เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงการพัฒนาคิดค้นสูตร ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับเด็ก เตรียมให้สถานพยาบาลลงทะเบียนขอรับยา หรือ นำไปผลิตเองต่อ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ส.ค.64 นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยถึงการพัฒนาและคิดค้นสูตร“ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ต้านเชื้อไวรัส แบบน้ำเชื่อม สำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันเด็กมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อ'
การใช้ยาต้านไวรัส หากได้ยาเร็วภายใน 4 วันหลังมีอาการจะลดอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และน่าจะลดการเสียชีวิตได้ โดยยาชนิดน้ำ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด เพื่อผลิตยาในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ต้องรับประทานให้หมดภายใน 30 วัน หากใครจะนำตำรับยาเราไปผลิตโรงพยาบาลที่อื่นๆ โดยราชวิทยาลัยไปช่วยควบคุมมาตรฐาน ทางเราก็ยินดี
พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การใช้ยาต้านไวรัส เป็นหัวใจสำคัญในการลดความรุนแรงของโรค โดยยาฟาวิพิราเวียร์เริ่มใช้ในญี่ปุ่นกรณีใช้ในโรคไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคโควิดจะใช้ในขนาดที่มากพอสมควร โดยวันแรก 70 มก./กก./วัน วันต่อมาใช้ 35 มก./กก./วัน แบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง ดังนั้น หากเด็ก 10 กก.จะต้องทานถึง 1 เม็ดกับอีก 3 ส่วน 4 เม็ด แต่หากใช้เป็นยาน้ำจะป้อนเด็กได้ง่ายขึ้น โดยวันแรกจะใช้ 27 cc ต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง วันต่อมาจะใช้ 12 cc หรือ 3 ส่วน 4 เม็ด
พญ.ครองขวัญ เนียมสอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ กล่าวว่า จากการระบาดที่ผ่านมามีเคสเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น โดยเฉพาะเดือนก.ค. ยอดขึ้นไป 2-3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าด้วยสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ เคสเด็กก็มีอัตราการเกิดโควิดติดเชื้อ หรือเชื้อลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเด็กติดเชื้อ 50% เพิ่มเป็น 80-90% เมื่อติดตามการรักษา แต่ยังสบายใจตรงที่อาการเด็กเบากว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กปอดติดเชื้อยังไม่ต้องการออกซิเจนมากเท่าไหร่ ยังคงมีออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95-96% เป็นส่วนใหญ่
พญ.ครองขวัญ กล่าวอีกว่า ยาน้ำข้อดีมีปริมาณยาคงที่ ทำให้เด็กได้รับการดูดซึมยาอย่างดี แต่มีปริมาตรยามากกว่ายาน้ำทั่วไป เช่น ในเด็กน้ำหนัก 10 กก. ปกติจะป้อนยาประมาณ 1 ช้อน หรือ 5 cc โดยวันแรกจะได้รับยาค่อนข้างมาก แต่วันถัดไปก็จะกินยาไม่แตกต่างยาน้ำเด็กตำรับทั่วไป
ขณะนี้มีการทดลองใช้จริงในคนไข้เด็ก และสังเกตอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับยาบดละลายน้ำ โดยเราให้เด็กช่วงอายุ 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 12 ราย พบว่าตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง มีเพียงเด็ก 8 เดือนที่อาจมีการแหวะยาในช่วงแรก แต่ปริมาณน้อย คือ 1 cc นอกนั้นสามารถรับยาได้หมด
พญ.ครองขวัญ กล่าวถึงอาการโควิดในเด็ก ว่า อาการทั่วไป มีไข้ หรือออกผื่น ซึ่งอาจขึ้นใบหน้า หรือลำตัว อาจมีอาการนอกเหนือจากนี้ เช่น ทางเดินอาหาร เบื่ออาหารคล้ายเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ มีอาการถ่ายเหลวได้ อาการนี้อาจนำมาร่วมกับการสัมผัสผู้ป่วย ดังนั้น หากเด็กมีอาการก็อย่านิ่งนอนใจ อาจเป็นโควิดได้ ซึ่งเด็ก 1 คนอาจมีอาการเหล่านี้ได้ภายใน 1-3 วัน จึงอาจต้องมีการตรวจ ส่วนอาการอาจอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ในเด็กไม่มีโรคประจำตัว
หากได้รับยานี้ เบื้องต้นแนะนำให้ยาเป็นเวลา 5 วัน วันแรก หรือยา 2 มื้อแรก ต้องรับยาค่อนข้างมากตามที่กำหนด คือ 4 เท่าของปริมาณปกติ เพื่อให้ระดับยาในเลือดสูงขึ้นเพียงพอต่อการแข็งตัวของไวรัส จากนั้นให้เป็นไปตามข้อกำหนด และต้องติดตามใน 4 วัน และต่อเนื่อง
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การให้ยาในโรงพยาบาลจะไม่มีปัญหา โดยมีข้อบ่งชี้เป็นผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกินอาหารได้เอง และต้องมีผลตรวจเชื้อโควิดด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท ก่อน หากเป็นบวกก็ให้ยา จากนั้นค่อยคอนเฟิร์มด้วยการตรวจแบบ RT-PCR แต่เรามองภาพไปยังคนไข้คนอื่นที่ไม่ใช่ของ รพ.จุฬาภรณ์ จึงได้วางแผนว่า จะหาหน่วยบริการอื่นๆ มาร่วมมือทั้งการให้ยา ติดตามคนไข้ และอนาคตอาจให้ร่วมผลิตในโรงพยาบาลได้
อย่างไรก็ตาม จะให้ขอยารับยาได้ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ ผ่านเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์
ทั้งนี้ สถานพยาบาลอื่นๆ หรือแพทย์สามารถขอมาทางราชวิทยาลัยได้ แต่ระยะแรกสามารถผลิตยาได้ไม่มาก ประมาณ 100 รายต่อสัปดาห์ หรือ 20 รายต่อวัน และจะได้ยาภายใน 1 วัน หลังจากลงทะเบียนกรอกข้อมูลเรียบร้อย และจะจัดยาไม่เกินเวลา 20.00 น.ของทุกวัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการจัดส่งอาจต้องรับผิดชอบเอง หรือประสานผู้ร่วมมือจัดส่งให้