ทั่วไป

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ 'เหา' (4) กองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียนติด 'เหา'?

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 17 ม.ค. เวลา 13.57 น. • เผยแพร่ 03 ม.ค. เวลา 02.30 น.

ปลายฤดูใบไม้ผลิปี 2001 คนงานก่อสร้างกำลังทำงานกันอยู่อย่างขะมักเขม้นเพื่อเดินสายโทรศัพท์และทุบทำลายป้อมปราการร้างของสหภาพโซเวียตแห่งหนึ่งในเมืองวิลนิอัส (Vilnius) ในประเทศลิธัวเนีย (Lithuania) ในขณะที่รถขุดของพวกเขาไถลึกลงไปในพื้นดินใกล้ๆ กับป้อม พวกเขาก็ได้พบเจอบางอย่างที่น่าอกสั่นขวัญแขวน

คนขับกระโดดลงไปดู แล้วก็ต้องอึ้ง เพราะสิ่งที่เขาเห็นตรงหน้าก็คือ“กะโหลกและชิ้นส่วนซากศพของมนุษย์”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คนงานในไซต์งานเริ่มรวน พวกเขาเล่าว่า “ยิ่งขุดก็ยิ่งเจอ มันโผล่ขึ้นมาเต็มไปหมด มีมากมายนับเป็นพันๆ ร่างเลยทีเดียว”

สถานการณ์ดูลึกลับและน่าสยดสยองราวกับฉากจากภาพยนต์สยองขวัญ เพราะสิ่งที่พวกเขาขุดพบก็คือหลุมฝังศพโบราณขนาดมโหฬารที่เต็มไปด้วยซากศพมนุษย์มากมายก่ายกองที่เรียงรายซ้อนทับกันอย่างอัดแน่น การค้นพบครั้งนี้ ทำให้ทุกคนเซอร์ไพรส์

หลุมศพแห่งนี้แม้จะมีความลึกไม่มาก แค่ราวๆ เมตรถึงเมตรครึ่ง แต่ความกว้างและความยาวของมันนั้นใหญ่โตมโหฬาร นั่นคือกว้างถึง 10 เมตร และยาวถึงเกือบ 40 เมตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นี่คือหลุมศพรวมที่ใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบในประวัติศาสตร์ของยุโรป

โครงการเดินสายโทรศัพท์หยุดชะงักในทันที นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิลนิอัส (Vilnius University) ถูกเรียกตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วเพื่อไขปริศนาแห่งหลุมศพโบราณขนาดยักษ์

การขุดค้นเพื่อกู้ซากเพื่องานวิจัยเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2002 โดยมีจัสตินา พอสคีน (Justina Poskiene) นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิลนิอัสเป็นหัวหน้าทีมขุดสำรวจ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่งานนี้ท้าทาย เพราะการเดินสายโทรศัพท์ก็รอนานไม่ได้ ทางทีมมีเวลาขุดสำรวจแค่เพียง 1 เดือน…

ด้วยข้อจำกัดทางเวลา อีกทั้งยังขาดงบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จริงในการศึกษาวิจัยหลุมศพมนุษย์โบราณ พวกเขาจึงเริ่มกังวลว่าการสำรวจครั้งนี้อาจจะคว้าน้ำเหลว

ริแมนทัส แยนเคาสคัส (Rimantas Jankauskas) หนึ่งในแกนนำการสำรวจจากมหาวิทยาลัยวิลนิอัส ก็เลยเริ่มคิดนอกกรอบ

แทนที่จะงุบงิบทำกันเอง เขาเสนอให้เชิญทีมนักมนุษยศาสตร์จากฝรั่งเศสที่มีประสบการณ์มากกว่าเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานวิจัย งานจะได้เดินไปเร็วขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

และที่สำคัญ ถ้าพวกเขามีความร่วมมือกับทีมฝรั่งเศส พวกเขาจะสามารถเอาโครงการนี้ไปยื่นขอทุนสนับสนุนจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส (Centre national de la recherche scientifique, CNRS) ได้อีกด้วย

ถ้ามองแบบไม่โลกสวย แม้ต้องยอมยกเครดิตของการค้นพบไปให้ทางฝรั่งเศส แต่ก็ยังถือว่าคุ้ม เพราะนี่อาจจะเป็นทางเลือกเดียวแบบไฟต์บังคับของทีมลิธัวเนียจริงๆ ด้วยเวลาที่มีอยู่แค่เดือนเดียว พวกเขาขาดทั้งทุน ขาดทั้งคน ถ้าไม่ดึงเอาฝรั่งเศสมาร่วม งานนี้อาจจะไม่มีทางเกิด

หลังจากที่ได้ฉันทามติจากทีมลิธัวเนีย ริแมนทัสเริ่มติดต่อทีมวิจัยจากฝรั่งเศสอย่างรีบเร่ง

