ไลฟ์สไตล์

"ข้าวเสียโป" อาหารจากชาวจีนโพ้นทะเล ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการพนัน!

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 24 มิ.ย. เวลา 01.02 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. เวลา 00.50 น.

“ข้าวเสียโป” มักเข้าใจว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ที่พ่อค้าชาวจีนหาบเร่ขายอยู่หน้าโรงบ่อน ซึ่งมีการพนันแบบหนึ่งที่เรียกว่า“โป” (ลักษณะเป็นการทอยลูกเต๋าเพื่อทายแต้ม) ลูกค้าที่รับประทานข้าวเสียโปจึงเป็นนักพนันทั้งหลาย พอออกจากโรงบ่อนก็มากินอาหารจานนี้ จนเกิดเป็นที่มาของคำว่าข้าวเสียโป เพราะนักพนันเมื่อ “เสียโป” จนแทบหมดเนื้อหมดตัว เหลือเศษเงินแค่พอกินข้าวสวยกับเศษหมูย่าง เป็ดย่าง กุนเชียง ที่พ่อค้าชาวจีนหาบเร่ขายในราคาถูก

ดังที่ พจนานุกรม ฉบับเปลื้อง ณ นคร อธิบายว่า “เสียโป น. ข้าวนึ่งมีกับหลายชนิด โดยมากมีเป็ดย่าง ผักบุ้ง เครื่องในเป็ด แต่ก่อนจีนหาบขายตามโรงบ่อน เป็นอาหารราคาถูก ว่าพวกเสียโปกิน จึงเรียกเสียโป, คำนี้อาจเพี้ยนเสียงจาก เจียะปึ้ง ในภาษาแต้จิ๋วแปลว่ากินข้าว”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่แท้จริงแล้วนามเรียก “ข้าวเสียโป” ไม่ได้มีที่มาจากการพนันเลย!!!

“ข้าวเสียโป” (บ้างเรียก ข้าวเฉโป, ข้าวสวยโป) ประกอบด้วยบรรดาเนื้อสัตว์ย่างอย่างจีนหลากชนิด ทั้ง หมูย่าง เป็ดย่าง กุนเชียง และเครื่องในสัตว์สารพัด นำมาสับเป็นชิ้นพอคำ โปะบนข้าวสวย แล้วราดด้วยน้ำปรุงรสอาหารจานนี้มีต้นกำเนิดมาจากตอนใต้ของประเทศจีน ถูกนำเข้ามาพร้อมกับชาวจีนโพ้นทะเลจากแถบมณฑลกวางตุ้ง

คำว่าเสียโปมาจากภาษาจีน ก่อนถูกเรียกเพี้ยนในภายหลัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากการค้นคว้าของ ณัฎฐา ชื่นวัฒนา พบคำในภาษาจีนที่ใกล้เคียงกับคำว่าเสียโปอยู่หลายคำ เช่น

燒肉 แปลเป็นไทยว่า เนื้อสัตว์อบหรือย่าง สำเนียงแต้จิ๋วว่า เชีย-เหน็ก หรือ เชีย-บะ, สำเนียงกวางตุ้งว่า ซิว-หยก, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า เสีย-บะ

三寶飯 แปลเป็นไทยว่า ข้าวหน้าเนื้อสัตว์ย่าง(3 อย่าง) สำเนียงแต้จิ๋วว่า ซา–ป้อ–ปึ่ง, สำเนียงกวางตุ้งว่า ส้าม–โต๋ว–ฝ่าน, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า ซา–โป–ปึง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

四寶飯 แปลเป็นไทยว่า ข้าวหน้าเนื้อสัตว์ย่าง(4 อย่าง) สำเนียงแต้จิ๋วว่า สี่–ป้อ–ปึ่ง, สำเนียงกวางตุ้งว่า เซ–โต๋ว–ฝ่าน, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า สี่–โป–ปึง

