ไลฟ์สไตล์

ซาร์ส และการ 'ปิดข่าว' ครั้งใหญ่ แผลในใจที่จีนลืมไม่ลง

The MATTER
อัพเดต 29 ม.ค. 2563 เวลา 08.04 น. • เผยแพร่ 29 ม.ค. 2563 เวลา 03.36 น. • Thinkers

21 มกราคม หนึ่งวันหลังจากคณะกรรมการสาธารณสุขชาติแห่งจีน ประกาศว่า 'โคโรนาไวรัส 2019' สามารถแพร่ระบาดจาก 'คนสู่คน' แอคเคาท์โซเชียลมีเดียรัฐบาลในเว็บไซต์ WeChat ก็ขึ้นข้อความตักเตือนทันที

น่าสนใจก็ตรงที่ว่า 'ข้อความเตือน' ที่ขึ้นนั้น ไม่ใช่เพื่อลดความ 'หวาดกลัว' ของผู้คนในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และชาวจีนทั่วไปเท่านั้น แต่ยัง 'เตือน' เจ้าหน้าที่รัฐระดับมณฑล ระดับเมือง และระดับท้องถิ่น ว่าใครก็ตามที่จงใจปกปิดข้อมูลการระบาด จะต้องอับอายกับบาปที่ได้กระทำ และจะต้องถูกตรึงบนเสาแห่งความอับอายไปชั่วกัลป์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ข้อความที่สาปแช่งอย่างรุนแรงแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน เรื่องนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ต้องย้อนหลังกลับไปเมื่อ 17 ปีก่อน ในวันที่จีน ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง ไม่มีนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ ไม่มีโครงการ Belt and Road และไม่มี 'ทัวร์จีน' มากขนาดนี้

1

2 พฤศจิกายน ค.ศ.2002 มีผู้ติดโรคซาร์สเป็นคนแรก เป็นชาวนาที่เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง ไม่ไกลจากชายแดนฮ่องกง หลังติดเชื้อ คนไข้เสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและโรงพยาบาลในกวางตุ้ง รู้ดีว่ากำลังเผชิญกับ 'โรคระบาด' ชนิดใหม่ เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนา ซึ่งทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง ผู้ป่วยมีไข้สูง รวมถึงมีอาการติดเชื้อที่ปอด และทางเดินหายใจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เลือกที่จะปิดข่าวการแพร่ระบาดของโรคร้ายโรคใหม่นี้ ด้วยเชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่ภายในมณฑลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ แม้จะไม่มีข้อมูลมากพอว่าเชื้อไวรัสนั้นมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร แพร่ระบาดอย่างไร และจะรักษาด้วยวิธีไหน

หลังผ่านพ้นปีใหม่ ค.ศ.2003 มาไม่นาน โจว พ่อค้าปลา เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลซุนยัดเซ็น ในเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ด้วยอาการไข้สูง แม้จะไม่มีการระบุชัดเจนว่าเขาป่วยด้วยโรคอะไร แต่โจวได้รับการขนานนามในภายหลังว่าเขาเป็น 'Super Spreader' หรือผู้ป่วยที่แพร่เชื้อต่อมหาศาล หลังจากโจว เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น เขาได้แพร่เชื้อต่อไปยังหมอ - พยาบาล รวมอีก 30 คน

ในเวลานั้น รัฐบาลจีนเริ่มได้กลิ่นแล้วว่ามีการแพร่ระบาดทางตอนใต้ของประเทศ แต่ยังเชื่อเหมือนเดิมว่าจะเอาอยู่ และหากสร้างความหวาดวิตก ภายในหมู่คนจีน อาจกระทบกับเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะโตมากกว่า 12.2%

