ทำความรู้จัก "โรคขี้เต็มท้อง" โรคสุดแปลกของคนชอบอั้น สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเบื้องต้นเป็นอย่างไร พร้อมแนะทางป้องกันโรคสุดแปลกที่นี่
หลังจาก "ตุ๊กตา" จมาพร แสงทอง หรือ ตุ๊กตา นักร้องสาวจากเวที The Voice ออกมาแชร์ประสบการณ์การป่วยแปลก โดยนักร้องสาวบอกว่า เธอเป็น "โรคขี้เต็มท้อง" พร้อมเล่าว่า โรคนี้ไม่ได้เกิดกับคนที่ท้องผูกอย่างเดียว แต่เกิดได้กับทุกการขับถ่ายเลย เพียงคุณอั้นขี้ หรือมีการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
อาการของโรคขี้เต็มท้อง
- ท้องผูก
- เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องแบบบีบ ๆ
- หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทั่วท้อง
- มีลมในท้องเยอะผิดปกติ ตดเปรี้ยว เรอเปรี้ยว
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ ไม่สบายท้อง
- อุจจาระก้อนเล็ก แข็ง บางครั้งมีมูกเลือดปนออกมาด้วย
- เมื่ออุจจาระแล้วจะรู้สึกว่ายังไม่สุดต้องนั่งนานกว่าปกติ หรือรู้สึกว่ามีอุจจาระยังคงเหลืออยู่ในท้อง
"อั้นขี้" พฤติกรรมสุดเสี่ยง!
การดำเนินชีวิตประจำวันของบางคน อาจไม่เอื้อต่อการเข้าห้องน้ำได้ทันที เมื่อมีอาการปวดท้องถ่ายอุจจาระ จึงมีความจำเป็นต้องกลั้นอุจจาระไว้ก่อน แต่หากเรากลั้นอุจจาระบ่อย ๆ ก็อาจเกิดผลเสียกับร่างกายได้ เช่น
อุจจาระไม่เป็นเวลา หากเรากลั้นอุจจาระบ่อย ๆ เวลาที่อยากถ่ายจริง ๆ ก็จะถูกเลื่อนออกไป ทำให้อุจจาระไม่เป็นเวลา และหากยังฝืนร่างกายไม่อุจจาระในเวลาที่ควรถ่าย ร่างกายจะเริ่มเข้าใจว่าเราไม่อยากถ่ายจนไม่สามารถขับอุจจาระออกมาได้ เพราะเลยเวลาที่ลำไส้ใหญ่บีบตัวเพื่อเตรียมขับถ่ายไปแล้วนั่นเอง
ท้องผูก การกลั้นอุจจาระ คือ การไม่ให้ร่างกายขับของเสียออกมาในเวลาที่เหมาะสม หากกลั้นอุจจาระนานจะทำให้อุจจาระร่นกลับเข้าไปค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ จนทำให้ครั้งต่อไปขับถ่ายลำบาก เพราะมีของเสียจำนวนมากที่ต้องการระบายออก และถูกอัดแน่นจนแข็ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
ริดสีดวงทวาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อระบบการขับถ่ายเริ่มรวน ทำงานไม่ปกติ อุจจาระเริ่มเป็นก้อนแข็งและบาดปากทวารหนัก หรือทำให้ด้านในของทวารหนักปลิ้นออกมาข้างนอก จะทำให้ถ่ายแล้วมีเลือดออก อาจเป็นสัญญาณของโรคริดสีดวงทวาร และยังอาจมีความเสี่ยงไปถึงมะเร็งลำไส้ในอนาคตได้เช่นกัน
พฤติกรรมปลอดภัยหนีโรค "ขี้เต็มท้อง"
- ฝึกถ่ายอุจจาระให้สม่ำเสมอและเป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายและลำไส้เคยชินกับการขับถ่าย เวลาขับถ่ายที่เชื่อว่าดีที่สุด คือ ตอนเช้าเวลา 5.00 – 7.00 น. หรือหลังอาหารเช้า แต่ถ้าไม่สะดวกในช่วงเวลานี้ อย่างน้อยพยายามหาช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สามารถขับถ่ายได้อย่างเป็นเวลา สม่ำเสมอทุกวัน ควรให้เวลากับการถ่ายอุจจาระอย่างเพียงพอ ไม่เร่งรีบ
- ดื่มน้ำ 1 แก้วใหญ่ ในตอนเช้าหลังตื่นนอน โดยแนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำปกติ ไม่ควรดื่มน้ำเย็น เพราะน้ำอุ่นจะช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น และจะช่วยกระตุ้นลำไส้ให้เคลื่อนตัวได้ดี ไล่ของเสียในลำไส้ลงมาทำให้ขับถ่ายได้สะดวก
- อย่ากลั้นอุจจาระ ถ้ารู้สึกปวดก็ควรรีบเข้าห้องน้ำและขับถ่ายทันที เพราะบางคนเมื่อกลั้นอุจจาระไว้ กว่าร่างกายจะส่งสัญญาณกระตุ้นให้ขับถ่ายอีกครั้งอาจจะผิดเวลาไปแล้ว หรือบางคนอาจจะไม่รู้ปวดหรืออยากขับถ่ายอีกเลยตลอดทั้งวัน และการกลั้นอุจจาระอาจทำให้ลำไส้บีบอุจจาระกลับขึ้นไปที่ลำไส้ อาจทำให้มีอุจจาระที่คั่งค้างที่ผนังลำไส้ได้ ในทางกลับกัน
- ขณะที่เข้าห้องน้ำกำลังขับถ่าย ถ้ายังไม่ปวดอย่าพึ่งเบ่งอุจจาระ เพราะร่างกายจะมีสมดุลการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ ควรรอจังหวะที่ปวดแล้วค่อยเบ่งอุจจาระ เพราะการเบ่งอุจจาระแรง ๆ ขณะที่ไม่ปวดจะเหมือนเป็นการกระตุ้นและเพิ่มแรงดันในลำไส้ ทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ หากทำบ่อย ๆ อาจทำให้ลำไส้โป่งพองเกิดริดสีดวงทวารตามมาได้
- นวดลำไส้ ถ้าในเด็กให้นวดรอบสะดือ ในผู้ใหญ่ให้นวดตรงท้องด้านล่างซ้ายเลยสะดือไป นวดเบา ๆ โดยค่อยๆ นวดดันลงไปข้างล่าง แล้วทิ้งไว้สักพักจะรู้สึกปวดถ่ายขึ้นมา
- นั่งถ่ายอย่างถูกวิธี จริง ๆ แล้วท่านั่งที่เหมาะกับการขับถ่ายมากที่สุด คือ นั่งยอง ๆ เพราะจะมีแรงกดจากหน้าขาช่วยให้ขับถ่ายได้คล่องที่สุด แต่ปัจจุบัน ห้องน้ำส่วนใหญ่เป็นชักโครกสำหรับนั่งซึ่งทำให้มีแรงเบ่งอุจจาระที่น้อยกว่า ดังนั้นควรมีท่านั่งที่ถูกต้องช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น ท่าถ่ายอุจจาระที่เหมาะสม คือ
- โค้งตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย ถ้าเป็นเด็กและเท้าเหยียบไม่ถึงพื้น ควรมีที่รองเท้าให้เด็ก เพื่อให้ออกแรงเบ่งอุจจาระได้ดีขึ้น คนที่ขับถ่ายยาก ขณะขับถ่ายอาจใช้มือกดท้องด้านซ้ายล่างก็จะช่วยกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก acare.co.th โรงพยาบาลเวชธานี และ @jamaporn
อ่านข่าวเพิ่มเติม