ไลฟ์สไตล์

ตามติดชีวิต “วาฬบรูด้า” ยักษ์ใหญ่แห่งอ่าวตัว ก.

Manager Online
อัพเดต 14 ส.ค. 2561 เวลา 06.13 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2561 เวลา 06.13 น. • MGR Online

Facebook : Travel @ Manager

ไม่น่าเชื่อว่าห่างจากกรุงเทพฯ ไปไม่เท่าไร เราจะสามารถพบเห็นยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลอ่าวไทยอย่าง “วาฬ” ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องออกทะเลไปไกลๆ ที่บริเวณ “อ่าวตัว ก.” หรืออ่าวไทยตอนบนซึ่งมีลักษณะเหมือนตัวอักษร ก.ไก่ ซึ่งในขณะนี้เป็นช่วงที่มีรายงานการพบเห็น “วาฬบรูด้า” จำนวนหลายสิบตัวในเขตอ่าวตัว ก. บริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครต่อเนื่องถึงกรุงเทพมหานคร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดทริป “ล่องอ่าวตัว ก. สำรวจวาฬบรูด้าเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” ขึ้น โดยมีวิทยากรผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับวาฬบรูด้าคือ “สมิทธิ์ สุติบุตร์” นักเขียนอิสระ นักวาดภาพธรรมชาติ และช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพนกและสัตว์ป่า และเป็นผู้ร่วมจัดทำหนังสือ “วาฬบรูด้า และอ่าวตัว ก.” จัดพิมพ์โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “วาฬ” กันก่อน วาฬถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล ลักษณะรูปร่างเหมือนปลา คนจึงมักเรียกติดปากว่า “ปลาวาฬ” ในประเทศไทยสำรวจพบวาฬทั้งหมด 25 ชนิด พบทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน และสำหรับ “วาฬบรูด้า” ถือเป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่จะมีซี่กรอง (Baleen Plates) สำหรับกรองอาหาร อีกทั้งยังเป็นวาฬกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง และถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยอีกด้วย

สมิทธิ์ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับวาฬบรูด้าขณะออกสำรวจวาฬที่บริเวณอ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ว่า “อ่าวไทยหรืออ่าวตัว ก. คืออ่าวไทยตอนบน กินพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปถึงชลบุรี บริเวณอ่าวตัว ก. จะเป็นหาดเลน เพราะมีแม่น้ำหลายสายที่ไหลลงทะเล ได้แก่ แม่น้ำบางตะบูน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ในช่วงหน้าฝนประมาณเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป น้ำจืดจากแม่น้ำจะนำเอาธาตุอาหารต่างๆ ไหลลงทะเลและตกตะกอนเป็นหาดเลนแถวนี้ แล้วพวกฝูงปลากะตักและปลาทู รวมถึงปลาเล็กปลาน้อยจำนวนมากก็จะเข้ามากินแพลงก์ตอนที่อ่าวไทยใกล้ชายฝั่งในช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค. และวาฬบรูด้าก็จะตามมากินปลาเหล่านี้อีกที ทำให้ในช่วงนี้เราจึงพบวาฬบรูด้าใกล้อยู่ชายฝั่ง บางทีห่างจากฝั่งไปแค่ 1-2 ก.ม. ขึ้นให้เห็นก็มี”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สมิทธิ์กล่าวต่อว่า “จุดที่เจอประจำคือบริเวณปากแม่น้ำท่าจีน (หน้าโบสถ์วัดกะซ้าขาว) และอีกจุดคือบริเวณที่เรียกว่าปะการัง ซึ่งเป็นจุดที่มีการเอาซีเมนต์ไปทิ้งไว้เพื่อให้เป็นปะการังเทียม นอกจากนั้นก็พบที่บางขุนเทียน ปากแม่น้ำเจ้าพระยา พอเดือน ต.ค. ก็จะเริ่มขยับมาทางตะวันตกมากขึ้น แล้วแต่จังหวะและฝูงปลาที่เป็นอาหารว่าจะมีการเคลื่อนย้ายอย่างไร แต่คนที่ออกเรือมาชมในช่วงนี้โอกาสเจอค่อนข้างสูง ส่วนมากก็จะเจอแทบทุกลำเพราะเป็นช่วงที่วาฬเข้ามา แต่จะเห็นวาฬขึ้นกินหรือไม่ก็แล้วแต่จังหวะว่าฝูงปลาเข้ามาหรือเปล่า แล้วก็ขึ้นอยู่กับวาฬแต่ละตัว บางตัวอาจจะระแวง เมื่อเห็นเรือก็จะว่ายไปเรื่อยๆ ไม่ขึ้นกิน แต่คาดว่าจะเจอแน่ๆ”

