ไลฟ์สไตล์

รู้จัก ‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ ซามูไรคนสุดท้าย ผู้พลิกญี่ปุ่นสู่โลกแห่งเศรษฐกิจ

Rabbit Today
อัพเดต 18 ม.ค. 2562 เวลา 04.38 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 04.28 น. • Rabbit Today

ถ้าคิดไม่ต่างกัน ตอนนี้หลายคนคงอยากหนีฝุ่นพิษในเมืองไทย ไปหาที่ชะล้างปอดให้บริสุทธ์ และประเทศหมุดหมายที่เหมาะเหม็งก็คงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น ที่ตอนนี้บรรดาคนไทยได้ไหลเวียนเข้าไปต่อปีกว่า 1 ล้านคน

อันที่จริงแล้ว กว่าที่ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่น่าแวะเวียนไปหาอย่างมากนั้น ก็เป็นประเทศที่ผ่านหลายเหตุการณ์มาอย่างหนัก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ญี่ปุ่นต้องสู้ตายกับเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุคเก่าก่อน จากที่เคยเป็นประเทศแพ้สงคราม กัดฟันสู้จนกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก แล้วก็วนมาเจอสภาพการแข่งขันในยุค Red Ocean จนเศรษฐกิจเริ่มดร็อปลง แต่ก็พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในแบบที่เรียกว่าร่วมด้วยช่วยกัน เช่น การเกียร์ไปที่ตลาดการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

แล้วรู้ไหมว่า…หัวคิดแบบการค้าที่ไหลเข้ามาในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกปีที่ 1 ทำให้ก้าวผ่านความเป็นประเทศปิดที่มีแต่เกษตรกรรมมาสู่มหาอำนาจทางการทหาร ผู้นำด้านอุตสาหกรรม นำเข้าวิทยาการ และผู้มีความรู้ รวมทั้งส่งคนของตนออกไปเรียนรู้ความรู้ทุกแขนง จนเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่น้อย โรงงานเหล็ก และอื่นๆ อีกมากมายได้นั้น…

…เริ่มต้นจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ซามูไร’

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภาพของนักรบผู้ถือดาบยาว และรักศักดิ์ศรี พร้อม ‘ฮาราคีรี’ ตนเองได้หากต้องพ่ายแพ้ หรือกระทำผิดอันใด จะมีส่วนอะไรกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

ภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai ได้นำเอาความกล้าหาญของนักรบญี่ปุ่นยุคโบราณอย่าง ‘ไซโก ทากาโมริ’ มาเป็นต้นแบบในการถ่ายทอด ผ่าน เคน วาทานาเบ และ ทอม ครูซ

เพียงแต่ซามูไรที่มีตัวตนอยู่จริงอีกคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่มีความสำคัญไม่แพ้กับ ไซโก ทากาโมริ และควรต้องพูดถึง ก็คือ ‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ ที่คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นในปัจจุบันต่างให้การยอมรับเป็นอย่างมาก ถึงขั้นตอนนี้ตามสถานีรถไฟฟ้าของญี่ปุ่นต้องเอารูปของเขามาติดไว้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลง ด้วยการให้คนไม่มาจ่อคิวขึ้นรถไฟฟ้าเบียดกันในเวลาไพรม์ไทมจนเกินไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ชื่อของ ซากาโมโตะ เรียวมะ ปรากฏในหนังสือ นิยาย ภาพยนตร์ เกม และการ์ตูนของญี่ปุ่นมากมาย แม้แต่มังงะและอนิเมเรื่องดังอย่างกินาทามะ ก็ยังเอาแกมาใช้เลย

เรียวมะ เขาเป็นซามูไรที่มีตัวตนอยู่จริงในช่วงปลายยุคเอโดะ เป็นผู้มีฝีมือด้านเพลงดาบและการเจรจา อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเดินเรือพาณิชย์แห่งแรกของญี่ปุ่นอย่าง บริษัทคาเมะยามะซาจู หรือ ไคเอ็นไต รวมถึงยังมีธุรกิจผลิตสาเกสุดเลิศรสที่ใช้ชื่อตามชื่อของเขาด้วย (ยังมีขายจนถึงทุกวันนี้)

เขาเป็นซามูไรชั้นล่างที่เกิดในโทสะ ซึ่งเป็นหัวเมืองที่ยึดถือระบบชนชั้นอย่างเคร่งครัดมาก แต่โชคดีที่เกิดมาในครอบครัวพ่อค้าที่ค่อนข้างมีฐานะพอสมควร จึงได้อาศัยจุดเด่นตรงนี้ คว้าตำแหน่งซามูไรมา และเมื่อเติบใหญ่ เขาก็เริ่มฉายแววของการเป็นยอดนักดาบ รวมถึงเป็นผู้มีความคิดอ่านในลักษณะที่คนยุคนั้นเรียกว่า ‘พวกนอกคอก’ แต่ภายหลังประวัติศาสตร์เรียกพวกนี้ว่า ‘คนหัวก้าวหน้า’

เหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนหัวก้าวหน้าและเป็นจุดเริ่มต้นของการค้า การเศรษฐกิจของเรียวมะ เกิดขึ้นเมื่อเขาได้เดินทางไปฝึกวิชาดาบที่สำนักชิบะในเอโดะ และเป็นนักดาบแถวหน้าของประเทศ แต่ในระหว่างนั้น เขาได้พบกับการมาของ ‘เรือดำน้ำ’ จากโลกตะวันตก ซึ่งทำให้เขาพบว่า โลกนี้กว้างใหญ่ และไม่ได้มีแต่ญี่ปุ่นเท่านั้น

ความคิดของเขาเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น จนกระทั่งได้พบกับชายที่ชื่อว่า ‘คัตสึ ไคชู’ ซึ่งเรียวมะเคยคิดจะบุกเข้าไปลอบสังหาร เพราะเห็นว่าคัตสึเป็นผู้ที่มีแนวคิดต้องการให้รัฐบาลเปิดประเทศติดต่อกับอเมริกา

เหตุเพราะคนหนุ่มจำนวนมากในยุคนั้นไม่เห็นด้วยกับแนวคิดค้าความเจริญกับต่างชาติ และคิดว่าจะทำให้เกิดความเสียเปรียบ ซึ่งเรียวมะก็เป็นคนหนุ่มที่ต่อต้านตะวันตก แต่หลังจากพบกับคัตสึและพูดคุยกันแล้ว จึงพบว่าเขาและคัตสึมีมุมมองคล้ายกันคือ “จะเอาชนะตะวันตก ต้องเรียนรู้วิทยาการของตะวันตกให้มากที่สุด แล้วนำมาพัฒนาประเทศญี่ปุ่น”

จากวันนั้น เรียวมะจึงเริ่มเรียนรู้โลกวิทยาการและเศรษฐกิจจากต่างแดน และเปลี่ยนตัวเองจาก ซามูไร กลายเป็นนักเจรจา นักการเมือง พ่อค้า นักคิด นักพูด ผู้นำทหารเรือ และเริ่มเป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปลดแอกยุคศักดินา และนำเรื่องหลักการทางเศรษฐกิจมาปฏิวัติวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมากกว่าการรบราฆ่าฟันและแก่งแย่งอำนาจกันในประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อญี่ปุ่นในอนาคต

แต่ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เขาไม่สามารถเห็นความสำเร็จที่เขาได้วางรากฐานไว้ได้ เพราะ เรียวมะ ถูกลอบสังหารจากกลุ่มคนที่ยังคิดต่างกับแนวคิดหัวก้าวหน้าแบบเขา ตั้งแต่เขาเพิ่งจะอายุ 31 ปีเท่านั้น

อย่างไรก็ตามแนวคิดของเขา ก็ฝังรากมาถึงคนญี่ปุ่นในแต่ละยุคตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และปัจจุบัน ให้ตระหนักถึงวิถีเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องอื่นใด จนกลายเป็นตำนานที่ทำให้คนญี่ปุ่นยกให้เป็นแม่แบบแห่งความก้าวหน้าในประเทศ

โดยช่วงปี 2010 นิตยสาร Japan Time ได้ทำการสำรวจโดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยรุ่นชายหญิงชาวญี่ปุ่น เพื่อค้นหาว่าพวกเขา “ต้องการได้ผู้นำที่เหมือนกับบุคคลใด” แล้วผลปรากฏว่า พวกเขาอยากได้ผู้นำและนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เหมือนกับ ‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ นั่นเอง

แม้ในวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะไม่ได้รุ่งเรืองที่สุดของโลก และดูเหมือนว่ากำลังอยู่ในภาวะ ‘สองทศวรรษที่หายไป’ จากปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังฟองสบู่ภาคอสังหาฯ แบบสะสม คนญี่ปุ่นเข็ดกับการลงทุน ไม่กล้าใช้จ่าย สปริงบอร์ดไปถึงภาคการค้าและการผลิตของญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลงอย่างมาก เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลออกทั้งภาคธุรกิจและภาคการลงทุน จนคู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างจีนและเกาหลีใต้เริ่มไล่ตามทันได้

แต่อาการบาดเจ็บเหล่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้คนในประเทศสิ้นหวัง และยังมองว่าอะไรที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ก็จะทำ และนั่นทำให้เห็นว่าภาคท่องเที่ยวเริ่มเป็นไฮไลต์สำคัญที่ดึงคนเข้าประเทศได้มากพอสมควร

ทั้งหมดทั้งมวล ก็คงต้องบอกว่า แนวคิดของ ‘ซามูไร’ คนสุดท้ายอย่าง ‘ซากาโมโตะ เรียวมะ’ น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นยังพร้อมลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับทุกการเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีท้อ ก็เป็นได้…

ดูข่าวต้นฉบับ