รายงานข่าวระบุว่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการทดสอบ วัคซีน ChulaCov19 ในอาสาสมัครในระยะที่ 1 และต่อเนื่องไปในระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 64 ที่ผ่านมา ภายใต้การควบคุมดูแลจากหลายภาคส่วน รวมถึงมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดของการทดสอบฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ วัคซีน ChulaCov19 มีจุดเด่นที่สำคัญประกอบด้วย
1.จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก
2.ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อ Covid-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
3.วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน
สำหรับการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 นั้น ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย โดยเป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย
วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ได้ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1ให้กับอาสาสมัครดังกล่าว โดยจะแบ่งการทดสอบดังนี้
-การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน
กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน
กลุ่มที่สอง เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน
ในจำนวนสองกลุ่มข้างต้นจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่า วัคซีน ChulaCov19มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าไร เพราะปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม
ดังนั้นทางศูนย์ฯ ต้องศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชียเหมาะกับการฉีด 10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2-สำหรับการทดสอบในระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
"การทดสอบวัคซีนนั้นคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของอาสาสมัคร ต้องใช้ระยะเวลาและทยอยฉีดตามลำดับ โดยใช้หลักการเหมือนกันทั่วประเทศ ถึงจะทราบข้อมูลจากผลการศึกษาว่าสามารถป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่ หากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร ก็จะช่วยลดขั้นตอนได้ โดยวัคซีนนี้อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ภายในก่อนกลางปีหน้า"
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการเตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่สองกับสัตว์ทดลองควบคู่กันไปกับรุ่นแรกข้างต้น เพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ โดยทั้งหมดเป็นวัคซีนที่คิดค้น พัฒนาและผลิตโดยคนไทย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผนคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนได้เพื่อทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาสสี่ของปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ห่วง "โควิดสายพันธุ์อินเดีย" ระบาดในไทย "หมอยง" แนะเร่งฉีดวัคซีนในคนหมู่มาก
- ยอดโควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 3,000 ราย เสียชีวิต 19 คน
- ยาไมเกรน-คุมกำเนิดกินได้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด "หมอยง" แนะให้ทำตัวเหมือนปกติ
- แนะกินยาพาราเฉพาะมีอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด "หมออนุตตร" ยันไม่ควรกินก่อน
- 4 หลักจริยธรรมกับนโยบายป้องกันโควิดระดับประเทศ "หมอธีระ" ชี้ช่วยให้เห็นปัญหาวัคซีน
เอ๋ ทำให้สำเร็จ
เงินทุนวิจัยก็สำคัญ
ให้ทุกอย่างผ่านไปได้ดี
15 มิ.ย. 2564 เวลา 09.17 น.
Rung2519 จะดูแลตัวเองอย่างดีเพื่อรอวัคซีนตัวนี้ตัวเดียวจะไม่ยอมฉีดของจีนจองฝรั่งเด็ดขาดจะฉีดวัคซีนของไทยเท่านั้นเพราะหมอไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดๆหมอไทยย่อมรู้ดีว่ายาขนานไหนที่เข้ากันได้กับเลือดกับความดันในร่างกายของคนไทย
15 มิ.ย. 2564 เวลา 08.44 น.
อิท 🐍🐍🐠🐠💓🦐🦐 เป็นการเริ่มต้นที่ดี ถึงแม้จะไม่ทันสถานการณ์โควิด19
แต่ก็มีประโยชน์มากสำหรับเชื้อโรคอุบัติใหม่ในอนาคต จะได้มีวัคซีนรองรับอย่างรวดเร็ว
15 มิ.ย. 2564 เวลา 04.43 น.
Banna ขออวยพร แต่ผลิตเสร็จ กลางปีหน้าไท่ทันกาลแล้ว เพียงช่วยลดค่าใช้จ่าย งปม รัฐบาลได้
15 มิ.ย. 2564 เวลา 03.58 น.
Wewalk@123 ไม่ทันการณ์ ป่านนั้นโควิดฉีดใกล้ครบหมดทั้งโลกเเล้ว
15 มิ.ย. 2564 เวลา 02.39 น.
ดูทั้งหมด