ธุรกิจจับตาค่าแรงใหม่ ‘มาม่า’ ไม่ติดอัพเพิ่ม ‘อสังหา’ ห่วงเลิกจ้าง แนะทยอยขึ้น ‘ซิโนไทย’ มั่นใจเอาอยู่
วันที่ 13 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจกำลังจับตานโยบายการปรับขึ้นค่าขั้นต่ำของรัฐบาลที่จะประกาศออกมา หลังในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงแรงงานเจ้าของเรื่องขอถอนวาระออก เพื่อนำไปพิจารณาใหม่ หลังนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เปรยว่าอัตรา วันละ 2-16 บาทที่คณะกรรมการไตรภาคีอนุมัติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ยังเป็นอัตราที่ต่ำไป
มาม่าไม่ติดขยับค่าแรงเพิ่ม 400
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา”มาม่า”กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าในส่วนของบริษัทมีการปรับขึ้นค่าแรงให้พนักงานอยู่แล้วทุกปี เฉลี่ยปีละ 5-6 บาท สำหรับปี 2567 บริษัทยังรออัตราใหม่ที่ชัดเจนจากรัฐบาลที่ประกาศออกมาว่าอยู่ที่เท่าไหร่ หลังจากมีการนำกลับไปทบทวนใหม่ จากเดิมที่คณะกรรมการไตรภาคีมีมติอนุมัติให้ขึ้นทั่วประเทศอัตราวันละ 2-16 บาท อย่างไรก็ตามไม่ว่าอัตราใหม่จะเป็นกี่บาท ทางบริษัทพร้อมปรับตัวและยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นอัตรา 400 บาทก็ตาม แต่เป็นห่วงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและร้านอาหารที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่า หากรัฐขึ้นค่าแรงพรวดเดียว 400 บาท
“เรื่องค่าแรงคงไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการและต้นทุนบริษัท มากเท่าช่วงสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ทำให้ราคาวัตถุดิบใช้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งแป้งและน้ำมันปาล์ม เพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อต้นปี 2565 แต่ไม่ว่าอย่างไรเอกชนก็พร้อมปรับตัว”นายพันธ์กล่าว
อสังหาห่วงเลิกจ้างแนะทยอยขึ้น
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีคณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาอยู่แล้วตามกฎหมาย ล่าสุดมีมติจะปรับขึ้น 2-16 บาท แต่หากคณะรัฐมนตรีต้องการให้พิจารณาใหม่ ต้องดูอย่างรอบคอบ รอบด้าน และปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใต้ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพราะถ้าปรับขึ้นตูมเดียว 400 บาท อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง เช่น ของขึ้นราคา ธุรกิจที่รับไม่ไหวอาจะมีการเลิกจ้างพนักงานได้ และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่แรงงานที่เป็นคนไทย
“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าเพื่อเป็นการบรรเทาภาระของภาคเอกชนที่ทำธุรกิจ และให้เวลาในการปรับตัว ทางรัฐบาลสามารถทยอยปรับขึ้น 2 ครั้งต่อปีก็ได้”นายวสันต์กล่าว
ซิโนไทยมั่นใจบริหารค่าแรงได้
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างจะมีความเสี่ยงอยู่ 3 เรื่อง คือ ค่าแรง ต้นทุนวัสดุก่อสร้าง เสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันออก เช่น งบประมาณปี 2567 ซึ่งยังล่าช้า ขณะที่ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่มีความล่าช้า โดยเฉพาะการประมูลก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในปี 2566 ยังมีออกมาน้อยมาก และการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง โดยทั้งปีนี้บริษัทได้งานใหม่ในมือประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ต่ำจากเป้าที่คาดว่าจะมีงานใหม่ในมือเพิ่ม 40,000 ล้านบาท แต่ถือว่าบริษัทยังโชคดีมีงานในมืออยู่กว่า 1 แสนล้านบาท ยังสามารถทยอยรับรู้รายได้อีกปีละ 30,000-40,000 ล้านบาท
นายภาคภูมิกล่าวว่า ส่วนการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น โดยส่วนตัวเห็นใจแรงงาน เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้แรงงานมีชีวิตที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากรัฐขึ้นค่าแรง บริษัทคงต้องมีการบริหารจัดการโครงการเก่าที่ยังไม่เสร็จ ขณะที่งานใหม่ต้องมีการเพิ่มค่าแรงใหม่เข้าไปอยู่แล้ว รวมถึงเน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ต้นทุนก่อสร้างถูกลง และศึกษาการให้ค่าตอบแทนตามผลงานที่ทำได้ด้วย
“ในสมัยยุคที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท บริษัทสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทแต่อย่างใด และเชื่อว่าในครั้งนี้จะสามารถจัดการได้เช่นกัน ส่วนจะบอกว่าต้องขึ้นในอัตราเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม ขึ้นอยู่กับรัฐบาล รวมถึงผู้ประกอบการเองก็ต้องเรียกร้องต่อภาครัฐจะมีมาตรการอะไรมาช่วยผู้ประกอบการหลังจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว”นายภาคภูมิกล่าว