พอทราบเรื่อง ทีมฝรั่งเศสก็ตื่นเต้นอย่างมาก ด้วยธรรมชาติของเมืองวิลนิอัสที่เป็นเมืองโบราณมรดกโลกที่เลื่องชื่อในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว

อีกทั้งขนาดอันมหึมาของหลุมศพยักษ์แห่งวิลนิอัสที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

โครงการนี้จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของพวกเขาจนลุกโชน พวกเขาตอบตกลงร่วมทีม และยินดีที่จะร่วมลงขันสนับสนุนงานวิจัยนี้แทบจะในทันที

ต้องยอมรับว่ากลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวของริแมนทัสนี้แยบยลเพราะนอกจากจะได้คนที่รู้อยู่แล้วว่าต้องขุดยังไง ต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ยังได้เงินแบบจัดเต็มจากประเทศฝรั่งเศสมาใช้ในงานวิจัยด้วย

หลังจากได้พันธมิตร (และเงิน) ทีมวิจัยลิธัวเนียก็เริ่มงานวิจัย พวกเขาเปิดประเดิมหลุมศพอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มีนาคม 2002 ทว่า สถานการณ์ค่อนข้างต่างไปสำหรับทีมฝรั่งเศส พวกเขาต้องทำเอกสารอย่างวุ่นวายและฉุกละหุก เพื่อขอเดินทางออกนอกประเทศมาด้วยจุดประสงค์แสนประหลาด“เพื่อสำรวจหลุมฝังศพขนาดยักษ์จากอดีต” แม้ว่าจะต้องชี้แจงอยู่หลายครั้ง ในที่สุด พวกเขาก็ได้รับอนุมัติให้เดินทางมาลิธัวเนียเพื่อร่วมโครงการวิจัยได้

และแล้ว สิบวันหลังจากที่เริ่มขุด นักวิจัย 5 คนจากทีมฝรั่งเศสก็มาถึงลิธัวเนีย

ด้วยกรอบเวลาที่บีบคั้น พอทีมฝรั่งเศสตามมาถึง ทีมวิจัยทั้งสองร่วมกันบุกตะลุยล้างป่าช้ากันอย่างบ้าคลั่ง เจ็ดวันต่อสัปดาห์ แบบไม่สนดินฟ้าอากาศ

แต่ผลลัพธ์ที่พวกเขาได้มาจากการสำรวจก็คุ้มค่าและน่าทึ่ง พวกเขาค้นพบตัวอย่างมากมาย ส่วนใหญ่เป็นศพมนุษย์ที่ซ้อนทับกันอย่างหนาแน่น (ในพื้นที่แค่ 1 ตารางเมตร เฉลี่ยแล้ว พวกเขาเจอศพมนุษย์อัดแน่นอยู่มากถึง 7 ศพ)

“ในหลุมนั้นคือศพล้วนๆ สุมกองกันเป็นพะเนินอัดแน่นเสียจนแทบไม่มีชั้นดินคั่นอยู่เลยระหว่างศพ”

ชัดเจนว่าซากศพพวกนี้ทั้งหมดน่าจะถูกฝังรวมกันลงไปคราวเดียว

จากลักษณะท่าทางของศพที่กู้ขึ้นมาได้ ศพส่วนใหญ่เหมือนกับถูกฝังลงไปแบบไม่มีการจัดท่า จัดเรียงใดๆ

ที่จริง ท่าทางของศพที่อยู่ในแถบตรงกลางๆ ของหลุมนั้นดูเหมือนศพที่กลิ้งลงมาตรงกลางจากขอบๆ ซึ่งอาจจะพอตีความได้ว่า “หลุมศพปริศนาแห่งนี้อาจจะถูกขุดขึ้นมาเพื่อฝังศพจำนวนมาก โดยที่ศพแต่ละศพจะถูกโยนลงมาจากบริเวณขอบหลุม”

“จากการประมาณการ ในหลุมแห่งนี้ น่าจะมีซากศพมนุษย์กองสุมรวมๆ กันมากถึงราวๆ 2,000-3,000 ศพเลยทีเดียว” ทีมวิจัยเผย

“ที่จริงแล้ว ในหลุมนี้ไม่ได้มีแค่ซากมนุษย์ แต่มีซากศพของม้าและลาอยู่ด้วยที่ก้นหลุม ศพของมนุษย์ที่พบเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย ของผู้หญิงก็พบอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อยมากๆ”

คำถามคือแล้วซากศพ และโครงกระดูกที่มีอยู่อย่างท่วมท้นในหลุมนี้น่าจะมาจากยุคไหนกันแน่ในประวัติศาสตร์

“พวกเขาอาจจะมาจากยุคพระเจ้าซาร์ (Tsarist) นาซี (Nazi ) หรือแม้แต่ยุคแห่งสตาร์ลินรุ่งเรื่อง (Stalinist) ก็เป็นได้” ในตอนแรก นักวิจัยก็จินตนาการไปได้ร้อยแปด

