การเมือง

เศรษฐา นั่งนายกคนที่ 30 ลุยแจกเงินดิจิทัล-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 23 ส.ค. 2566 เวลา 04.58 น. • เผยแพร่ 23 ส.ค. 2566 เวลา 02.11 น.
เศรษฐา ทวีสิน

อัพเดตล่าสุด 23 ส.ค.2566 เวลา 09.11 น.

โปรดเกล้าฯ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯคนที่ 30 รัฐบาลผสม 11 พรรค เดินหน้านโยบายด่วน รัฐมนตรีเพื่อไทยคุมกระทรวงเศรษฐกิจ ปักหมุดมาตรการกระตุ้นธุรกิจครึ่งปีหลัง แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เจรจารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปูทางขึ้นค่าแรง 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ฟื้นท่องเที่ยว 3 ล้านล้าน พรรคร่วม 2 ลุง 76 เสียง ยืนกรานเบี้ยผู้สูงอายุต้องถ้วนหน้า ขั้นต่ำ 1,000 บาท ธุรกิจ-อุตสาหกรรมเชื่อมือ คาดเพื่อไทยคุมเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม กลุ่มท่องเที่ยวลุ้นได้รัฐมนตรีจากภูมิใจไทยทำงานต่อเนื่อง “ศุภชัย เจียรวนนท์” ชงปฏิรูปการศึกษา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 เดินหน้ารัฐบาลผสม 11 พรรค “เศรษฐา 1” เตรียมทูลเกล้าฯ ชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามโควตาพรรคร่วมรัฐบาล และรอขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ ให้นายกรัฐมนตรี นำ ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ และแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นับจากวันที่ 22 ส.ค. 66 ไปอีกประมาณ 20-35 วัน

เพื่อไทยคุมกระทรวงเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพรรคเพื่อไทย (พท.) รวมเสียง สส.ได้ 314 เสียง จาก 11 พรรค มีการแบ่งโควตารัฐมนตรีไว้แล้ว ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พรรคเพื่อไทย 141 เสียง รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย 9 ตำแหน่ง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียงรัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง รัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง รัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย รวม 4 ตำแหน่ง เท่ากับโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง ที่ได้ 4 ตำแหน่งเช่นกัน พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง และพรรคประชาชาติ 9 เสียง ได้รัฐมนตรีว่าการพรรคละ 1 ตำแหน่ง

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แจ้งความจำนงว่าขอคุมกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด คือกระทรวงการคลัง พาณิชย์ อุตสาหกรรม และคมนาคม เพื่อเดินหน้าผ่าวิกฤตเศรษฐกิจตามที่ได้หาเสียง และต้องการสร้างผลงานเพื่อฟื้นชื่อเสียงและเครดิตทางการเมืองที่ลดลงจากการจัดตั้งรัฐบาลแบบ “สลายขั้ว” เดิมพันวาระรัฐบาล 4 ปี

เดินหน้านโยบายร้อน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันเดินหน้าแคมเปญ “100 วันเศรษฐา เดินหน้านโยบายเพื่อไทย” ทันที โดยให้ความสำคัญกับการออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ-ธุรกิจครึ่งปีหลัง เริ่มจากนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้าน ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท

และมาตรการลดรายจ่าย เช่น จะออกมติ ครม.เพื่อลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ รถไฟฟ้า พักหนี้ทั้งต้นและดอกเบี้ยเกษตรกร 3 ปี พักหนี้ธุรกิจเฉพาะที่เดือดร้อนจากโควิด เป็นเวลา 3 ปี สนับสนุนและอุดหนุน pico finance เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

รัฐบาลใหม่จะตั้งคณะทำงานเร่งเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายคือ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ คือ 20 บาทตลอดสาย

คู่ขนานกับมาตรการ “เพิ่มรายได้” เช่น รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาท/ไร่/ปี เพิ่มเป็น 30,000 บาท/ไร่/ปี และการจัดหาที่ดินทำกินและออกโฉนด 50 ล้านไร่ เช่น ที่ดินประเภท ส.ป.ก. ประเภทเช่าซื้อ ให้ผู้เช่าซื้อที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือทายาทโดยธรรมจะได้รับโฉนดโดยทันที กรณีบุคคลอื่นที่ได้ที่ดินมาจากผู้เช่าซื้อ หรือจากทายาทโดยธรรมจะได้เอกสารสิทธิ์ และจะต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นที่ และจำกัดรายละไม่เกิน 20 ไร่

