ไลฟ์สไตล์

อี-คอมเมิร์ซถอยไป "ซี-คอมเมิร์ซ" กำลังมา

คมชัดลึกออนไลน์
อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 07.33 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 น.

ทุกวันนี้ นักช็อปออนไลน์เริ่มคุ้นเคยกับวิธีการขายสินค้าผ่าน "ไลฟ์สด" ที่พ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์หลายคน อาศัยลีลาการขายของแบบเฉพาะตัวจนสร้างฐานลูกค้าได้อย่างเหนียวแน่น บางรายปั้นยอดขายได้เป็นหลักล้านบาทต่อเดือน การไลฟ์สดขายของที่พูดถึงนี้ มาแรงจนถึงขึ้นมีบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมารองรับแล้ว เรียกว่า "ซี-คอมเมิร์ซ (Conversational Commerce)" หรือสาขาย่อยของอี-คอมเมิร์ซนั่นเอง

ในที่นี้ขอหยิบยกคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายของ ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Cofounder at The Flight 19 Agency ซึ่งเคยเขียนแบ่งปันความรู้ไว้ในบล็อกบนเว็บ twfdigital.com บอกว่า Conversational Commerce ก็คือ โซเชียล คอมเมิร์ซแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการซื้อขายโดยการพูดคุยผ่านการส่งข้อความ หรือแชท (Chat) นั่นเอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่น่าสนใจกว่านั้น ก็คือ Conversational Commerce ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของบ้านเรา เพราะสำหรับเอสเอ็มอี และแม่ค้าออนไลน์ในเมืองไทย การใช้โซเชียลมีเดีย อย่างเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เป็นหน้าร้าน แล้วพูดคุยกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายผ่านทางแชท ไม่ว่าจะเป็น messenger, IG direct, หรือ LINE ไปจนถึงการโอนเงินผ่าน mobile banking, e-banking แล้ว confirm ส่งของทางไปรษณีย์ เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เฟซบุ๊กได้รับความนิยมสำหรับการทำการตลาดแล้ว แถมทุกวันนี้ยังข้ามขั้นไปถึงการไลฟ์ขายของตั้งแต่ เสื้อผ้า กระเป๋า ต้นไม้ ไปจนถึงอาหารทะเล

ขณะที่ จากผลสำรวจอย่างเป็นทางการล่าสุดของเฟซบุ๊ก ซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีใช้สื่อโซเชียลมีเดีย และมีนักช็อปผ่านช่องทางซี-คอมเมิร์ซสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มียอดขายผ่านช่องทางนี้สูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รั้งอันดับ 2 ในภูมิภาคนี้ โดยมีเวียดนามนำหน้าด้วยตัวเลข 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินโดนีเซีย ตามมาในอันดับ 3 ด้วยตัวเลข 4.7 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐ

อีกทั้ง ยังมีรูปแบบการซื้อขายสินค้าที่แตกแขนงออกมาจาก "ซี-คอมเมิร์ซ" ที่กำลังมาแรงก็คือ รูปแบบของ "ไลฟ์ คอมเมิร์ซ" (Live-Commerce) เป็นการเชื่อมโยงระหว่าง โซเชียลมีเดีย, อี-คอมเมิร์ซ และสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์ม เข้าไว้ด้วยกัน โดยผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตอบโต้สื่อสารกันได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถเพิ่มยอดการขายให้แก่ผู้ขายได้มากขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แนวโน้มความแรงของการไลฟ์ขายของในบ้านเรา ล่าสุดได้ไปเข้าตาบริษัท เอ็มเซเว่นทีน เอนเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป (M17 Entertainment Group) ของไต้หวัน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นผู้นำด้านธุรกิจ Social Entertainment ของเอเชีย เข้ามาเปิดตัวบริษัท เอ็มเซเว่นทีน เซอร์วิสเซส ไทยแลนด์ ประกาศกร้าวขอเป็นผู้นำในการรุกตลาดธุรกิจ "ไลฟ์ คอมเมิร์ซ" (Live-Commerce) พร้อมเปิดตัวโซลูชั่นรองรับนักช็อปและพ่อค้า/แม่ค้าชาวซี-คอมเมิร์ซแบบไลฟ์สดอย่างครบวงจร ในชื่อ "แฮนด์ อัพ" (Hands Up) Live-Commerce Solutions เจ้าแรกในประเทศไทย ช่วยทำให้การไลฟ์ขายของบนโลกออนไลน์… ง่ายนิดเดียว

ผู้บริหารของเอ็มเซเว่นทีน บอกว่า ต้องการทำให้ธุรกิจ "ไลฟ์ คอมเมิร์ซ" เป็นที่แพร่หลายเช่นเดียวกับในไต้หวันและประเทศจีน โดยหลังเปิดตัวแพลตฟอร์ม "แฮนด์ อัพ" เมื่อปี 2562 ปัจจุบันมีร้านค้าที่ไลฟ์ขายของในระบบมากกว่า 7,000 ราย ในเอเชีย ส่วนในประเทศไทยนั้น ตั้งเป้าว่าจะดึงดูดนักขายไลฟ์สดเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ถึง 3,000 ราย

อีกบริการที่น่าสนใจอย่างมากจากบริษัทนี้ ก็คือยังมีบริการ "นักไลฟ์" หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดและไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อ ทั้ง KOL (Key Opinion Leader) และอินฟลูเอนเซอร์ มาเป็นตัวช่วยรีวิวและทำการตลาดผ่านคอนเทนต์ต่างๆ ให้กับสินค้าหรือแบรนด์ ให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังโน้มน้าวจิตใจของกลุ่มผู้บริโภคให้หันมาสนใจสินค้าหรือแบรนด์มากขึ้นอีกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และสำหรับผู้สนใจอยากเป็น นักไลฟ์มืออาชีพ บริษัทเปิดช่องทางรับสมัครสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย สามารถติดต่อเข้ามาได้ผ่าน https://www.naklive.net

ในภาพรวมของช่องทางการขายรูปแบบใหม่ที่กำลังเพิ่มความแรงไล่จี้อี-คอมเมิร์ซแบบเดิมๆ ด้วยลีลาไลฟ์สดขายของ ปัจจุบันได้รับการจับตามองอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วจากพฤติกรรมที่ผู้บริโภคมากกว่า 40% นิยมการซื้อสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีแรงส่งจากการใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือคนดังมาเป็นคนรีวิวิเองด้วย

ส่วนในประเทศไทย เชื่อว่าหลายคนก็คงคุ้นชื่อ "บังอาซัน" เจ้าของเพจอาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล ที่ใช้เสน่ห์จากลีลาและความจริงใจนำเสนอผลิตภัณฑ์ดีๆ จากพื้นถิ่นมาทำการไลฟ์สดเป็นประจำทุกวัน จนยอดสั่งซื้อถล่มทลายสร้างยอดขายได้หลักล้านบาทต่อเดือน

ดูข่าวต้นฉบับ