การ “ขึ้นกิน” ที่สมิทธิ์กล่าวถึงก็คือลักษณะการกินเหยื่อของวาฬบรูด้าที่เมื่อไล่ต้อนฝูงปลามาแล้วก็จะโผล่หัวดันตัวขึ้นตรงตั้งฉากกับผิวน้ำ จากนั้นก็จะอ้าปากกว้างโดยการทิ้งปากล่างลงมาช้อนฝูงปลาเหล่านั้นเข้าปากที่อ้าค้างอยู่อึดใจหนึ่ง ก่อนจะหุบขากรรไกรล่างและค่อยๆ จมตัวลงสู่ใต้ผิวน้ำ

ลักษณะการขึ้นกินนี้เป็นภาพที่นักท่องเที่ยวที่ออกเรือมาชมวาฬต่างก็อยากเห็น ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดวงและช่วงจังหวะที่ไปชม แต่ที่จะได้เห็นแน่ๆ ก็คือท่วงท่าการแหวกว่ายในท้องทะเลของวาฬบรูด้าขณะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาหายใจ โดยจะโผล่ส่วนปากขึ้นมาก่อน แล้วพ่นลมหายใจเป็นละอองน้ำออกจากช่องหายใจที่คล้ายกับจมูก จากนั้นจะค่อยๆ โค้งตัวขึ้นมามองเห็นแผ่นหลังกว้างใหญ่และครีบหลังสามเหลี่ยมแหลมชวนให้นึกถึงปลาฉลาม ก่อนจะมุดตัวลงน้ำไป โดยสิ่งที่มองเห็นบนผิวน้ำนี้คือเพียง 1 ใน 10 ของขนาดตัวจริงๆ ของวาฬบรูด้าเท่านั้น เพราะวาฬจะมีขนาดยาว 10 เมตรขึ้นไป ถ้าโตเต็มวัยจะมีขนาด 12-15 เมตร เลยทีเดียว

ในขณะนี้จำนวนวาฬบรูด้าที่สำรวจในอ่าวไทยโดยกรมทรัพยากรชายฝั่งและทะเลที่จำแนกและระบุชื่อไว้มีประมาณ 40 ตัว ที่ระบุเพื่อให้รู้ว่าแต่ละตัวมีการเคลื่อนที่อย่างไร มีความถี่ในการพบเจอมากน้อยแค่ไหน โดยจำแนกจากลักษณะของครีบหลังบ้าง ลักษณะหางบ้าง หรือลายบริเวณขอบปาก และตั้งเป็นชื่อน่ารักๆ อย่าง เจ้าเมษา เจ้าสิงหา เจ้าบางแสน บางคู่ที่เป็นแม่ลูกก็จะตั้งชื่อให้เข้ากัน เช่น แม่ข้าวเหนียวและเจ้าส้มตำ เป็นต้น