แต่พอพวกเขาเริ่มสำรวจชิ้นส่วนเครื่องแต่งกายของแต่ละศพที่ยังพอเหลืออยู่ อย่างเช่น ตราประดับหมวก ตราบนเม็ดกระดุม หัวเข็มขัด และรองเท้าหนัง ภาพก็เริ่มกระจ่างชัด

นี่คือเครื่องแบบจากกองพลต่างๆ ของพวกทหารฝรั่งเศสเกือบทั้งหมด โดยมีชุดทหารที่มาจากประเทศอื่นๆ อย่างอิตาลี โปแลนด์ และบาวาเรียปะปนอยู่บ้าง

ในรายงานของพวกเขาระบุชัดว่าพวกเขาเจอชุดของทหารจากกองพลต่างๆ ถึง 40 กองพล โดยส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยทหารราบ และทหารม้า แต่ก็มีพบศพกองทหารอารักขาจักรวรรดิ (imperial guard) ปนอยู่ในหลุมด้วย

ส่วนศพของผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นพวก cantinières, blanchisseuses et vivandières ที่อยู่ในค่ายทหารฝรั่งเศส ทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนกองทัพ เช่น ขายยาสูบ แอลกอฮอล์ เป็นผู้ช่วยแพทย์ เป็นเชฟทำอาหาร และอีกสารพัด

หลักฐานทั้งหมดที่พวกเขาสำรวจเจอนั้นตรงกันเป๊ะกับที่ถ้อยคำที่กองทหารของมิคาอิล คูทูซอฟ (Mikhail Kutuzov) ได้เคยบันทึกเอาไว้“Inciderunt itaque in fossam quam sibi ipsi fecerunt (พวกเขาถูกฝังอยู่ในป่าช้าที่พวกเขาขุดขึ้นมาเอง)”

จากบันทึกระบุว่าในช่วงที่นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ถอยทัพจากรัสเซีย พวกทหารฝรั่งเศสได้ขุดหลุมฝังศพไว้ 8 แห่งในเมืองวิลนิอัส เพื่อกลบฝังเพื่อนๆ ร่วมรบของพวกเขาที่เสียชีวิตไป ราวๆ 37,000 คน

และทางทีมวิจัยเชื่อมั่นว่านี่คือหนึ่งในหลุมฝังศพทั้งแปดของเหล่าทหารหาญจากกองทัพอันลือนามของนโปเลียน ในขณะที่กำลังล่าถอยในสงครามรุกรานรัสเซีย (Russian invasion) ในเดือนธันวาคม 1812

“บางศพที่เรากู้ขึ้นมาได้มีท่าทางที่ไม่เหมือนกับศพที่แค่ถูกโยนลงไปเฉยๆ พวกมันเหมือนถูกฟรีซจนแข็ง มาก่อนที่จะถูกฝัง” ทีมวิจัยของลิธัวเนียตั้งข้อสังเกต น่าสนใจ

บางทีการล้างป่าช้าครั้งนี้อาจจะชี้ชัดได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้กองทัพของนโปเลียนพังทลายย่อยยับจนแทบไม่เหลือ

เป็นไปได้ว่าเสบียงที่ขาดแคลนและอากาศอันหนาวเหน็บในฤดูหนาวอันหฤโหดของวิลนิอัสอาจจะเป็นต้นเหตุแห่งการวิบัติของกองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียน

ซึ่งก็อาจจะถูกอยู่บางส่วน แต่ทว่าในบันทึกประวัติศาสตร์แทบทุกเล่มระบุชี้ชัดว่า“ตัวแปรสำคัญที่ทำให้กองทัพนโปเลียนงอมพระรามจนต้องยอมล่าถอยแบบหมดรูปในสงครามรัสเซีย” แท้จริงแล้ว ไม่ใช่แค่สภาพอากาศที่โหดร้าย

แต่เป็น “การระบาดของโรคร้ายที่มี ‘เหา’ เป็นพาหะ”

บางทีการขยายตัวของชุมชนเมือง ก็ทำให้เราเจออะไรที่ไม่คาดคิด ใครจะรู้ว่าการขุดเพื่อเดินสายโทรศัพท์จะนำไปสู่การค้นพบหลุมฝังศพทหารที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่กลายมาเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น

หลุมฝังศพโบราณนี้ จะกลายเป็นหน้าต่างที่เปิดให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวมากมายจากอดีตแบบที่เราไม่เคยทำได้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคำถามที่ว่า “กองทัพนโปเลียนล่มเพราะเหาจริงหรือ”?

คราวหน้ารู้กันครับ…

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (4) กองทัพอันเกรียงไกรของนโปเลียนติด ‘เหา’?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com

ดูข่าวต้นฉบับ