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

2

แม้รัฐบาลจีนเลือกที่จะปิดข่าว แต่หน่วยงาน 'ข่าวกรอง' ด้านสุขภาพของแคนาดาได้กลิ่นผิดปกติบางอย่าง ปลายเดือนพฤศจิกายนหลังมีการรายงานการเสียชีวิตด้วยเหตุประหลาด แคนาดาได้แจ้งไปยังองค์การอนามัยโลกว่าอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่เมืองกวางโจว องค์การอนามัยโลกขอข้อมูลซ้ำไปยังรัฐบาลจีน 2 ครั้ง ในวันที่ 5 ธันวาคม และ 11 ธันวาคม ​แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

กว่าที่องค์การอนามัยโลกจะได้รับแจ้งจาก

รัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการ ก็ปาเข้าไป 3 เดือน

หลังจากนั้น เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 หลังจากผ่านพ้นเทศกาลตรุษจีนไปเล็กน้อย จีนแจ้งว่ามีรายงานการติดเชื้อซาร์สกว่า 305 เคสในเมืองกวางโจว โดยในจำนวนนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อมากกว่า 105 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นการประเมินที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ดี เพราะตัวเลขในมือพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อซาร์สนั้น มากกว่า 806 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 34 รายเข้าไปแล้ว และที่สำคัญก็คือจีนไม่สามารถจำกัดวงโรคซาร์สให้อยู่ในเมืองกวางโจวได้ แต่โรคนี้ ได้ข้ามแดนไปยังฮ่องกง แล้ว ไม่ใช่จากใครอื่น แต่มาจาก หลิว หมอที่รักษาพ่อค้าปลาในโรงพยาบาลที่เมืองกวางโจวนั่นเอง

3

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2003 หลิวเข้าเช็คอินที่โรงแรมแห่งหนึ่งบนฝั่งเกาลูน จากระบบป้องกันการติดเชื้อที่ต่ำของโรงแรมในเวลานั้น ทำให้แขกของโรงแรมอีกกว่า 23 คน ติดเชื้อซาร์สจากหลิว ก่อนที่เขาจะเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตในวันที่ 4 มี.ค. อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า 80% ของผู้ติดเชื้อบนเกาะฮ่องกงนั้น มาจาก หลิว เพียงคนเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ยายของหลิว ซึ่งพักในโรงแรมเดียวกัน ยังพาเชื้อซาร์สข้ามทวีป ไปแพร่ต่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่โตรอนโต แคนาดา ส่วนเฉิน นักธุรกิจเชื้อสายจีน - อเมริกัน ซึ่งพักอยู่ห้องตรงข้ามหลิว ก็เดินทางต่อไปยังฮานอย ประเทศเวียดนาม และพาเชื้อซาร์ส ไปติดบุคลากรทางการแพทย์อีกกว่า 38 คน รวมถึง คาร์โล เออบานี (Carlo Urbani) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคติดต่อขององค์การอนามัยโลกชาวอิตาลี ซึ่งเป็นแพทย์ผู้รักษาเฉิน ก็ติดเชื้อนี้ด้วย

หมอคาร์โล กลายเป็นผู้ที่แจ้งข้อมูลอันมีค่าให้กับองค์การอนามัยโลก ให้ตื่นตัวกับโรคซาร์ส และแนะนำไปยังกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามให้ตั้งระบบคัดแยกแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเฉินในห้องกักกันโรค รวมถึงเซ็ตระบบคัดกรองผู้เดินทางจากฮ่องกง

แต่หลังจากนั้นไม่นาน หมอคาร์โลก็เสียชีวิตด้วยโรคซาร์ส โดยรู้ตัวว่าป่วยระหว่างอยู่บนไฟลท์บินระหว่างเวียดนาม – กรุงเทพฯ พร้อมกับนำตัวเอง แยกจากผู้โดยสารคนอื่นๆ ทันที ทันทีที่เครื่องลงที่สนามบินดอนเมือง เขาก็เข้าไปรักษาในห้องปลอดเชื้อ และเสียชีวิตหลังจากนั้นในเวลาไม่นาน

