แยกห้องนอนลูก เริ่มตอนกี่ขวบดี
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งมีลูกเป็นคนแรก อาจจะกำลังตัดสินใจเรื่อง "แยกห้องนอนลูก" กันอยู่ คงกำลังหาข้อสรุปหรือพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของการแยกห้องนอนให้ลูกกันอยู่ใช่ไหมละคะ ถ้าควรแยก จะแยกตอนลูกอายุเท่าไหร่ดี ส่วนบ้านที่ให้ลูกนอนกับพ่อแม่มานานหลายปี ก็อาจจะยังหาวิธีดี ๆ ที่จะฝึกให้ลูกนอนคนเดียวในห้องของตัวเองไม่ได้ กับคำถามคาใจเหล่านี้ มาหาคำตอบได้ในบทความเลยค่ะ
ทารกนอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ได้ไหม?
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการให้ทารกน้อยนอนหลับอยู่บนเตียงด้วยกัน ก็สามารถทำได้ ในไทยเราหลายบ้านนิยมให้ลูกน้อยนอนบนเตียงด้วยกันมากขึ้น เหตุผลอาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ยังหาที่นอนที่เหมาะสมให้กับลูกไม่ได้ แต่การให้ลูกน้อยนอนร่วมเตียงเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ก็มีข้อดีอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น
- คุณแม่สามารถให้นมลูกได้สะดวก ไม่ต้องเดินไปหาลูกที่นอนอยู่อีกห้อง หากได้นอนเตียงเดียวกันก็ยิ่งสะดวก เพราะคุณแม่ก็สามารถนอนให้นมได้โดยไม่ต้องตื่นแบบเต็มตา ทำให้คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- หากนอนห้องเดียวกัน โอกาสที่พ่อหรือแม่จะได้ยินเสียงลูกในยามวิกฤติและตอบสนองได้ทันก็จะสูงมาก หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นก็จะช่วยลูกได้ทันการณ์
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลับไม่ตื่นในทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS)
แต่ข้อเสียของการนอนห้องเดียวกับลูกก็ยังพอมีเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นจะต้องนำลูกไปฝากกับญาติหรือพี่เลี้ยง ก็จะทำให้ลูกนอนหลับได้ยากกว่าเดิม และในเด็กวัย 2-4 ขวบ อาจมีความคิดน้อยใจหรือคิดว่าพ่อแม่ทิ้ง
ข้อควรระวังหากนอนร่วมเตียงกับลูกน้อย
การให้ลูกน้อยนอนรวมเตียงเดียวกับพ่อแม่ ก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยในการนอนหลับของลูกให้มากเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ข้อที่ควรระมัดระวังมีดังนี้
- สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่นอนหลับลึก ต้องระวังว่าเมื่อนอนหลับแล้วเผลอทับลูก หรือมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปปิดจมูกของลูกโดยไม่รู้ตัว
- หากคุณพ่อหรือคุณแม่สูบบุหรี่หรือเพิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรนอนใกล้ลูก เพราะลูกอาจต้องสูดดมกลิ่นบุหรี่และแอลกอฮอล์ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบหายใจของลูก
- หากลูกเป็นเด็กตื่นง่ายหรือรู้สึกตัวง่าย อาจจะเป็นการรบกวนการนอนของพ่อแม่
- อาจต้องใช้เวลานานในการฝึกลูกให้แยกไปนอนในห้องของเขาเองภายหลังเมื่อโตขึ้น
- อาจจะมีปัญหาได้ หากคุณพ่อคุณแม่จะมีกิจกรรมทางเพศในห้องที่มีลูกนอนอยู่ด้วย
ให้ลูกมีเตียงแยก แต่ยังนอนร่วมห้องกับพ่อแม่ดีไหม?
