจะต้องคิดกับตนในแบบที่ตนอยากให้เห็น อยากให้รู้สึก เมื่อได้รับการตอบสนอง ก็เกิดความรู้สึกพอใจ แล้วความพอใจนั้นก็พอกมายาสมมุติให้หนาแน่นขึ้น เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ก็เกิดความไม่พอใจ แล้วความไม่พอใจนั้นก็กลับมาสร้างความทุกข์ให้อีกที

4. ยึดในตัณหาของตน 

คือยึดในความอยากมีอยากได้อยากเป็น ยึดว่าฉันจะเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ฉันไม่อยากเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำให้พลาดไปจากการเห็นตนเองในปัจจุบันขณะ เมื่อหวนนึกว่าตนเป็นอะไรในอดีต และมโนภาพว่าอยากเป็นอะไรในอนาคต ย่อมพลาดไปจากความเห็นสำคัญว่า แท้จริงแล้วตนไม่ได้เป็นอะไรๆ ทั้งนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

5. ยึดในอารมณ์ของตน 

คือยึดในความพอใจ ไม่พอใจของตน ยึดว่าฉันมีความสุข มีความทุกข์ ฉันโกรธ ฉันเหงา ฉันมีความรัก โดยไม่ตระหนักว่าอารมณ์และความรู้สึกทั้งหมด เป็นเพียงกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่สิ่งมั่นคงถาวร

6. ยึดในอุดมคติของตน 

คือยึดความถูกต้อง ยึดถือความดีงามตามที่ตนคิดว่าเป็นสิ่งสมควร และปฏิเสธสิ่งที่อยู่นอกเหนืออุดมคติของตน สงครามระดับประเทศ และความขัดแย้งในบุคคลและครอบครัว ล้วนถือกำเนิดจากความยึดติดประเภทนี้ทั้งสิ้น

7. ยึดในความสงบของตน 

คือการพยายามรักษาความสุข ความสงบใจเอาไว้ไม่ให้เสื่อม เมื่อรักษาไม่ได้ จึงเกิดความขุ่นมัวในจิต

8. ยึดในประสบการณ์เก่า และความทรงจำ 

คือการแปรความหมายไปตามสิ่งที่ตนจำได้ เช่นจำได้ว่า นี่คือหน้าตาของโต๊ะ คือเสียงของระเบิด คือรสชาติของส้ม เมื่อยึดติดกับความจำ จึงทำให้เกิดการตั้งค่า ให้ราคา ทำให้เกิดการตีความ ว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ไม่ดี ทั้งที่สิ่งต่างๆ มีค่าเป็นกลาง นั่นคือว่างจากความดีและไม่ดี ว่างจากความสว่างและความมืด เมื่อการให้ราคาเกิดขึ้น มายาสมมุติและกิเลสอื่นๆ จึงเกิดขึ้นตามมา อีกนัยหนึ่งคือความยึดติดในตำรา ยึดในวิชาความรู้ที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียน นำไปสู่การปิดกั้นสติปัญญา ทำลายสัญชาติญาณแห่งการตื่นรู้ เพราะฝังตัวอยู่กับระบบภาษา ตรรกะ ความจำ หลักวิชาการ ฝังตนไว้กับการวิเคราะห์ทางความคิด ไม่อาจเท่าทันต่อการเคลื่อนไหวในจิตปัจจุบันได้เลย

9. ยึดในเวลา

คือความเข้าใจผิด คิดว่าเวลามีสามวาระ คืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งที่เวลาที่แท้จริงมีเพียงวาระเดียวเท่านั้นปัจจุบัน อดีตเกิดจากความจำ ส่วนอนาคตเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ทั้งอดีตและอนาคตจึงไม่มีจริง สิ่งที่มีจริงมีเพียงปัจจุบันจิต ที่เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา

10. ยึดในตัวตนของตนเอง

คือการสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวตนอยู่บนโลก ไม่เข้าใจกระบวนการปรุงแต่ง เชื่อมโยง จนเกิดเป็นอัตตาตัวตน เมื่อไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองแล้ว ชีวิตทั้งชีวิตจึงถูกใช้ไปเพื่อสร้างตัวตนสมมุติให้แข็งแรงขึ้น นานวันเข้า จึงกลับสู่ความจริงแห่งการไร้ตัวตนได้ยาก ยิ่งมีสมมุติว่าตนเองประเสริฐเลิศเลอเท่าไหร่ ความเป็นสมมุติยิ่งแน่นหนาเท่านั้น

ท่านทั้งหลาย ความยึดติด 10 ประการนี้ แม้ใครยึดมากก็ทุกข์มาก แม้ใครยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ขอให้ท่านจงสังเกตชีวิตของตนเองให้ดีว่า ทุกวันนี้ท่านกำลังใช้ชีวิตเพื่อเพิ่มความยึดมั่น หรือทำลายความยึดมั่น ขอให้ทุกท่านรู้ว่า ความยึดมั่นนี้ได้ก่อร่างสร้างตัวมาหลายภพชาติแล้ว นับวันยิ่งหนาแน่นมากขึ้น

จนถึงวันนี้ความยึดหลายอย่าง อาจเป็นความถูกต้องชอบธรรมในสายตาของท่านไปแล้ว สิ่งที่ไม่ใช่ อาจเป็นสิ่งที่ใช่ ส่วนสิ่งที่ใช่ อาจเป็นสิ่งที่ท่านมองยังไงก็ไม่ใช่ เพราะโลกนี้มีไว้ให้ดู มิใช่เป็น จงทำเพื่อทำ รักเพื่อรัก ทำความเข้าใจกับตนเองให้ดีว่า อะไรคือสมมุติ อะไรคือความจริง เปลี่ยนความคิดของท่านให้ถูกตรงก่อน แล้วจึงเคลื่อนความถูกตรงนั้นเข้าสู่จิตใต้สำนึก หมั่นทบทวนวาระจิตซ้ำ ๆ ด้วยวิถีแห่งการภาวนา จนความเข้าใจนี้เคลื่อนเข้าสู่จิตวิญญาณ ทะลุจิตวิญญาณเคลื่อนเข้าสู่ความตื่นรู้อันเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง หนทางดับทุกข์ไม่มีอื่นใด นอกจากเส้นทางนี้เท่านั้น!

ความเห็น 16
  • Weirdo
    ทุกคนรู้แต่หาได้ฝึกปฎิบัติได้
    09 ก.ย 2562 เวลา 10.32 น.
  • ตราบใดที่ไม่กล้าเผชิญกับในความเป็นจริงเพื่อที่จะแก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว ก็ย่อมที่จะทำให้จิตใจนั้นเป็นทุกข์.
    09 ก.ย 2562 เวลา 10.27 น.
  • T.cho
    ส่วนตัวมองว่า คนเรามันต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยว ในระดับหนึ่งเพียงแต่อย่าตัวกรูของกรู ถึงเวลาเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน ถึงเวลาไปก็ต้องไป ไม่ยึดติด ตอนเวลาใช่ก็ใช่ เหมือนดูหนังชีวิตผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
    09 ก.ย 2562 เวลา 23.18 น.
  • ถ้าไม่ให้ยึดติดความดีความถูกต้องแล้วจะให้เขายึดอะไรเพราะคนที่เขายึดติดความดีความถูกต้องได้นั้นเขามีวุฒิภาวะทางความคิดมากพอเขาจะปฏิเสธสิ่งไม่ดีแค่นั้นเอง
    09 ก.ย 2562 เวลา 13.49 น.
  • ขอบคุณบทความ ขอเพิ่มเติมครับ ยึดติดในความรู้ของตัวเอง ยึดติดในเวลาที่ผ่านมาแล้ว
    09 ก.ย 2562 เวลา 13.42 น.
ดูทั้งหมด