ไลฟ์สไตล์

ทำไมโปรตุเกสเป็นยุโรปชาติแรกที่ตั้งถิ่นในสยาม สู่อิทธิพลการทหาร-การค้า-ศาสนา

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 25 พ.ย. 2565 เวลา 04.51 น. • เผยแพร่ 24 พ.ย. 2565 เวลา 23.02 น.
ภาพ “ยูเดีย” (อาณาจักรอยุธยา) วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาเจริญไมตรีกับสยาม หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาวสยามกับชาวโปรตุเกสทั้งในด้านการสงครามและการศาสนา หลักฐานเหล่านี้ปรากฏอยู่ในบันทึกของชาวโปรตุเกสอย่างแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต( Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) และบาทหลวงอันโตนิโอ ปินโต (Antonio Pinto ค.ศ.1664-1696)

หากพูดถึงการติดต่อระหว่างสยามกับโปรตุเกสในช่วงแรกเริ่มนั้น กัสปาร์ กอไรญา (Gasper Correira) ระบุไว้ว่า สยามกับโปรตุเกสเริ่มติดต่อตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ อุปราชรัฐโปรตุเกสแห่งอินเดีย ผู้พิชิตเมืองมะละกาส่งดูอาร์เต เฟร์นันเดซ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์เมืองสยาม เชื่อว่ารู้จักอยุธยาผ่านทางมะละกา การสร้างสัมพันธ์ช่วงแรกก็ไม่ได้ตั้งใจสานสัมพันธ์ทางการทูตหรือการค้า แต่เกิดจากเหตุการณ์สงครามที่โปรตุเกสมีต่อรัฐในอารักขาของอยุธยา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม ชาวโปรตุเกสไม่ใช่ชาติแรกที่เข้ามาในสยาม แต่นักประวัติศาสตร์บ่งชี้ตามหลักฐานว่า ชาวโปรตุเกสเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอยุธยาและสร้างสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสยาม

ในเอกสารโปรตุเกสที่พูดถึงชาวสยามนั้นก็มีข้อความไม่มากนักที่พูดถึงสยาม เอกสารจดหมายรายงานของรุย ดือ บริตู (Rui de Brito) ชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาตะวันออกไกลปลายศตวรรษที่ 15 ไปถึงอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Abuquerque) บรรยายไว้ว่า “เจ้าผู้ปกครองเมืองอาณาจักสยามมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารีและปกครองคนหมู่มาก ทั้งมีดินแดนในพระราชอำนาจมากมายที่ติดกับทะเล”

เอกสารที่เชื่อว่าเป็นเอกสารโปรตุเกสฉบับแรกที่เกี่ยวกับสยามก็คือ จดหมายของรุยที่มีถึงอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจติดต่อการค้าและการยุทธ์ในสยาม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ อธิบายเรื่องเหตุผลที่ชาวโปรตุเกสเข้ามาในสยามเป็นชาติแรกไว้ในบทความเรื่อง “มิสซังในอดีต…สู่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ”

ใจความส่วนหนึ่งมีว่า

“ในศตวรรษที่ 14 และ 15 แขกมุสลิม หรือพวกเติร์ก (Turk) กำลังมีอำนาจมากและรุกรานยุโรป และเมื่อเมืองสำคัญ เช่น Constantinople ถูกตีแตกในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 (พ.ศ. 1996) ชาวยุโรปและพระศาสนจักรเองก็เริ่มกลัวกันว่า ยุโรปจะรอดพ้นมือของพวกเติร์กหรือไม่ในยุโรป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตอนนั้นก็มีเพียงประเทศ 2 ประเทศที่มีอำนาจและเข้มแข็งเพียงพอที่จะต้านทานการรุกรานของพวกแขกมุสลิมได้ ได้แก่ โปรตุเกสและสเปน นอกจากมีอำนาจและกำลังเพียงพอแล้ว ยังมีความก้าวหน้าในการสำรวจดินแดนใหม่ๆ อีกด้วย กษัตริย์ของทั้ง 2 ประเทศ (ซึ่งเป็นประเทศคริสตัง) ต่างก็ขออำนาจจากพระสันตะปาปา ที่จะทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อไปยังดินแดนที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ เหล่านั้น บรรดาพระสันตะปาปาในสมัยนั้น ต่างก็เห็นถึงประโยชน์ทั้งด้านวิญญาณและด้านวัตถุด้วย ก็ได้มอบสิทธิพิเศษมากมายแก่พวกนักสำรวจของโปรตุเกส และสเปน และมอบหมายให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ทำหน้าที่เผยแพร่ความเชื่อในลักษณะเช่นนี้…