ปูทางค่าแรง 600 บาท

เช่นเดียวกับการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ในปี 2570 เติมเงินให้ทุกครัวเรือนมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ด้วยการสร้างรายได้ด้วยนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” โดยสำรวจทุก 6 เดือน

นโยบายเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับพรรคพลังประชารัฐบางส่วน คือตั้งเขตธุรกิจใหม่ (new business zone) สร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่

หากเพื่อไทยได้คุมกระทรวงดีอีเอส หรือต้องส่งผ่านให้พรรคร่วม ก็จะเดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล ให้ทำธุรกรรมจัดเก็บเอกสารทุกอย่างบน blockchain สะดวก โปร่งใส ไม่มีใต้โต๊ะ

ฟื้นท่องเที่ยว 3 ล้านล้าน

แหล่งข่าวระบุว่า นโยบายที่ทุกพรรคร่วมเห็นชอบ คือการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวที่พึ่งเริ่มฟื้นตัวหลังยุคโควิด จากประมาณ 7 แสนล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3 ล้านล้านบาทในปี 2570 โดยมีการปักธงให้ไทย regional transport hub ยกระดับสนามบินนานาชาติให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 120 ล้านคน และมีเป้าหมายเป็น “wellness destination” ของเอเชีย

พร้อมตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของธุรกิจท่องเที่ยว คือการเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อปลดภาระในการขอวีซ่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและยกระดับหนังสือเดินทางไทยให้สามารถเดินทางไปทั่วโลก

พรรค 2 ลุงดันเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า

แหล่งข่าวจากคณะทำงานด้านนโยบายพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าจะเจรจากับพรรคแกนนำให้บรรจุเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุไว้ในการแถลงนโยบาย ซึ่งมีข้อเสนอตามที่ได้หาเสียงไว้ ให้เพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตั้งแต่อายุ 60 ปี เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 5,000 บาทต่อเดือน

สอดคล้องกับนางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า จะผลักดันนโยบายของพรรคไว้ในร่างแถลงนโยบายของรัฐบาล เช่น นโยบายปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนทุกช่วงอายุ และนโยบายเพิ่มวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 1,000 บาต่อเดือน รวมถึงการยื่นแก้ไขกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อย่างไรก็ตาม ต้องหารือกับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก่อน

คาดเพื่อไทยคุมสัมปทานรถไฟฟ้า

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลเพื่อไทย ต้องเรียกคะแนนเสียง หรือความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับมา ประเมินว่า 4 นโยบายเร่งด่วนที่เพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสผลักดันคือ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขึ้นค่าแรงระดับ 600 บาท ยังมีความเป็นไปได้ยาก แต่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท ในปี 2567 มีความเป็นไปได้สูงในไตรมาส 1/2567

และนโยบายแก้ไขเกณฑ์ VISA ของนักท่องเที่ยวจีน จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และมีโอกาสทำให้นักท่องเที่ยวถึงเป้าหมาย 28 ล้านคน และ อาจจะต้องมีการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่ เช่น EU, FTA, NAFTA

นายสรพลวิเคราะห์ด้วยว่า เพื่อไทยจะมีโอกาสได้คุมกระทรวงคมนาคม เชื่อว่า 2 โปรเจ็กต์แรกที่จะดำเนินการคือ 1.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะอนุมัติเลือก บมจ.ช.การช่าง (CK) ในการได้รับสัมปทานมูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเริ่มมีการก่อสร้างในฝั่งตะวันตกและเริ่มเดินรถ และ 2.รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้

ลุ้นภูมิใจไทย ได้กระทรวงท่องเที่ยวฯ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของพรรคเพื่อไทย มีความชัดเจนเรื่องบริหารเศรษฐกิจอยู่แล้ว และถ้าพรรคภูมิใจไทยได้บริหารกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และได้รัฐมนตรีคนเดิมมาทำงานต่อก็น่าจะยิ่งเป็นผลดี เดินหน้าต่อก็จะเดินหน้าได้เร็วขึ้น

เชื่อรัฐบาลใหม่ดันอุตฯรถยนต์ฟื้น

แหล่งข่าวจากผู้ผลิตรถยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทั้งการปรากฏตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับมารับโทษ การโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ น่าจะทำให้ความเชื่อมั่นต่าง ๆ กลับมาดีขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อในช่วงปลายปีนี้ได้ เชื่อว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ และปัญหาด้านการผลิต เชื่อทุกอย่างน่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างแน่นอน

ขณะที่นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลใหม่กำลังจะเข้ามาขับเคลื่อน โดยมาตรการส่งเสริมรถ EV เวอร์ชั่น 3.5 ซึ่งมีรถจีนหลายแบรนด์ ทั้ง ฉางอัน, GAC และ O&J (OMODA&JACCO) กำลังรอรัฐบาลใหม่น่าจะสามารถกลับมารันได้อย่างต่อเนื่อง

