การเมือง

'อิ๊ง' ลั่น ตอนนี้ การนิยามความหมายซอฟต์เพาเวอร์สำคัญน้อยสุด ชี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ

MATICHON ONLINE
อัพเดต 12 ธ.ค. 2566 เวลา 10.32 น. • เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2566 เวลา 10.32 น.

‘อิ๊ง’ ลั่น ตอนนี้ การนิยามความหมายซอฟต์เพาวเวอร์สำคัญน้อยสุด ชี้ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน Youth Power ขับเคลื่อน Soft Power พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ฯ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เมื่อทราบถึงโครงการของ Youth in Charge ถือว่าเป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลทำอยู่ และมีประสบการณ์มากกว่ารัฐบาลด้วย เพราะริเริ่มมาก่อน จึงเป็นเรื่องดีที่จะได้มาแลกเปลี่ยนกัน ทั้งนี้ นโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาลนั้น รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่อง แต่ต้องการความเชี่ยวชาญในหลายๆ ด้าน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ส่งเสริมไอเดียที่ดีของเอกชนที่รู้ปัญหา รู้วิธีการขับเคลื่อน มาช่วยกันหารายได้เข้าประเทศให้ได้มากที่สุด

“ดิฉันคิดว่าเรากำลังติดอยู่กับคำว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร หรือแข่งกันนิยามว่าคือสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่อยากจะบอกว่าการนิยามคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ เป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด ณ เวลานี้” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ ถูกพูดกันมาตลอดในระยะเวลาประมาณ 40 ปีนี้ โดยคำนี้เริ่มมาจากทางการทูตเป็นสำคัญ แต่ตอนนี้ถูกบิดมาใช้ในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น เราก็ไม่ได้พูดถึงสงครามเย็นกันแล้ว แต่พูดถึงว่าซอฟต์เพาเวอร์จะสามารถสร้างเศรษฐกิจให้แก่แต่ละประเทศได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า และรัฐบาลตั้งใจจะผลักดัน อย่างไรก็ตาม ตนขอยกโครงการที่ประสบความสำเร็จในอดีต เช่น TCDC ในสมัยไทยรักไทย, TK Park, OTOP 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์, และกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น โดยสิ่งที่ได้เรียนรู้คือ การเน้นพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรมไม่ได้ยั่งยืนเท่าที่ควร จึงได้พัฒนา OFOS หรือ One Family One Soft Power เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ โดยไม่จำกัดอายุ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ THACCA ที่จะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า การพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกระยะ ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่นเรื่องการพัฒนาคน กลางน้ำคือ ปลดล็อกกฎหมายที่ล้าสมัยและมีข้อจำกัด ให้ส่งเสริมอุตสาหกรรม และปลายน้ำคือนโยบายต่างประเทศ เน้นสร้างแบรนดิงให้ประเทศไทย โดยขอยกตัวอย่างโครงการของรัฐบาล คือ Songkran World Water Festival เพื่อปักหมุดสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลระดับโลก เพราะบางพื้นที่เริ่มเล่นสงกรานต์ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ซึ่งดึงดูดได้ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวถ่ายเอง รัฐบาลต้องการร้อยเรียงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ให้ไม่ต้องเข้ามาแค่ 13-15 เมษายน แต่เข้ามาเจอสงกรานต์ได้ทั้งเดือน

“โครงการนี้เคยเล่าไปแล้ว แต่ก็ถูกบิดคำนิดหน่อย ว่าเราจะสาดน้ำกันทั้งเดือน แต่ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเดี๋ยวจะหนาวกันหมด” น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีทุกอย่างแบบไม่เคยมีการร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ หรือการเล่าเรื่องเน้นจุดเด่นสำคัญ ตนเชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีศักยภาพที่ดี ขาดแต่การรวบรวม และส่งต่อ บอกต่อ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำเพื่อยกระดับรายได้ของคนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ ในมุมมองของรัฐบาลซอฟต์เพาเวอร์ไม่ใช่เรื่องที่มีสูตรสำเร็จ และไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ภายใน 1-2 ปี แต่เมื่อเริ่มทำแล้ว รัฐบาลจะไม่หยุดแน่นอน เราจะเห็นดอกผลของมันในอนาคตข้างหน้า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า แม้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จะมีความล่าช้า แต่เชื่อว่าจะสามารถทันใช้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปีหน้า ส่วนคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ที่ได้จัดตั้งคณะทำงานต่างๆ ไว้แล้วนั้น เมื่องบประมาณพร้อมเราก็จะสามารถเดินหน้าได้ทันที

ดูข่าวต้นฉบับ