โปรตุเกสและสเปนต่างก็เป็นมหาอำนาจด้วยกันทั้งคู่ในสมัยนั้น เพื่อมิให้ทะเลาะวิวาทและบาดหมางกันเอง โลกใบนี้ก็กว้างใหญ่ พระสันตะปาปา Alexander VI จึงได้ออกกฤษฎีกา Inter Caetera วันที่ 3 พฤษภาคม 1493 (พ.ศ. 2036) แบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก โดยการขีดเส้นจากขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง ซีกโลกด้านตะวันตกมอบให้สเปน, ด้านตะวันออกมอบให้โปรตุเกส”

แต่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ถกเถียงกันกว้างขวางย่อมเป็นเอกสาร“บันทึกความทรงจำของแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต” โดยแฟร์เนา เมนเดซ ปินโต (Fernão Mendez Pinto ค.ศ.1509-1583) นักเดินทางที่มีประวัติเบื้องต้นค่อนข้างโลดโผน จากข้อมูลของเอกสารอธิบายว่า เขาเข้ามาในสยาม 2 ครั้ง ครั้งแรก ก่อนค.ศ. 1548 และครั้งที่ 2 ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่หลังจากตรวจสอบข้อมูลในเอกสารก็มีนักประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ศักราชซึ่งคลาดเคลื่อนออกไป

ในด้านการทูตเพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกเรียกได้ว่าเป็นชื่อดูอาร์เต โคเอโย (Duarte Coelho) ในช่วงพ.ศ. 2059

เมื่อเอ่ยถึงแหล่งที่อยู่ของชาวโปรตุเกสในสยาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีที่ศึกษาเรื่องชาวค่ายโปรตุเกสในสยามอย่างปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ผู้เคยทำงานกองโบราณคดี กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2527 บรรยายว่า หมู่บ้านโปรตุเกสกำเนิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2083 ตามพระบรมราชโองการฯ ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกส 120 คน ถือเป็นบำเหน็จการทำความดีความชอบจากการเข้าร่วมรบในสงครามเชียงกรานจนได้รับชัยชนะ

แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เชื่อว่า ชาวโปรตุเกสก็เริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนเพื่อทำการค้าในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แล้ว หลังจากที่ดูอาร์เต โคเอโย ทำสัญญาได้เป็นผลสำเร็จ ชาวโปรตุเกสก็รับภาระสำคัญอีกประการในกองทัพคือจัดหาอาวุธพร้อมกับฝึกหัดการใช้งาน ขณะที่พระเจ้าแผ่นดินสยามพระราชทานพระราชานุญาตให้ชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานและค้าขายในประเทศได้รวมทั้งให้อิสระในการนับถือศาสนา สามารถสร้างไม้กางเขนไว้กลางเมือง อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่าด้วยอุปสรรคด้านภาษาทำให้การเผยแผ่ศาสนาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

เมื่อถึงช่วงทรงทำสงครามกับเมืองเชียงใหม่ การรบก็ได้ประโยชน์จากทหารอาสาโปรตุเกส และปราบทัพเชียงใหม่อย่างราบคาบ แต่ในช่วงเวลนั้น นักวิชาการเชื่อกันว่า พม่าเองก็มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาพร้อมรับจ้างรบให้กับทุกฝ่ายที่สามารถจ้างได้

การรบระหว่างสยามกับเชียงใหม่มีปรากฏในบันทึกของปินโต โดยการรบกับเชียงใหม่ใน ปี ค.ศ. 1548 (พ.ศ. 2088) เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในเอกสารของปินโต แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทำให้มองได้ว่าข้อมูลในเรื่องเล่าน่าจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงอยู่มาก

ขณะที่สงครามกับเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ซึ่งบันทึกของปินโตระบุปีคือ ค.ศ. 1548 (พ.ศ. 2091) อันเป็นปีที่คลาดเคลื่อนจากพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาที่บรรยายศึกเมืองเชียงกรานเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1538 (พ.ศ. 2081)

พิทยะ ศรีวัฒนสาร นักวิชาการที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสอธิบายเนื้อหาในบันทึกของปินโตซึ่งบอกเล่าว่า กษัตริย์สยามให้คำมั่นสัญญากับชาวต่างชาติทุกแห่งที่ร่วมรบด้วยจะได้รับรางวัล การยกย่อง ผลประโยชน์ ได้รับอนุญาตให้สร้างศาสนสถานในแผ่นดินสยามได้ แต่ส่วนหนึ่งปินโต ก็เขียนในทำนองว่า การรบครั้งนี้มีสภาพเหมือนถูกเกณฑ์แบบกลายๆ กล่าวคือ หากไม่ให้ความร่วมมือจะถูกขับออกภายใน 3 วัน จึงทำให้มีชาวโปรตุเกส 120 คน จาก 130 คนร่วมรบ