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ชูธงปฏิรูปการศึกษา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งประเทศไทย ได้เสนอแนวทางแก่รัฐบาลใหม่ไว้ก่อนหน้านี้ ว่าต้องดำเนินการใน 7 ประเด็นคือ 1.สร้างคนทักษะดิจิทัล ด้วยการปฏิรูปการศึกษา 2.สร้างสังคมดิจิทัลควบคู่ส่งเสริมคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม

3.ตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม ผ่านการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีในเมืองไทย ให้มีถึง 20,000 บริษัท

4.สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการยกระดับธุรกิจภาคการเกษตรและอาหาร ผ่านการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้องค์กร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน 3,000-5,000 แห่ง

5.ดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเข้าสู่ส่วนราชการ ด้วยการปรับเงินเดือนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอกชน พร้อมตั้งเป้าสัดส่วนข้าราชการที่มีทักษะดิจิทัลอย่างน้อย 20% 6.สร้าง innovation center ระดับโลก ให้ประเทศไทยเป็น tech hub และ 7.มีนโยบายที่ต่อยอดผู้ประกอบการไทย และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขอให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุดก็พอ เพราะใกล้ถึงช่วงพิจารณางบประมาณประจำปีแล้ว หากล่าช้ามากกว่านี้จะทำให้ประเทศเสียโอกาส กระทบไปถึงประชาชน และอาจจะต้องไปนับหนึ่งเริ่มต้นใหม่ทั้งหมดในทุกเรื่อง ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ทันการพิจารณางบประมาณ เพราะภาคเอกชนและนักลงทุนต่างก็รอทิศทางของรัฐบาลอยู่”

ลดค่าน้ำ-ค่าไฟอุ้มธุรกิจอาหาร

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยสามารถเดินหน้านโยบาย ลดค่าไฟฟ้า-น้ำมัน หรือเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท จะเป็นผลบวกต่อวงการธุรกิจร้านอาหารแน่นอน การลดค่าไฟนับว่าสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ของธุรกิจร้านอาหาร

ส.อ.ท.ขอ ครม.เก่ง-ดี

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ภาคเอกชนยังยืนยันคำเดิม ว่าต้องการให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านไปได้ด้วยดี และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้ามาบริหารประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเร็ว

“ต้องการฝากรัฐบาลใหม่ให้เลือก ครม.ทั้งคนเก่ง คนดีที่สังคมยอมรับในฝีมือ ยิ่งหากมีประสบการณ์ดีด้วยยิ่งจะดีมาก โดยเฉพาะกระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ รองนายกรัฐมนตรีทางด้านเศรษฐกิจที่จะเข้ามาทำงานให้เป็นที่พอใจของประชาชน และเมื่อความมั่นใจกลับมาก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟู และพัฒนาประเทศในทุกระดับร่วมกัน ไม่ใช่คนละทีม หรือต่างคนต่างทำ”

ส่วนทางออกในเรื่องของการลดราคาค่าไฟฟ้านั้น นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาครัฐต้องกล้าแก้ปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า แบ่งเป็น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กับปัญหาในระยะกลางและระยะยาว

โดยปัญหาเฉพาะหน้าจะมุ่งไปที่ การลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) จากปัญหาหนี้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงมาก่อนหน้านี้ มีผลทำให้ ค่า Ft ไม่สามารถลดลงตามต้นทุนเชื้อเพลิงได้ โดยเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ กฟผ. ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลา 5 ปี

“นอกจากเรื่องหนี้ กฟผ. เรื่องค่าความพร้อมจ่าย (AP) ก็จะต้องเร่งเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชน ด้วยการลด margin ยืดเวลาในสัญญาค่าความพร้อมจ่ายเดิมออกไป แต่จะต้องไม่เพิ่ม supply เข้าไปในระบบอีก ต้องมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติด้วยการลด margin ในการขายก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้ใกล้เคียงกับราคาที่ขายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) และปรับสูตรราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับ โรงงานปิโตรเคมี ในราคาเดียวกันกับที่ขายให้กับโรงไฟฟ้า” นายอิศเรศกล่าว

ส่วนการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพงในระยะกลางกับระยะยาวนั้น จะต้องหาและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรี (third party access) ในระบบการจัดหา (logistics) ทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติเพื่อลดการผูกขาด นโยบายการบริหาร-การควบคุม และการปฏิบัติในเรื่องพลังงานและค่าไฟจะต้องโปร่งใสและเป็นธรรม มีการเปิดเผยข้อมูลค่าไฟฟ้าด้วยระบบ Cost Plus “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องมีความกล้าหาญและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า ไม่ควรให้ค่าไฟฟ้าเป็นแหล่งในการหาผลประโยชน์”