โดยปกติวาฬจะออกหากินตัวเดียว ไม่อยู่เป็นฝูง ยกเว้นว่าเป็นคู่แม่ลูก และในการออกสำรวจครั้งนี้ตลอดทั้งวันได้พบวาฬรวมประมาณ 10 ตัว บางตัวว่ายวนเวียนอยู่รอบเรือ บางครั้งว่ายออกห่างไปไกล บางครั้งว่ายเฉียดเข้ามาใกล้ให้คนบนเรือได้เห็นถึงความใหญ่โตของยักษ์ใหญ่แห่งทะเลอ่าวไทย บางตัวว่ายเคียงคู่กันมาสองตัวแม่ลูก ผลัดกันโผล่พ่นละอองน้ำน่าชมยิ่งนัก บ้างมากันเป็นกลุ่ม 3-4 ตัวช่วยกันต้อนปลาหาอาหาร หากินร่วมกันในระยะสั้นๆ ก่อนจะแยกย้ายกันไป บางตัวใช้หางฟาดน้ำต้อนปลาเล็กปลาน้อยให้มาเป็นอาหาร บางตัวโผล่หัวขึ้นพ้นน้ำอ้าปากกว้างรอรับปลาเข้าสู่ท้องเป็นอาหารอันโอชะ

ที่น่ารักก็คือ หากเห็นวาฬบรูด้าขึ้นกินเหยื่อที่ไหน ก็จะเห็นฝูงนกนางนวลแกลบคอยบินวนเวียนอยู่รอบๆ ปากที่อ้ากว้างอยู่นั้น เพราะนกเหล่านี้รู้ดีว่าฝูงปลาจะกระโดดดิ้นขึ้นมาเต็มไปหมดเมื่อวาฬขึ้นกินเหยื่อ มันจะใช้โอกาสนี้บินโฉบปลาเล็กๆ เหล่านี้ บางครั้งคล้ายจะบินเข้าไปในปากของวาฬจนน่ากลัวจะกลายเป็นอาหารของวาฬบรูด้าไปเสียก่อน ดังนั้นจุดสังเกตวาฬบรูด้าอย่างหนึ่งก็คือฝูงนกนางนวลแกลบเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ในช่วงนี้เป็นช่วงที่สามารถออกเรือไปพบเจอวาฬบรูด้าได้ง่ายที่สุด และสามารถชมได้ถึงช่วงเดือนมกราคม แต่ความถี่ของการพบเจออาจจะไม่มากเท่ากับช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. และการชมวาฬบรูด้าที่นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติก็คือ เรือที่นำชมต้องไม่เข้าใกล้วาฬมากจนเกินไป ไม่แล่นเรือไล่ต้อนวาฬ และไม่ให้อาหารวาฬ รวมทั้งไม่ส่งเสียงดังรบกวนเพราะทั้งเสียงเรือและเสียงคนบนเรือจะเป็นการรบกวนวาฬบรูด้าด้วยเช่นกัน

ธรรมชาติต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำส่งผลต่อสัตว์ทะเลทั้งปลาเล็กปลาน้อยและยักษ์ใหญ่อย่างวาฬบรูด้า การรักษาสมดุลนี้จะทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลคงอยู่ตลอดไป แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของคนชายฝั่งและนักท่องเที่ยวที่ต้องใช้จิตสำนึกช่วยกันรักษาท้องทะเลของเราด้วยเช่นกัน

สอบถามรายละเอียดเรือนำชมวาฬบรูด้าได้ที่ บางตะบูน : ครัวริมทะเลบางตะบูน (เล็ก เรือเช่า) โทร. 08 6796 5506 คุณจำรูญ พงศ์พิทักษ์ โทร. 0 3258 1233 คุณทิพย์เนตร สุขเจริญ โทร. 08 9796 5506

แหลมผักเบี้ย : มนู อรัญพันธ์ ประธานชมรมวาฬบรูด้าแหลมผักเบี้ย โทร. 08 1856 4939

และสามารถสอบถามตามร้านอาหารทะเลที่เปิดบริการพานักท่องเที่ยวตามชายฝั่งแม้น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน จนถึงปากแม่น้ำแม่กลอง

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • ธิดารัตน์ สมพันธ์
    ไม่เห็นเหมือน ก ไก่ ตรงไหน
    15 ส.ค. 2561 เวลา 02.43 น.
  • 廖欣怡[Mikki]🎀
    ช่วยกันดูแลน้องๆนะคะ😊
    14 ส.ค. 2561 เวลา 13.59 น.
ดูทั้งหมด