บันทึกของปินโต ยังเล่าถึงเหตุการณ์หลังสงครามที่บอกว่า สมเด็จพระไชยราชาเสด็จสวรรคตเพราะทรงถูกวางยาพิษ โดยผู้ลงมือคือพระมเหสีของพระองค์ที่สมคบกับออกขุนชินราช เมื่อพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของสมเด็จพระไชยราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ ทั้งสองก็ลอบวางยาพิษพระมหากษัตริย์พระองค์น้อยและขึ้นครองราชย์แทน ไม่กี่เดือนต่อมา พระมหากษัตริย์และพระมเหสีก็ถูกปลงพระชนม์โดยออกญาพิษณุโลก เหล่าขุนนางก็ถวายราชสมบัติแด่พระอนุชาต่างมารดาของสมเด็จพระไชยราชา ซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุหลายพรรษา

หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชา สยามเริ่มตกอยู่สภาพสั่นคลอนกระทั่งพ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐา ปีต่อมาพม่าก็เข้าโจมตีและล้อมสยาม ศึกครานั้นมีทหารโปรตุเกสที่ป้องกันเมืองนำมาโดยดิโอโก้ เปอไรร่า (Diogo Pereira) พร้อมทหารโปรตุเกสประมาณ 50 นาย ขณะที่พ่อค้าโปรตุเกสก็มักต้องร่วมรบด้วยหลายครั้งเพื่อเอาใจกษัตริย์และยังเป็นการป้องกันทรัพย์สินของตัวเอง

ในช่วงพ.ศ. 2147 เป็นต้นมาชาวยุโรปก็เข้ามามากขึ้นหลังกรุงศรีอยุธยาเริ่มมั่งคั่งมากขึ้น ชาวยุโรปที่เข้ามาก็อาศัยชาวโปรตุเกสที่ตั้งถิ่นฐานมาก่อนหน้าช่วยให้ความรู้และช่วยทำความเข้าใจด้านภาษา อาชีพที่สำคัญของชาวโปรตุเกสอีกประการในช่วงนั้นก็คือล่าม นักโบราณคดีคาดว่า ภาษาโปรตุเกสเองก็แพร่หลายในราชสำนัก พระราชวงศ์ และขุนนางก็พอจะใช้ภาษาโปรตุเกสได้

จะเห็นได้ว่าบทบาทของชาวโปรตุเกสในสยามจะมีหลากหลายทั้งทางทหาร การค้า แต่อำนาจของชาวโปรตุเกสในสยามลดลงในช่วงที่ฮอลันดาและอังกฤษซึ่งมีอิทธิพลมากขึ้นในยุคนั้นเริ่มเข้ามา นักโบราณคดีเชื่อกันว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาในยุคนั้นก็มีสภาพกระทบกระทั่งกันเองเป็นบางคราวจากสาเหตุด้านการเมือง และศาสนา เนื่องจากชาวอังกฤษและฮอลันดานับถือคริสต์ศาสนา นิกายโปรแตสแตนท์ ส่วนโปรตุเกสนับถือนิกายคาทอลิค

ชาวโปรตุเกสก็จำเป็นต้องดิ้นรนมากขึ้น หลังมีแนวโน้มว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดปรานชนชาติอื่นมากกว่า พ.ศ. 2152 คณะสงฆ์นิกายเยซูอิตเดินทางมาสมทบในค่ายของโปรตุเกส เป็นกลุ่มเชี่ยวชาญเรื่องวิทยาการสมัยใหม่อย่างเช่นการคำนวณ พวกเขาเห็นว่าศาสนาไม่สามารถรักษาเสถียรภาพได้มั่นคง ก็เริ่มเข้าหาฐานขุนนางโปรตุเกสให้สนับสนุนกลุ่มบาทหลวงให้เป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดินด้านการนโยบายต่างประเทศและวิทยาการสมัยใหม่จากยุโรป

เป็นที่ทราบกันว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามหลายพระองค์เชื่อใจทหารรับจ้างโปรตุเกส นายทหารหลายรายได้รับตำแหน่งสูงในกองทัพและราชสำนัก หลังกรุงแตกในพ.ศ. 2112 มีหลักฐานว่าชาวโปรตุเกสเสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน และมีตกเป็นเชลยอีกจำนวนหนึ่ง

