ไลฟ์สไตล์

ทิศทางเศรษฐกิจ มองชีวิตวิถีใหม่หลังโควิด-19 กับ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

The MATTER
อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 07.53 น. • เผยแพร่ 28 พ.ค. 2563 เวลา 23.00 น. • Branded Content

แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะส่งสัญญาณชะลอตัวมาสักระยะ แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ได้กลายมาเป็นตัวเร่งทุกปฏิกิริยาให้เร็วขึ้น แถมวิกฤตนี้ไม่มีเวลาให้ใครตั้งตัวเท่าไหร่ ผลลัพธ์คือทุกอย่างล้มครืนเป็นโดมิโน่ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบกับอีกหลายชีวิตเป็นทอดใหญ่

The MATTER ชวน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ปรึกษากรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มามอง New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ทางเศรษฐกิจที่จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ดังต่อไปนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยหดตัว หนี้สาธารณะพุ่ง

นอกจากกระแสลมที่หยุดได้ ก็มีโควิด-19 นี่แหละที่ทำให้ทุกการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจชะงักพร้อมกันทั่วโลก ทั้งส่วนของการผลิตและการบริโภค แม้ว่าหลายภาคส่วนรวมถึงประเทศไทยจะเริ่มผ่อนปรนนโยบายและประกาศคลายล็อคดาวน์ แต่ในงานเสวนาทิศทางประเทศไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่ ที่จัดขึ้นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา รศ.ดร.วรากรณ์​ สามโกเศศ ก็ยังมองว่าทุกอย่างผันแปรได้อย่างมีความไม่แน่นอนแต่ถ้าทุกอย่างไปได้ดีแล้วกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นปกติในระดับหนึ่งก็น่าจะราวไตรมาสแรกของปี 2564 โดยมีเงื่อนไขอยู่ที่การพบยารักษา และความเร็ว บอกประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทั่วโลกกำลังพัฒนา แต่เมื่อนับนิ้วดูแล้วมันก็อีกประมาณ 9-10 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาเป็นปกติอย่างแท้จริงก็หนีไม่พ้น 2-3 ปี

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม การจะกลับมาสตาร์ทเครื่องเศรษฐกิจใหม่ก็ไม่อาจทำได้เพียงประเทศไทยที่เดียว นั่นเพราะต่อให้ไทยพร้อมแต่โลกบางส่วนไม่พร้อม การสตาร์ทเครื่องก็ลำบากเนื่องจากไม่มีอำนาจซื้อเข้ามาในประเทศ นอกจากนั้นความท้าทายยังอยู่ที่ความเฉพาะของปัญหาที่แต่ละประเทศเผชิญไม่เหมือนกันในรายละเอียด อย่างเช่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวที่ 3 เปอร์เซ็นต์ ภาวะติดลบเช่นนี้ถือเป็นความท้าทายที่ไทยต้องรอบคอบ เพราะแม้การกู้เงินที่จำเป็นยิ่งต่อการกระตุ้นและพยุงภาพรวมเศรษฐกิจก็อาจส่งผลให้เกิดหนี้สาธารณะขนาดใหญ่ที่จะเป็นภาระให้คนรุ่นใหม่ไปอีกหลายปีต่อจากนี้

เลขว่างงานสูง คนไทยจะปรับตัวหางานที่เคยเมินมากขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเยียวยาเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน เช่น มาตรการเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ที่ รศ.ดร.วรากรณ์ ชวนตั้งคำถามว่าถึงแม้นโยบายดังกล่าวเป็นยาที่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องเฉพาะหน้าได้บางส่วน แต่ก็ยังเหลือเวลาอีก 9-10 เดือนก่อนเข้าสู่ภาวะปกติในระดับหนึ่งนั้นเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องวางแผนรับมือ เช่น การเปลี่ยนจากการให้เงินเพียงอย่างเดียวมาเป็นการหนุนเสริมศักยภาพและเพิ่มผลิตภาพของประชากรไปด้วยเพื่อให้อยู่ต่อไปได้ดีทั้งในช่วงเปลี่ยนผ่านและประคองตัวได้ในระยะยาวต่อไป

“ผมว่าพองานมันหายากมากขึ้น ในช่วงเกือบหนึ่งปีนี้จากเดิมที่คนไทยเมื่อก่อนไม่ยอมทำงานบางอย่าง เช่น งานประเภทที่เรียกว่างานสกปรก งานอันตราย งานที่ค่าจ้างต่ำ งานที่ลำบาก ต่อจากนี้อาจจะเริ่มยอมทำงานอย่างนั้นแล้ว เพื่อให้มีงานทำ แล้วแรงงานต่างชาติที่เคยครองตลาดงานพวกนี้อยู่ก็อาจจะต้องกลับบ้านตัวเอง ผมคิดด้วยนะว่าแรงงานต่างชาติที่กลับประเทศตัวเองขณะนี้ หลายคนอาจจะกลับไม่ได้เพราะมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น นายจ้างล้มหายตายจาก งานถูกคนไทยแย่งไป ต้องเสียเวลาหางานอีกครั้ง ซึ่งเมื่อก่อนงานที่เขาทำคนไทยก็ไม่ได้สนใจจะทำอยู่แล้ว ปัญหาเหล่านี้จะเกิดในสังคมเรา ภูมิทัศน์เรื่องการทำงานมันเปลี่ยนไปแล้ว”