แขกที่เข้าพักในโรงแรมแห่งนี้อีกหลายคน ยังพาเอาเชื้อไปแพร่ที่ไต้หวันและสิงคโปร์ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่เชื้อซาร์ส ใน 2 ประเทศนี้ น่าเสียดายที่ช่วงเวลานั้น ทั่วโลกยังไม่รู้ว่าซาร์สคืออะไร และต้องรับมือกับโรคระบาดนี้อย่างไร เพราะจีนเพิ่งจะแจ้งองค์การอนามัยโลกล่วงหน้าไม่กี่วันก่อนหน้านั้นเอง…

ปัจจุบัน โรงแรมนี้ในฮ่องกง กลายเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ต้นกำเนิดของการแพร่เชื้อซาร์สไปทั่วโลก แม้จะถูกเปลี่ยนมือเจ้าของ และเปลี่ยนชื่อไปแล้ว

แต่โรงแรมแห่งนี้ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

มีแต่เลขห้องของหลิว ที่เปลี่ยนเป็นเลขห้อง จาก 911 เป็น 913 เท่านั้นเอง…

4

12 มีนาคม ค.ศ.2003 องค์การอนามัยโลก ประกาศว่ามีโรคทางเดินหายใจลึกลับไม่ทราบแหล่งกำเนิด ในเวียดนามและในฮ่องกง รวมถึงได้รับแจ้งว่าพบผู้ต้องสงสัยที่จะติดเชื้อทั้งในสิงคโปร์ จีน และแคนาดา ทั่วเอเชียเริ่มมีการ 'ตรวจไข้' ในสนามบิน ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐบาลไทย ได้เริ่มออกประกาศเตือนให้ 'เลี่ยง' การเดินทางไปยังจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และสิงคโปร์ ณ เวลานั้น ไทยเป็นประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยแม้แต่คนเดียว มีเพียงหมอคาร์โลเท่านั้น เป็นผู้เสียชีวิตรายเดียว

แต่สถานการณ์ทั่วโลก กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ฮ่องกงกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อขนาดใหญ่ อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่งบนฝั่งเกาลูน มีผู้ติดเชื้อซาร์สรวมมากกว่า 321 ราย เมืองใหญ่ของจีนอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ เริ่มพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากทั้งกวางโจว และจากฮ่องกง

ต้นเดือนเมษายน ค.ศ.2003 เจียง หยันหยง แพทย์ทหารและสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ให้สัมภาษณ์ Wall Street Journal ว่ามีการ 'ปิดข่าว' ครั้งมโหฬาร ทั้งการระบาดในปักกิ่ง และการระบาดทั่วจีน โดยเกี่ยวกันกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค รายงานของสื่อต่างชาติกลายเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้นายกเทศมนตรีปักกิ่งลาออกจากตำแหน่ง และ รมว.สาธารณสุขของจีน ต่างก็ลาออกในวันเดียวกัน รัฐบาลจีนเปลี่ยนทิศทางในการจัดการกับโรคซาร์สอย่างเปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น พร้อมกับสร้าง 'โรงพยาบาลสนาม' ขนาดใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อรองรับผู้ป่วยโดยใช้เวลาก่อสร้างเพียงไม่กี่สัปดาห์

แต่นั่นก็ดูเหมือนจะสายไปแล้วเพราะแต่ละวัน มีผู้เสียชีวิตด้วยไวรัสซาร์ส มากขึ้นมากกว่าวันละ 20 – 30 คน ทั่วโลก โดยสิ้นเดือนเมษายน ค.ศ.2003 มีผู้เสียชีวิตรวม 133 คน มีผู้ติดเชื้อกว่า 1,500 คน

5

เวลานั้น ไทยเป็นประเทศเดียวที่ยัง 'เอาอยู่' ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเปิดเวทีประชุมอาเซียนบวกจีนว่าด้วยการจัดการโรคซาร์ส ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีข้อสรุปว่าจะร่วมมือในระดับ 'รัฐบาล' ของแต่ละประเทศมากขึ้น รวมถึงคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าออกนอกประเทศอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อไม่ให้ซาร์สแพร่ข้ามแดนอีก