ณัฎฐา ธิบายว่า คำว่า “ซา–ป้อ” กับ “ซา–โป” และ “สี่–ป้อ” กับ “สี่–โป” นี้ มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถออกเสียงเพี้ยน จนกลายเป็นคำว่าเสียโปได้มากกว่าคำอื่น ๆ

แต่อีกคำหนึ่ง คือคำว่า 燒臘鋪 แปลเป็นไทยว่า ร้านขายเนื้อย่าง สำเนียงแต้จิ๋วว่า เชีย–ละ–โพ่, สำเนียงกวางตุ้งว่า ซิว–หลาบ–โผว, สำเนียงฮกเกี้ยนว่า เสีย–หลาบ–พู้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเรียกเพี้ยน จนกลายเป็นที่มาของคำว่าเสียโปเช่นกัน

ดังนั้น การเล่นโปเสียพนัน จึงไม่ได้เป็นที่มาของนามเรียก “ข้าวเสียโป” คงเป็นคนไทยที่ได้ยินพ่อค้าชาวจีนหาบเร่ขายอาหารจานนี้ตะโกนร้องคำว่าเสียโป จึงเรียกเพี้ยนตามที่ตนได้ยิน

เรื่องพ่อค้าชาวจีนตะโกนร้องเช่นนี้ จากการสืบค้นของ กฤช เหลือลมัย พบในงานเขียนของ “เหม เวชกร” เล่าไว้ในฉากหนึ่งของเรื่อง “เป็ดเหาะ” หนึ่งในรวมเรื่องผีชุดปีศาจไทย เล่ม “ใครอยู่ในอากาศ” เมื่อราวปลายทศวรรษ 2470-80 ว่า

“เสียโปเป็นอาหารกวางตุ้งที่หาบขาย มีเป็ดย่าง หมูแดง หมูย่าง ข้าวสวยนึ่งอย่างดี หาบขายและร้อง ‘เสียโป ! เสียโป !’ไปในยามค่ำคืน เพื่อคนหิวกลางคืนจะได้ซื้อกิน”

“ได้ยินเสียง ‘เสียโป !’ผมก็นึกอยากกินขึ้นมา และทั้งอยากให้ลูกสาวกินด้วย…เดินตามเสียงร้อง เสียโป !’**มาพบเอาที่ห่างคนมาก จึงเรียกหาบเสียโปเข้ามาที่เก้าอี้ยาว โคนมะฮอกกานี สั่งสับเป็ดย่างหนึ่งจาน หมูแดงหนึ่งจาน หมูย่างบ้าง ราคาหรือครับ 10 สตางค์บ้าง 5 สตางค์บ้าง ข้าวนึ่งก็ถ้วยละ 2 สตางค์บ้าง 3 สตางค์บ้าง ลูกสาวชอบมาก ไม่เคยกิน”

แม้ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า เสียโปที่คนไทยได้ยินมาจากคำใดในภาษาจีน จะเป็นสำเนียงจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน หรือกวางตุ้ง ก็ไม่ทราบได้ แต่คำนี้มาจากภาษาจีนเป็นแน่ ครั้นคนไทยได้ยินจึงเรียกเพี้ยนเป็นเสียโป ภายหลังพลอยจับแพะชนแกะเอาข้าวเสียโปไปเชื่อมโยงกับโรงบ่อนเล่นโปเล่นพนัน

“ข้าวเสียโป” จึงไม่ได้เป็น “ข้าวเสียพนัน” แต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ณัฎฐา ชื่นวัฒนา. (มกราคม, 2563). “ความไม่ชอบมาพากลของข้าวเสียโป : เมื่อเรื่อง พูดเล่นกลายเป็นตำนาน?” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 3

กฤช เหลือลมัย. (มกราคม, 2563). “ไขสำรับปริศนา ‘เสียโป-เฉโป'” ใน, ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 : ฉบับที่ 3

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 สิงหาคม 2565

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ข้าวเสียโป” อาหารจากชาวจีนโพ้นทะเล ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการพนัน!

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

ดูข่าวต้นฉบับ