เมื่อโลกเข้าสู่การพึ่งพาทางดิจิทัลมากขึ้น ลักษณะของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องปรับตัวเข้ากับภูมิทัศน์งานที่เปลี่ยนไป โจทย์ใหญ่ก็คือความสามารถในการแก้ไขปัญหาในภาพรวมและส่วนตัว “กระรอกต้องมีหลายโพรงถึงจะอยู่ได้” ทำงานเดียวอาจไม่รอด ปัจจุบันนี้ก็มีแล้วเช่นแรงงานภาคเกษตร หน้านาก็กลับบ้านไปทำนา หลังจากนั้นก็มารับจ้างขับแท็กซี่ เกษตรกรหมุนเปลี่ยนงาน ลักษณะการทำงานของคนไทยจะเปลี่ยนไปมาก เมื่อมีการว่างงานซึ่งคาดว่าอาจถึง 3-8 ล้านคน ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ไทยพึ่งเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งเป็นการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่โควิด-19 ก็ล้างกระดานรายได้นี้หายไปสิ้น หนำซ้ำยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราจะวางใจเปิดประเทศให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวได้เหมือนเดิมอีกด้วย ผลกระทบจึงตกอยู่ที่คนทำงานภาคการท่องเที่ยวและบริการหลายแสนคนที่ทั้งตกงาน และหาทางไปต่ออย่างยากเย็น

“ที่ผ่านมาเราพึ่งภาคการท่องเที่ยวมากเกินไปนะครับ เพราะมันง่ายและขยายตัวตามกลไกตลาด เราไม่ต้องทำอะไรมาก มันไปของมันเอง เช่น คนจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวนมากถึง 8-10 ล้านคน เราก็ชะล่าใจ พึ่งพาตัวเลขนี้ มันจึงเป็นความผิดพลาดโดยธรรมชาติที่เราปล่อยให้การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากไป นอกจากนี้เราก็เอียงไปที่จีนอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเมืองตามมา ทำให้เราต่อรองระหว่างประเทศได้ลำบากไปด้วย ต่อไปเราจะหวังพึ่งอำนาจซื้อจากประเทศเดียวอีกไม่ได้แล้ว มันต้องปรับเพื่อลดความเสี่ยง

รศ.ดร.วรากรณ์ เสนอว่าการจัดการท่องเที่ยวแบบ Bubble Tourism ที่กำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการเปิดประเทศเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึงทางการไปมีข้อตกลงกับประเทศหรือท้องถิ่น เพื่อตรวจสอบบุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศและมีมาตรการยืนยันว่าการท่องเที่ยวนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการระบาดของโรคในอนาคต เสมือนการสร้างฟองอากาศครอบกันความปลอดภัยให้ทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาและคนในประเทศไทยเอง

สุดท้ายแล้ว รศ.ดร.วรากรณ์ ยังคาดว่าคนไทยจะระวังตัวเรื่องการใช้จ่ายส่วนตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการลงทุนและการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นก็จะต้องเพิ่มความสามารถในการออมเงินมากยิ่งขึ้น เพราะโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต่อให้คนที่มีเงินออมระยะปลอดภัยที่ประมาณ 3 เดือนก็ยังต้องก่ายหน้าผากและอาจล่วงหล่นได้ไม่ต่างกับกลุ่มเปราะบางอื่นเลย

Content by Nalinee Maleeyakul

Illustration by Pantawan Siripatpuwadon

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Tomvorapot
    แก้ง่าย ถ้าคลองหลอแหลแถวๆ ถนนราษฎร์พัฒนา26 สะพานสูง ที่ขยะเต็ม สกปรก เน่าเหม็น มีชุมชน โรงเรียน เจ้าหน้าที่รัฐมาช่วยกันดูแล รัฐบาลมีงบ 4แสนล้านในการพัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจฐานราก ดีๆ สีเขียว ที่ปลอดภัย ระหว่างรอโควิทจบ งบนี้ได้มาจาก ดุลบัญชีเศรษฐกิจมหภาคเรา ที่มีทุนสำรองสูง หนี้สาธารณะน้อย เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยถูก บช เดินสะพัดดี บาทแข็งฯลฯ จริงๆ มีงบทำได้ ทั่วกรุงเทพฯ ทั่วประเทศ รวมถึงใน ทะเล ป่าเขา จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค ที่ดีที่สุดยามนี้ รากหญ้าหมุน SMEหมุน ประเทศก็ไปรอด..
    29 พ.ค. 2563 เวลา 05.55 น.
ดูทั้งหมด