ไลฟ์สไตล์

มิตรภาพเหนือเหรียญเงิน! ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่นักกีฬาไม่ยอมขึ้นรับรางวัล

LINE TODAY ORIGINAL
เผยแพร่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 02.34 น.

การได้เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอาจเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่สำหรับนักกีฬาหลาย ๆ คน พวกเขาพร้อมที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นปี ๆ เพื่อที่จะโชว์ความสามารถ และเป้าหมายก็คือนำเหรียญรางวัลกลับบ้านเกิดไปให้ได้ แต่ทว่าในโมเมนต์ที่เต็มไปด้วยความการเชือดเฉือน การเอาชนะ ก็ยังคงมีเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละปีที่ทำให้เราได้เห็นว่าเกมกีฬาจะสมบูรณ์แบบไปไม่ได้หากขาดน้ำใจของเหล่านักกีฬา อย่างเช่นเหตุการณ์จากโอลิมปิกปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลินนี้..

ในแมตช์แข่งขันกระโดดค้ำถ่อหรือกีฬากระโดดสูงโดยการใช้ไม้ยาวค้ำ มีนักกีฬาทั้งหมด 4 คนที่เข้าชิงเหรียญในรอบไฟนอลนี้ ประกอบด้วยชาวอเมริกัน 2 และชาวญี่ปุ่นอีก 2 คน ซึ่งจากการเก็บผลคะแนน เหรียญทองก็ตกเป็นของ นายเอิร์ล เมโดว์ส หนึ่งในนักกีฬาชาวอเมริกันอย่างขาดลอยด้วยสถิติความสูงอันน่าประทับใจถึง 4.35 เมตร 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตำแหน่งที่ 2 และ 3 เลยเป็นการตัดสินผลคะแนนจากนักกีฬาที่เหลือ โดยในกลุ่มนี้มี นายชูเฮ นิชิดะ และ นายซูเอโอะ โอเอะ สองตัวแทนทีมชาติจากประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้วย ทั้งคู่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เพื่อนร่วมทีมธรรมดา ๆ แต่พวกเขาคือเพื่อนรักที่คอยเป็นแรงผลักดันให้กันและกัน ที่น่าตลกก็คือดูเหมือนกับว่าพระเจ้าต้องการจะทดสอบมิตรภาพของเพื่อนสนิทคู่นี้ เพราะว่าผลคะแนนของนายนิชิดะและนายโอเอะ ออกมาเท่ากันเป๊ะ ๆ กรรมการจึงขอให้พวกเขาแข่งใหม่อีกรอบเพื่อตัดสินว่าใครจะได้ที่ 2 และที่ 3 แต่ด้วยความเคารพในความมุ่งมั่นพยายามของอีกฝ่าย นายนิชิดะและนายเอโอะเลยปฏิเสธการรีแมตช์และขอให้พวกเขาแชร์เหรียญเงินหรือตำแหน่งที่ 2 นี้ด้วยกัน

ถึงอย่างไร กฎของเกมกีฬาก็ยังคงต้องถูกรักษาไว้ตามแบบแผน กรรมการปฏิเสธคำขอของพวกเขาและให้ทีมญี่ปุ่นเป็นคนตัดสินเอาเองว่าใครจะได้รางวัลไหน ซึ่งผลสรุปออกมาว่าทางทีมมอบเหรียญเงินให้กับนิชิดะ ส่วนนายโอเอะก็ครองเหรียญทองแดงไป 

มีหลาย ๆ ทฤษฎีที่พยายามหาเหตุผลให้กับผลการตัดสินครั้งนี้ หลาย ๆ คนเชื่อว่าที่นิชิดะคู่ควรกับเหรียญเงินมากกว่าเพราะสถิติการกระโดดของเขาเกิดขึ้นในครั้งแรก ในขณะที่นายโอเอะทำคะแนนได้ในการกระโดดครั้งที่ 2 แต่ก็มีอีกหนึ่งข้อสันนัษฐานที่บอกว่านายโอเอะอาจเป็นผู้เสียสละตำแหน่งที่ 2 ให้กับรุ่นพี่ของเขา เพราะตัวเขาเองอายุเด็กกว่านายนิชิดะถึง 4 ปี และยังมีโอกาสในการกลับมาแข่งขันอีกหลายปีมากกว่า แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ทั้งคู่ได้ทำหลังจากพาเหรียญโอลิมปิกกลับไปยังญี่ปุ่นได้สำเร็จแล้ว ก็ทำให้เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้น…

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งคู่ตัดสินใจไปหาช่างจิวเวลรี่ ขอให้ช่างตัดเหรียญของทั้งคู่ออกเป็นครึ่งชิ้น แล้วนำชิ้นส่วนคนละครึ่งของเหรียญเงินและเหรียญทองแดงมาหลอมรวมกัน กลายเป็น 'Medals of Friendship' หรือเหรียญรางวัลแห่งมิตรภาพที่เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่กีฬาโอลิมปิกได้จัดมา และเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าทั้งคู่ได้เห็นคุณค่าของความอดทนพยายามของอีกฝ่ายมากกว่าตำแหน่งที่ถูกตัดสินให้ได้รับ

นั่นไม่ได้หมายถึงว่าทั้งนิชิดะและโอเอะจะหยุดกับการแข่งขันเพียงเท่านั้น ทั้งคู่เตรียมฝึกฝนเพื่อลงแข่งในปี 1940 อีกครั้ง แต่เกมก็ถูกยกเลิกไปก่อนเนื่องด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น อีกครั้งที่พวกเขาตั้งใจจะลงแข่งก็คือโอลิมปิกในปี 1952 แต่นายโอเอะก็ดันเสียชีวิตในสงครามไปเสียก่อน ส่วนนายนิชิดะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 87 ปี เขาเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในปี 1997 และหลังจากนั้น เหรียญแห่งมิตรภาพ ก็ได้ถูกบริจาคไปให้กับพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยวาเซดะในโตเกียว ซึ่งเป็นโรงเรียนของตัวนิชิดะด้วย

ถึงจะไม่ได้ลงแข่งอีกครั้งตามที่หวังเอาไว้ แต่ทั้งคู่ก็ได้ทำให้ทั้งโลกได้รับรู้ถึงมิตรภาพอันสวยงามที่เกิดขึ้นระหว่างนักกีฬา 2 คน กีฬาอาจไม่ได้หมายถึงการห้ำหั่นเอาชนะ แต่เป็นการทำงานแบบทีมและการให้เกียรติ เคารพในความสามารถของกันและกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อ้างอิง

เว็บไซต์ Tokyo Weekender

ความเห็น 40
  • kris Senamart๗๘
    สวยงามมากครับ
    28 ก.ค. 2564 เวลา 04.26 น.
  • Pa'Ple
    ประเทศเค้าถึงเจริญ
    28 ก.ค. 2564 เวลา 05.15 น.
  • greeny
    น้ำใจนักกีฬา
    28 ก.ค. 2564 เวลา 05.51 น.
  • MoM and Dad
    สุดยอด
    28 ก.ค. 2564 เวลา 05.18 น.
  • Joannie
    ยอดเยี่ยม ตื้นตันใจสุดๆ
    28 ก.ค. 2564 เวลา 05.37 น.
ดูทั้งหมด