คุณพ่อคุณแม่บางคนซื้อเตียงนอนให้ลูกไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะปล่อยให้ลูกน้อยนอนในห้องของตัวเอง ก็สามารถให้เขานอนในเตียงของเขาได้ แต่ยังอยู่ในห้องเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นคนนอนดิ้น การให้ลูกมีเตียงของตัวเองแยกออกไปทำให้สามารถสบายใจได้ว่าจะไม่เผลอนอนไปทับลูกอย่างแน่นอน
แยกห้องนอนให้ลูกมีพื้นที่ของตัวเอง
หลายครอบครัวเล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก ๆ จึงอาจจะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับห้องนอนของลูกน้อยไว้เรียบร้อยแล้ว เพื่อที่เขาจะได้คุ้นเคยกับห้องของเขาเองเมื่อโตขึ้น
ข้อดีของการแยกห้องนอนให้ลูก
- สามารถควบคุมเรื่อง แสง เสียง หรือสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่มีผลทำให้ลูกตื่นง่ายได้ดีกว่าการนอนรวมกัน
- เป็นการฝึกให้ลูกน้อยได้คุ้นเคยกับห้องของตนเองได้ง่ายกว่ามาฝึกตอนโตแล้ว
- คุณพ่อคุณแม่มีเวลาเป็นส่วนตัวกันมากขึ้น
ข้อเสียของการแยกห้องนอนให้ลูก
- ค่อนข้างเป็นการยุ่งยากสำหรับคุณแม่ที่จะต้องลุกขึ้นมาให้นมลูกกลางดึกในอีกห้อง หรือต้องลุกขึ้นมาดูลูกที่ตื่นขึ้นมาร้องไห้ช่วงกลางดึก
- มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลับไม่ตื่นในทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) ได้มากกว่าเพราะไม่มีคนคอยดูแล
แต่สมัยนี้มี baby monitor หรือกล้องดูลูกกันแล้ว เพียงแค่มีเจ้าเครื่องนี้ก็สามารถดูลูกได้จากทุกที่ ไม่ว่าลูกจะร้องหิวนม หรือพลิกกลับตัวท่าไหนก็สามารถเห็นได้ตลอดเวลา ถือว่าช่วยลดความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ไปได้ระดับหนึ่ง หากมีความคิดที่จะแยกห้องตั้งแต่ลูกยังเล็กจริง ๆ
แยกห้องนอนให้ลูกตอนกี่ขวบดี?
การแยกห้องนอนกับลูกนั้นอันที่จริงสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่หากคุณพ่อคุณแม่ยังห่วงลูกอยู่ก็สามารถรอให้เขาพร้อมได้จนถึงวัยประมาณ 3 ขวบ จากนั้นค่อนถามความสมัครใจก่อน เพื่อดูความพร้อมทางด้านจิตใจของลูก
แล้วจะเริ่มแยกห้องให้ลูกอย่างไร?
1. ค่อย ๆ ให้ลูกได้เตรียมใจ
- หากคุณพ่อคุณแม่ยังคงเป็นกังวล ยังห่วงลูกอยู่ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เลือกห้องที่อยู่ติดกับห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่
- ก่อนพาลูกเข้านอนที่ห้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่ควรพาเขาเดินสำรวจรอบ ๆ ห้องก่อน ว่ามีของอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย
- หากได้ยินเสียงลูกร้องขึ้นมากลางดึก คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปหาลูกเพื่อให้เขารู้สึกอุ่นใจ รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ได้ทอดทิ้งไปไหน แต่ไม่ควรเข้าไปหาถี่เกินไป มิฉะนั้นลูกจะร้องหาทั้งคืนแน่นอน
- หากลูกกลัวก็ให้เปิดไฟดวงเล็ก ๆ หรือไม่ก็แง้มประตูให้แสงไฟส่องเข้ามาได้
- หากลูกยังมีอาการหวาดกลัวมาก ในระยะแรกให้คุณพ่อคุณแม่อยู่เป็นเพื่อนจนกว่าเขาจะหลับ หาหมอนหรือตุ๊กตามาวางข้าง ๆ ตัวลูก ให้เขารู้สึกเหมือนมีเพื่อนอยู่ใกล้ ๆ
2. จัดเตรียมห้องนอน
