เมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 65) เพจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ โครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยง ‘ไทย-ลาว-จีน’ ในการกระจายสินค้าออกสู่ภูมิภาค ไว้อย่างน่าสนใจว่า…
โครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย
จิ๊กซอว์ตัวสำคัญ ของการเชื่อมโยง ไทย-ลาว-จีน กระจายสินค้าสู่ภูมิภาค
จากที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 มานาน ขอกลับมาพูดถึงโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งถูกวางแผนไว้เป็นโครงการลำดับที่ 1 ที่เตรียมจะอนุมัติก่อสร้าง ภายในปีหน้า (2566) เพื่อเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ในการเชื่อมโยงโครงการรถไฟระหว่างประเทศ ไทย-ลาว-จีน ในการขนส่งสินค้า และเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟลาว-จีน ที่เป็นรางขนาด 1.435 เมตร (European Standard Gauge) เข้าสู่รางรถไฟไทย 1 เมตร (Meter Gauge)
โดยมีจุดเปลี่ยนถ่าย (Transhipment Yard) ที่ สถานีนาทา รายละเอียดเดิมตามโพสต์นี้
https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1061909740914171&id=491766874595130&mibextid=nJa2DX
>> รายละเอียดการโครงการ
ตามรูปแบบการพัฒนารถไฟทางคู่ คือจะมีการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 1 ทาง คู่ขนานกับทางรถไฟเดิม เพื่อให้สามารถรองรับการเดินทางได้ปริมาณมากขึ้น และไม่ต้องรอหลีกรถไฟที่สถานี
มีระยะทางรวมทั้งหมด 167 กิโลเมตร แบ่งเป็น
- ทางระดับดิน 153 กิโลเมตร
- ทางยกระดับ 14 กิโลเมตร
โดยการออกแบบ มีมาตรการการออกแบบเพื่อรองรับความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง เทียบเท่ามาตรฐานของรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งในเส้นทางปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับปรังรัศมีวงเลี้ยว ให้เหมาะสม กับการออกแบบความเร็ว ใน 3 จุดคือ
- เทศบาลศิลา
- โนนพยอม
- โนนสะอาด
พร้อมกับมีการยกระดับสถานีรถไฟเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟช่วงผ่านเมือง 2 จุดคือ
- สถานีน้ำพอง
- สถานีอุดรธานี
ในโครงการมีสถานีทั้งหมด 14 สถานี แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ สถานียกระดับ, สถานีชั้น 1, สถานีชั้น 2, สถานีชั้น 3 และที่หยุดรถ ได้แก่
- สถานีสำราญ (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- ที่หยุดรถห้วยไห สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีห้วยพยอม (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- ที่หยุดรถบ้านวังชัย สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีน้ำพอง (สถานียกระดับ) สถานีก่อสร้างใหม่
- ที่หยุดรถห้วยเสียว สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีเขาสวนกวาง (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีโนนสะอาด (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีห้วยเกิ้ง (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีกุมภวาปี (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีห้วยสามพาด (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีหนองตะไก้ (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- ที่หยุดรถคำกลิ้ง สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีหนองขอนกว้าง (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีอุดรธานี (สถานียกระดับ) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีนาพู่ (ชั้น 3) สถานีเดิมรักษาไว้
- สถานีนาทา (ชั้น 2) สถานีก่อสร้างใหม่
- สถานีหนองคาย (ชั้น 1) สถานีเดิมรักษาไว้
โดยการรักษาสถานีเดิมไว้เพื่อการอนุรักษ์ และลดการลงทุนไม่ให้มากเกินไป แต่เพิ่มระบบสาธารณูปโภค และการให้บริการแก่คนทุกกลุ่ม (Universal Design) ในการอำนวยความสะดวกกับผู้โดยสาร เช่น สะพานลอยข้ามชานชาลา และลิฟต์โดยสารเพื่อข้ามชานชาลา พร้อมกับการยกระดับความสูงชานชาลา เป็นรูปแบบชานสูง 1.10 เมตร ตามมาตรฐานใหม่ของการรถไฟ
นอกจากการทำสถานีสำหรับผู้โดยสารแล้ว ก็ยังมีการทำสถานีสำหรับสินค้า หรือลานกองเก็บตู้สินค้า (Containers Yard : CY) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการก่อสร้างใน 3 จุดคือ
- สถานีโนนสะอาด
- สถานีหนองตะไก้
- สถานีนาทา (จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า Transhipment Yard)
ในโครงการจะมีการทำโรงรถจักร เพื่อใช้ในการให้บริการและซ่อมบำรุงของรถจักร และตู้โดยสาร ก่อนและหลังให้บริการ โดยมีการก่อสร้างที่ สถานีนาทา
นอกจากการก่อสร้างงานโยธา ของทางคู่และอื่นๆ ในการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งเป็นตัวที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟทางคู่ ก็เป็นส่วนสำคัญ โดยการพัฒนารถไฟทางคู่ในปัจจุบัน มีการยกระดับระบบอาณัติสัญญาณใหม่ เป็นมาตรฐาน ETCS Level 1 ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางของยุโรป เพื่อให้รองรับรถไฟหลากหลายมาให้บริการ