อสังหาฯขอแก้ กฎหมายเวนคืน

นายพีระพงศ์ จรูญเอก นายกสมาคมอาคารชุดไทยกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกมีอาการ Long COVID มีผลกระทบจากหมดตัวช่วย LTV และดอกเบี้ยขาขึ้น ดังนั้น ภารกิจที่อยากให้รัฐบาลใหม่เร่งเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ สิ่งที่ทำได้ทันทีคือนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว เพราะเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชน

ความหวังในครึ่งปีหลัง ดัชนีความเชื่อมั่นรัฐบาลใหม่บวกกับมาตรการกระตุ้น จะเป็นตัวผลักดันภาคธุรกิจและภาคอสังหาฯ ซึ่งกระตุ้นอสังหาฯ จะมีมัลติไพลเออร์เอฟเฟ็กต์อยู่แล้ว อยากให้รัฐบาลออกหมัด 2 หมัด 3 โฟกัสดึงดูดการลงทุนต่างชาติ เช่น เทสลาเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทย เพราะมีพื้นฐานซัพพลายเชนจีน โดยโลจิสติกส์ซัพพลายเชนควรมาตั้งฐานผลิตในไทย

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ อยากให้ผ่อนปรน LTV เพราะไม่มีการเก็งกำไรอีกแล้วตั้งแต่สถานการณ์โควิด โดยเฉพาะการซื้อคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงาน-ใกล้โรงเรียนลูกเป็นเรื่องจำเป็น การดึงกำลังซื้อต่างชาติที่มีโควตาซื้อคอนโดฯ 49% หากซื้อราคา 3 ล้านบาทให้วีซ่า 3 ปี ซื้อราคา 5 ล้านบาทให้วีซ่า 5 ปี เพื่อกระตุ้นเซ็กเมนต์ตลาดแมสโดยตรง และขอให้แก้ไขปัญหาการขอใช้ทางเข้าออกบนที่ดินเวนคืน เพราะปัจจุบันภาครัฐเวนคืนที่ดินทำเลสำคัญไปหมดแล้ว จำเป็นต้องทำความชัดเจนในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เกิดศักยภาพสูงสุด

หอการค้ามั่นใจรัฐบาลใหม่ดึง GDP ปีนี้โตเกิน 3%

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการสำเร็จจนเป็นที่เรียบร้อย เป็นไปตามความต้องการของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่เร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่โหมดการเดินหน้าเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ

โดยหลังจากนี้คงเป็นไปตามกระบวนการทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการฟอร์ม ครม.ชุดใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีบุคคลใดมาประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี โดยภาคเอกชนหวังว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งต่าง ๆ จะมีการพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญและเหมาะสมในแต่ละด้านอย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นข้อเร่งด่วนที่หอการค้าฯต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เร่งดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรก ของการรับตำแหน่ง ได้แก่

1) การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาที่กระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกของไทย รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ

2) เร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้าย และถือเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว และการเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น

3) เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต

หอการค้าฯได้มีการหารือกับคณะกรรมการและสมาชิกถึง 3 ประเด็นข้างต้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาดำเนินการทันที เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซึมตัวต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ยังมีความรุนแรงอยู่ หากประเทศไทยมีรัฐบาลในช่วงเวลานี้ก็จะสามารถช่วยดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและภาคธุรกิจต่าง ๆ กลับมาที่ประเทศไทยได้

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเองก็มีความน่าเป็นห่วง สะท้อนจากตัวเลขสภาพัฒน์ ที่เปิดเผยออกมา Q2/2566 GDP โตเพียง 1.8% (ต่ำกว่าที่คาดไว้ 3.0%) โดยเฉลี่ยครึ่งปีแรก GDP โตเพียง 2.2% ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีรัฐบาลรักษาการ แต่การขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างจำกัด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตหลุดเป้า 3.0% ในปีนี้

ทั้งนี้ หอการค้าฯมั่นใจว่าหากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จะมีการเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังและตรงจุด รวมถึงดำเนินการตาม 3 ประเด็นเร่งด่วน ตามข้อเสนอของหอการค้าไทย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในช่วง Q4 ของปีนี้กลับมาเติบโตได้โดดเด่น และทำให้ภาพรวมสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้เกิน 3.0%

ดูข่าวต้นฉบับ