- ช่วงที่ตกแต่งห้องนอนให้ลูกนั้น หากเป็นเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ให้พาเขาไปเดินเลือกซื้อของตกแต่งห้องหรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อให้เขารู้สึกตื่นเต้นและอยากนอนห้องใหม่
- หากลูกยังเล็ก เตียงของลูกควรวางไว้ติดผนังด้านใดด้านหนึ่ง และควรหาหมอนมาวางกั้นขอบเตียงอีกด้าน เพื่อป้องกันลูกตกเตียง
- เลือกและจัดวางเฟอร์นิเจอร์โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกเป็นหลัก เช่น ไม่ควรมีเก้าอี้ที่ลูกสามารถปีนได้เพราะลูกอาจปีนเล่นและพลัดตกลงมา ไม่ควรใช้ตู้เสื้อผ้าหรือชั้นสูง ๆ ที่ไม่สามารถยึดเกาะผนังห้องได้ เพราะลูกอาจเหนี่ยวตู้จนล้มมาทับ ไม่มีสิ่งของตกแต่งห้องที่เป็นแก้วหรือกระเบื้อง เพราะเสี่ยงต่อการแตกและเป็นอันตรายต่อลูก
3. ปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ในวันที่จะเริ่มแยกห้อง ให้คุณพ่อคุณแม่บอกกับลูกตั้งแต่ช่วงกลางวันว่า คืนนี้คุณอยากให้เขานอนในห้องของตัวเอง อธิบายลูกว่า เด็กๆ อายุเท่าเขานอนในห้องของตัวเองกันหมดแล้ว
- คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้านอนในห้องใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าปกติ เพราะในคืนแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องอยู่กับเขา ให้เค้าคลายกังวล จนกว่าเขาจะหลับ
- ให้ลูกหยุดเล่น ปิดทีวี ก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อสายตาคลายตัวลง แล้วพาลูกแปรงฟัน เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ตื่นมากลางดึก
- เตรียมของให้ลูกดูต่างหน้า ไม่ว่าจะเป็นของใช้ประจำตัวของแม่ เช่น หมอน หรือเสื้อตัวนุ่ม ๆ เขาจะได้อุ่นใจว่าคุณแม่อยู่ใกล้ ๆ
4. กล่าวชื่นชม
- ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ลูกน้อยฝ่าฟันคืนแรกอันแสนเงียบเหงาในห้องนอนใหม่ของตัวเองมาได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมที่จะกล่าวชมเชยเขาด้วย
จะเห็นว่าวิธีการแยกห้องนอนกับลูกนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องค่อย ๆ ฝึกเขาด้วยความอ่อนโยน และต้องใจแข็งเป็นหากลูกร้องงอแงหรือเข้ามาหาถึงห้องในวันแรก ๆ ที่เขาเริ่มนอนคนเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นการนอนแยกห้องหรือนอนรวมกันกับลูกน้อย ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละครอบครัว รวมถึงความสมัครใจของทุกคนเป็นหลักนะคะ
อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th
มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th
ข้าวหอม 7ขวบแล้วก่อนหลับยังพ่อแม่กอดหนูหน่อยตบก้นเบาๆด้วย นอนด้วยกันตั้งแต่แรกเกิดเลยแต่แรกเกิดจะให้น้องนอนบนเบาะของเด็กใกล้แม่ตื่นดูลูกตลอดตอนนี้อย่าว่าลูกติดแม่แม่ติดลูกเหมือนกันวันไหนลูกไม่เข้านอนง่ายแม่ก็นอนไม่หลับต้องหลับไปพร้อมกันต้องคอยห่มผ้าให้เวลาอากาศหนาว.
09 พ.ย. 2562 เวลา 18.44 น.
ฟังดูง่าย 3 ปีกะ 6 เดือนแล้ว แค่การอยู่คนเดียวก็กลัวแล้วคะ นอนให้แม่กอดทุกวัน
09 พ.ย. 2562 เวลา 18.26 น.
M❤️J❤️M 👨👩👦Forever ก.พ 63 นี้ก้อ 11 ขวบแล้วค่ะ ยังนอนกับพ่อแม่อยู่เลย เค้าไม่ยอมแยกอ่ะค่ะ
09 พ.ย. 2562 เวลา 11.38 น.
นก_ศศินันท์ เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคู่ค่ะ
09 พ.ย. 2562 เวลา 06.51 น.
ดูทั้งหมด