ในจดหมายเหตุของบาทหลวงปินโต พระราชพงศาวดารไทย และปูมโหร ยังมีบันทึกถึงเหตุการณ์การตายในช่วง พ.ศ. 2239 โดยเล่าว่า เกิดไข้ทรพิษระบาด ผู้คนล้มตายกันมาก คนตายทั่วพระราชอาณาจักรเกือบ 8 หมื่นคน พื้นที่วัดไม่มีที่ฝังศพจนศพเกลื่อนกลาดตามทุ่งนา วัดที่อยู่ใกล้กับโรงเรียนของชาวต่างชาติก็ฝังศพแล้ว 4,200 ศพ เมื่อมีการขุดแต่งโบราณสถานบ้านนักบุญเปโตร ในหมู่บ้านโปรตุเกส ก็พบโครงกระดูกจำนวนมากนอนเรียงรายเป็นระเบียบอย่างแน่นหนาในชั้นดิน

สำหรับโบสถ์ในหมู่บ้านโปรตุเกส ปรากฏหลักฐานในเอกสารหลายฉบับ คือ บันทึกของแกมป์เฟอร์ (Kaempfer) ที่กล่าวถึงการตั้งหมู่บ้านของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยาว่า “ทางทิศใต้มีหนทางแคบๆ ลงสู่แม่น้ำ ชาวดัทช์ตั้งโรงงานและร้านค้าที่หรูหรา สะดวกสบายบนพื้นที่แห้ง ต่ำลงไปอีกนิดบนฝั่งเดียวกันนั้น มีหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น พะโค และมะละกา ฝั่งตรงข้ามมีชาวโปรตุเกสที่เกิดจากชนพื้นเมือง ถัดออกไปเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์โดมิงโก เป็นคณะบาทหลวงชาวโดมินิกัน ด้านหลังโบสถ์เล็กๆ อีกหลังหนึ่งชื่อเซนต์ออสติน เป็นของบาทหลวง 2 ท่าน ไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก มีโบสถ์เยซูอิตชื่อเซนต์พอลซึ่งเลียนแบบมาจากโบสถ์ใหญ่ในเมืองกัว”

ในจดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ของบาทหลวงกีร์ ตาชาร์ด ก็มีบันทึกใจความว่า “ที่กรุงสยามนั้นมีวัดโปรตุเกส ประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากกว่าสี่พันคน วัดทั้งสองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่งเมืองมะละกา”

และแผนที่จากจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนในปี พ.ศ. 2230 ได้แสดงอาณาบริเวณของค่ายโปรตุเกสและแสดงขอบเขตตำแหน่งของโบสถ์ 2 หลัง อธิบายว่า

“The Portuguese Jacobins (Jacobin เป็นภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษว่าโดมินิกัน) อยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านญี่ปุ่น The Portuguese Jesuits อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน”

ขณะที่กรุงแตกอีกครั้งในพ.ศ. 2310 ก็เป็นจุดจบความเป็นอยู่ที่ผสมกลมกลืนกับไทยซึ่งดำเนินมายาวนานเกือบ 300 ปีลงไปพร้อมกับกรุงศรีอยุธยา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!!สมัครสมาชิกคลิกที่นี่**

อ้างอิง :

Seabra, Leonor. “Macao and Siam (Thailand) : Relation in the Seventeenth and Eighteenth Centuries” in Review of the Culture, No 19, 2nd serie (April-June 1994) pp. 47-62. แปลโดย ปรีดี พิศภูมิวิถี ใน กระดานทอง สองแผ่นดิน

ปรีดี พิศภูมิวิถี. กระดานทอง สองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.

ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์. “ศาสนาและความเป็นตายของชาวค่ายโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา”. ใน ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2527.

พิทยะ ศรีวัฒนสาร. “395 ปี บันทึกของปินโต : หลักฐานประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือนิยายผจญภัย”. ใน Facebook / Bro Bidya. ออนไลน์. เผยแพร่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554. เข้าถึง 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562.

สำนักบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “สมมติฐานใหม่ที่ “บ้านโปรตุเกส” วัดโดมินิกัน ข้อมูลที่ด่วนสรุป?”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2548. ออนไลน์เผยแพร่เมื่อ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2560.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 สิงหาคม 2562

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • JkBesT
    ยาวมาก ให้AIอ่านให้ฟังดีกว่า
    13 มิ.ย. 2563 เวลา 04.16 น.
  • James Jitt
    ก็ว่ากันไปตามหลักฐานลมๆแล้งๆ
    20 ส.ค. 2562 เวลา 04.27 น.
ดูทั้งหมด