ทั่วไป

เตือน"หนานเฉาเหว่ย"แฝงภัย พบผู้ป่วยเบาหวานกินติดต่อหลายวันเกิดอาการเกือบหมดสติน้ำตาลในเลือดต่ำ

ไทยโพสต์
อัพเดต 25 ก.ย 2561 เวลา 01.45 น. • เผยแพร่ 25 ก.ย 2561 เวลา 01.43 น. • ไทยโพสต์

25 ก.ย.61-จากกระแสแชร์กันในโลกโซเชียลถึงสรรพคุณสมุนไพร"หนานเฉาเหว่ย" หรือ"ป่าช้าเหงา" ว่าสามารถลดน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตและไขมันในเลือดได้ดี  ทำให้มีผู้นำไปต้มรับประทาน ล่าสุด ได้มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันรับประทานหนานเฉาเหว่ยติดต่อกันหลายวัน และเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำเกือบหมดสติ  ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ  เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  กล่าวเตือนว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร พบผู้ป่วยเพศชาย อายุ 64 ปี  มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน หัวใจ เข้ารับการรักษาด้วยอาการน้ำตาลตกมีระดับน้ำตาลในเลือดเหลือเพียง 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จากเดิมที่เคยมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยผู้ป่วยมาด้วยอาการหน้ามืด เหนื่อยมากขึ้น เหงื่อออก ใจสั่น อ่อนแรง แต่ยังไม่หมดสติ ซึ่งจากการสอบถามพบว่าผู้ป่วยได้รับประทานป่าช้าเหงา จากคำแนะนำของเพื่อนว่าช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด แต่ไม่รู้วิธีการรับประทาน 

ภญ.อาสาฬา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวได้นำใบป่าช้าเหงาจำนวน 10 ใบต้มกับน้ำ 1 กาใน ประมาณ 1 ลิตร ใช้เวลาในการเคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง และเริ่มรับประทานเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นเวลา 7 วัน โดยรับประทานเช้าและเย็นครั้งละ 1 แก้ว และหยุดรับประทาน 7 วัน หลังจากนั้นก็เริ่มดื่มอีกครั้งในวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยในวันที่เกิดเหตุ ผู้ป่วยได้ฉีดยาเบาหวานมื้อเช้า พร้อมทั้งรับประทานยาเบาหวานก่อนอาหาร ร่วมกับจิบน้ำป่าช้าเหงาไปประมาณ 3 แก้วกาแฟ และกินข้าวเช้าตามปกติ และมีอาการน้ำตาลตกประมาณเที่ยงกว่า จึงเรียกญาติที่มาพบเหตุการณ์ให้ช่วยนำส่ง รพ. ซึ่งช่วงที่รับประทานผู้ป่วยรู้สึกปัสสาวะบ่อย ขาที่เคยบวมยุบลง ค่าความดันโลหิตปกติตัวบนปกติจะอยู่ประมาณ 170 มิลลิเมตรปรอท ก็เหลือเพียง 110 มิลลิเมตรปรอท เท่านั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภญ.อาสาฬา กล่าวต่อว่า ขอฝากเตือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อย่างความดัน เบาหวาน ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเป็นหลัก   ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนรับประทานสมุนไพร เนื่องจากปัจจัยในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ส่วนขนาดรับประทานป่าช้าเหงาที่แนะนำ เช่น ใช้เป็นอาหารโดย รองกระทงห่อหมกแทนใบยอ ยำดอกขจรใส่ดอกป่าช้าเหงา ซึ่งคนพื้นบ้านนิยมกินช่วงเปลี่ยนฤดู ปลายฝนต้นหนาว เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เจ็บป่วย โดยจะนำใบป่าช้าเหงามาลวกน้ำร้อนก่อนรับประทาน เพื่อลดความขมและลดฤทธิ์ยา  กรณีกินเป็นยา เช่น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือกินบำรุงร่างกาย แนะนำกินวันละ 1-2 ใบ 2-3 วันกินที กินบ้างหยุดบ้าง ไม่แนะนำให้กินทุกวัน หรือกินต่อเนื่อง เพราะเป็นยาเย็น อาจทำให้ตับเย็น ร่างกายเย็น ซึ่งส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดง่าย มือเท้าเย็น อ่อนเปลี้ยเพลียแรง แล ะห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดชื่อวาร์ฟาริน เพราะอาจเสริมฤทธิ์ยา ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไต เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยในการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว สำหรับผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิตได้ดีอยู่แล้วด้วยยาแผนปัจจุบัน ไม่แนะนำให้กินป่าช้าเหงา เพราะสมุนไพรไม่ได้ทำให้โรคดังกล่าวหายขาดและอาจเสริมฤทธิ์ยาแผนปัจจุบันจนเกิดอันตราย.

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 97
  • Gunn
    แสดงว่าลดได้จริง อันนี้คือกิน overdose
    25 ก.ย 2561 เวลา 02.23 น.
  • ลดได้จริงค่ะ ที่บ้านปลูกแต่ถ้าอะไรที่มันมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็จะไม่ดีต่อเราค่ะ
    25 ก.ย 2561 เวลา 02.35 น.
  • ThinkPad
    ทุกอย่าง กินเยอะไป ไม่ดีทั้งนั้น
    25 ก.ย 2561 เวลา 02.44 น.
  • chaiyasit
    ต้องถามแพทย์ก่อนจะกินสมุนไพรทุกตัวนะ เพราะมันจะไปเสริมหรือต้านฤทธิ์กะยาปัจจุบัน
    25 ก.ย 2561 เวลา 02.40 น.
  • ใช้แค่6 ใบน้ำ1 ลิตร ต้มเกือดแล้วหรี่ไฟ 20นาที แล้วดับ พัก5นาทีจึงเอาใบออกทิ้ง กินแค70%ของแก้วเท่านั้น กินก่อนอาหารเช้า-เย็นพอหากไม่ถูกวิธีเป็นเช่นนี้แล ดื่มนานๆมีผลกับไต ต้องหยุดบ้างหรือต้มผสมกับใบเตยก็ได้เตย6ใบเช่นกัน
    25 ก.ย 2561 เวลา 02.27 น.
ดูทั้งหมด