อินเดียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการสำรวจอวกาศ โดยในเดือนสิงหาคม 2023 อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ได้สำเร็จ ด้วยภารกิจจันทรายาน 3
และล่าสุดองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ประกาศแผนสร้างสถานีอวกาศที่โคจรรอบดวงจันทร์ภายในปี 2040 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอันทะเยอทะยานในการสร้างฐานปฏิบัติการระยะยาวเหนือวงโคจรของโลก
สถานีแห่งนี้จะรองรับภารกิจที่จะส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ และจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ คาดว่าอาจมีบทบาทสำคัญในการศึกษาธรณีวิทยาของดวงจันทร์ การใช้ทรัพยากรดวงจันทร์ รวมถึงเป็นฐานสำหรับภารกิจอวกาศในอนาคต
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน สถานีอวกาศบนวงโคจรดวงจันทร์นี้ จะแล้วเสร็จในเวลาไล่เลี่ยกับการที่นักบินอวกาศของอินเดียลงจอดบนดวงจันทร์ หลังจากนั้นจะมีการสร้างฐานถาวร (Permanent Base) บนพื้นผิวดวงจันทร์ภายในปี 2050
เว็บไซต์ Space.com รายงานว่าสถานีอวกาศบนวงโคจรรอบดวงจันทร์เป็นขั้นตอนที่ 3 และถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย ของความพยายามสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย
ขั้นตอนที่ 1 เกี่ยวข้องกับภารกิจส่งหุ่นยนต์ไปยังดวงจันทร์ โดยใช้เทคโนโลยีที่อินเดียพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งรวมไปถึงภารกิจ จันทรายาน 4 (Chandrayaan 4) ที่จะเป็นการส่งตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลก โดยจะเก็บตัวอย่างประมาณ 3 กิโลกรัม จากบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่มีน้ำแข็งมาก คาดว่าภารกิจนี้ มีกำหนดเปิดตัวในปี 2028
ส่วนระยะที่ 2 มีเป้าหมายที่จะให้มนุษย์ สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้ภายในปี 2040
และระยะที่ 3 คือ การสร้างสถานีอวกาศบนวงโคจรดวงจันทร์ รวมไปถึงต่อจากนั้นที่จะเป็นการสร้างฐานที่มั่นถาวรบนพื้นผิวดวงจันทร์นั่นเอง
ทั้งนี้นับจากที่อินเดียประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศจันทรายาน 3 ลงจอดบนดวงจัทร์ได้สำเร็จ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Prime Minister Narendra Modi) กล่าวว่า อินเดียควรตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ที่ทะเยอทะยาน เช่น การบินผ่านดวงจันทร์โดยมีมนุษย์โดยสารในปี 2035 และหลังจากนั้น 5 ปี จะเป็นภารกิจส่งมนุษย์ลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งแผนการสร้างสถานีอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์นี้ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความทะเยอทะยานตามคำกล่าวของนเรนทรา โมดี
แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ แน่นอนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่อินเดียจะต้องทำ เหมือนอย่างที่ เอส ศิวะกุมาร (S. Sivakumar) ผู้อำนวยการโครงการจรวด NGLV ของอินเดียกล่าวถึงแผนการสร้างสถานีอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ว่า “นี่เป็นงานยักษ์ของเรา งานทั้งหมดถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเราโดยสิ้นเชิง”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าด้านการสำรวจอวกาศในเอเชีย ส่วนผลความคืบหน้าจะเป็นอย่างไรนั้นต้องติดตามกันต่อไปในอนาคต
ที่มาข้อมูล Space, In.Mashable
ที่มารูปภาพ NASA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เปิดตัว “เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์” ฟิวชัน จากการบ้านเด็กม.ปลายอังกฤษ โหดเกิ๊น !
- เปรียบเทียบ iPhone 16 Pro Max ชนสเปก iPhone 15 Pro Max อันไหนควรซื้อกว่ากัน ?
- เช็กด่วน ! Google Flood Hub ทำนายน้ำท่วมด้วย AI คาดการณ์ล่วงหน้าได้ 7 วัน
- โซนิคบูม คืออะไร อันตรายหรือไม่ ? เกิดอะไรขึ้นที่สุราษฎร์ธานี
- กังหันลมพกพาชาร์จสมาร์ตโฟนเต็มได้เร็วภายใน 20 นาที