เพราะในเวลานั้น 'ซาร์ส' เป็นโรคติดต่อข้ามแดนโรคแรกๆ ที่เกิดในภูมิภาค และมีสเกลผู้ป่วยหลักพันคนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่คนข้ามพรมแดน ไปมาหาสู่กันง่ายๆ แน่นอน มาตรการจากซาร์สกลายเป็นรากฐานของการตรวจคัดกรองและกักกันโรค ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่ว่าจะเป็นโรคอีโบล่า เมอร์ส และโคโรนาไวรัส 2019 ในเวลาต่อมา

พร้อมกันนั้น องค์การอนามัยโลก ยังส่งคนไป 'สำรวจ' ที่มา พร้อมกับร่าง 'ไกด์ไลน์' คร่าวๆ จนสามารถยุติการแพร่เชื้อได้ชะงักงัน 1 เดือนหลังจากนั้น หลังจากมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 299 คน ฮ่องกงไม่พบผู้ติดเชื้อซาร์สรายใหม่ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศว่าไม่มีผู้ติดเชื้ออีกต่อไป

ต้นปี ค.ศ. 2004 หลังจากคลื่นลมสงบ

มีการสรุป 'ตัวเลข'​ การระบาดของโรคซาร์ส

โดยจีนเป็นประเทศที่ 'เจ็บหนัก' ที่สุดคือมีผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 349 ราย มีผู้ป่วยรวมมากกว่า 5,328 ราย และทั้งหมดนี้ ฮ่องกงกลายเป็นพื้นที่ที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงสุด คือมากถึง 17% จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนแคนาดานั้น มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 44 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนผู้ป่วย และสิงคโปร์มีผู้เสียชีวิต 33 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนผู้ป่วย เท่ากับไต้หวัน

เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มาตรการควบคุมโรคของฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ต่อโคโรนาไวรัส 2019 จะ 'เข้ม' มากกว่าประเทศอื่น

ที่น่าสังเกตก็คือ ระยะเวลาที่การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าตัวนั้น ล้วนเป็นช่วงเวลาให้หลังการ 'ปิดข่าว' จากรัฐบาลจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้ประเทศปลายทางไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้ถูกวิธี นำไปสู่การติดเชื้อเป็นวงกว้าง และกว่าจะจับทางทัน ไวรัสซาร์สก็กระจายไปทั่วโลก

ประวัติศาสตร์เมื่อ 17 ปีที่แล้ว จึงสอนพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า ไม่ควรทำแบบเดิมซ้ำอีก และหากจะทำผิดพลาดซ้ำด้วยการปล่อยไวรัสแพร่ระบาดไปทั่วโลก ก็คงไม่มีประเทศไหน พร้อมที่จะให้อภัยอีกต่อไป…

อ้างอิงจาก

China’s response to the coronavirus shows what it learned from the Sars cover-up

In Pictures: Hong Kong during the 2003 SARS epidemic

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Diamond
    ตอนนี้เชื้อโรคไวรัสอู่ฮั่นก็ระบาดไปทั่วโลก ตามแผนหยิกเนื้อตัวเองของ สี แล้วนิ ใช้ประชาชนตัวเองเป็นคนแพร่เชื้อ แล้วอีก 2 เดือนถัดมา ประกาศว่าจีนเอาชนะโรคได้แล้ว พร้อมทั้งมียารักษา สงสัยไหม มียารักษา ??? ไหนว่าใครมียารักษาก่อนคนนั้นปล่อยเชื้อไง ไหนกลืนน้ำลายที่ร่วงลงพื้นแล้วหละค่ะ ขณะที่ทั่วโลกเชื้อได้ถูกระบาดไปทั่วคนตายที่อิตาลีเยอะมาก จีนก็แสดงบทพระเอกเอายาไปขายให้และให้คนเขาไปช่วย แผนสูง แต่โป๊ะแตกหางโผล่นะค่ะ
    21 มี.ค. 2563 เวลา 02.25 น.
ดูทั้งหมด