ไอที ธุรกิจ

คนไร้บ้าน ปัญหาใต้พรม "ญี่ปุ่น"

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 19 ต.ค. 2562 เวลา 13.50 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2562 เวลา 13.50 น.
A homeless man looks on from a sidewalk in Tokyo's Ginza district on April 5, 2019. (Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

จากกรณีกระแสความไม่พอใจและโจมตีรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างหนักในทวิตเตอร์เมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ในกรณีคนไร้บ้าน 2 ราย ที่ถูกปฏิเสธให้เข้าไปหลบภัยในศูนย์พักพิงเขตไทโตะ ท่ามกลางพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสที่กำลังถล่มอย่างหนัก ทำให้ประเด็นปัญหา “คนไร้บ้าน” (homeless) ในญี่ปุ่นถูกหยิบยกและขุดคุ้ยขึ้นมา

กระทั่งนายกรัฐมนตรี “ชินโสะ อาเบะ” ของญี่ปุ่นแถลงเกี่ยวกับปัญหาคนไร้บ้านว่าจะหามาตรการช่วยอย่างเท่าเทียม และเสนองบ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงช่วยเหลือคนไร้บ้าน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศพัฒนาที่มีเทคโนโลยีที่โดดเด่น ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางฐานะสูงเช่นกัน และปัญหา “คนไร้บ้าน” ในญี่ปุ่นก็ขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาใต้พรมของรัฐบาลญี่ปุ่นมานาน นับตั้งแต่ที่นายชินโสะ อาเบะ เข้านั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2012

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อเดือน ก.ค. 2019 ระบุว่า ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนคนไร้บ้านราว 4,977 คน ลดลงจาก 5,534 คนในปี 2018 ขณะที่ศูนย์วิจัยเพื่อการไร้ที่อยู่อาศัยในกรุงโตเกียว ศึกษาร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรโตเกียว (NGO) ระบุว่า ตัวเลขสถิติของรัฐบาลไม่เป็นความจริง เพราะเก็บข้อมูลจากจำนวนคนไร้บ้านบริเวณสถานีรถไฟ และพื้นที่รอบ ๆ แม่น้ำเท่านั้น ตัวเลขผู้ไร้บ้านแท้จริง มีเกือบ 3 เท่าของตัวเลขสถิติของรัฐบาล เพราะมีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ในรูปแบบใหม่มากขึ้น เช่น อาศัยอยู่ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ สถานีรถไฟใต้ดิน สวนสาธารณะขนาดเล็ก และตามลานจอดรถในห้างสรรพสินค้า ทั้งพบว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะไม่มีรายได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าบ้าน และไม่มีครอบครัวหรือไม่ได้แต่งงาน ซึ่งคนไร้บ้านในญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีรายได้เพียงเล็กน้อยจากการเก็บกระป๋องอะลูมิเนียม ขวดพลาสติก หนังสือและนิตยสารเก่าเพื่อนำไปขายต่อ โดยรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000-30,000 เยน/เดือน

“ยูโกะ คาโตะ” นักวิจัยของศูนย์วิจัยเพื่อการไร้ที่อยู่อาศัยในโตเกียว กล่าวว่า แม้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสวัสดิการรัฐช่วยเหลือประชาชนที่ดีมากแห่งหนึ่งของโลก แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ขณะเดียวกัน รายได้ของภาครัฐก็ลดน้อยลงจากภาวะเงินฝืดเรื้อรัง ทำให้สวัสดิการต่าง ๆ ไม่ครอบคลุมประชาชนในทุกระดับ รวมถึงกลุ่มคนสูงอายุที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก ติดต่อกันมากกว่าหนึ่งทศวรรษ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ศูนย์วิจัยดังกล่าวยังระบุว่า ในปี 2018 คนญี่ปุ่นที่ “ยากจน” มีมากขึ้นถึง 20 ล้านคนจากประชากรกว่า 120 ล้านคน หรือทุก ๆ 1 ใน 6 คนญี่ปุ่นมีฐานะยากจน โดยคนที่ถูกจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ความยากจน วัดจากการมีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยประชากร นายคาโตะชี้ว่า สาเหตุความยากจนในญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาตกงาน และมีรายได้ที่ไม่แน่นอน เพราะธุรกิจปิดตัว ผลกระทบต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี และหลายบริษัทปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นลักษณะการจ้างพนักงานชั่วคราวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน “ญี่ปุ่น” ถูกจัดอันดับมีค่าครองชีพสูงติด top 10 ของโลก เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ตามการจัดอันดับของ Economist Intelligence Unit (EIU)

นอกจากนี้ นายอาซาฮิ ชิมบุน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย องค์กร NGO ในนครโอซากา กล่าวกับบีบีซีว่า คนไร้บ้านในญี่ปุ่นกำลังเป็นปัญหารุนแรงขึ้น โดยในปี 2010 คนไร้บ้านในญี่ปุ่นเคยมีจำนวนต่ำกว่า 4,000 คน และเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,200 คน ตั้งแต่ปี 2014 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เข้าบริหารประเทศได้ 2 ปี และยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน ซึ่งประเด็นนี้ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพูดหรือมองว่าเป็นวาระสำคัญของประเทศ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“ญี่ปุ่น” มีปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยมานาน ขณะเดียวกัน ยังเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 253% สูงที่สุดเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ตามรายงาน World Population Review ปี 2019

นายชิมบุนกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณใหม่ของญี่ปุ่นที่เริ่มเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งงบประมาณแตะระดับ 100 ล้านล้านเยน (890,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่เกือบ 1 ใน 3 ถูกนำไปใช้ชำระหนี้ และอีกส่วนเป็นการนำไปลงทุนในโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่่อเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์-พาราลิมปิกเกมส์ 2020” ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากโดยคาดหวังว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแดนปลาดิบ อาทิ โครงการสร้างรางรถไฟสายใหม่ เชื่อมระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติโตเกียว และท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ซึ่งมาสิ้นสุดที่สถานีรถไฟโตเกียวเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

ขณะที่การจัดสรรงบประมาณสวัสดิการเพื่อรองรับประชากรผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ และปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมญี่ปุ่นที่ปะทุให้เห็นชัดมากขึ้น

ดูข่าวต้นฉบับ