ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“True” คว้าสัมปทาน 30 ปี บริหารท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดินทั่ว กทม. TDRI ชี้ซ้ำเติมปัญหาผูกขาด

TODAY
อัพเดต 20 มิ.ย. 2562 เวลา 09.14 น. • เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 09.05 น. • Workpoint News

ทรู อินเตอร์เน็ตฯ คว้าสัญญาสัมปทานระยะเวลา 30 ปีจาก กทม. ในการดำเนินการบริหารท่อร้อยสายเคเบิ้ลทั่วกรุงเทพฯ และมีออปชั่นขยายระยะเวลาสัมปทานไปอีก 15 ปี  ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ ปัญหาการผูกขาดกำลังเกิดขึ้นซ้ำในวงการโทรคมนาคมไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช. ในการร่วมมือกันนำสายเคเบิ้ลสื่อสารลงใต้ดินทั่ว กทม.  โดยทาง กทม. ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม. เอง เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างวางท่อร้อยสายใต้ดินทั่ว กทม. ความยาวรวม 2,450 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท  และจะต้องให้แล้วเสร็จใน 2 ปี หรือก็คือภายในปี 2564

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวของ กทม. เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศ กทม. "เรื่องการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535" ที่ประกาศในวันที่ 11 มิ.ย. 62 โดยใจความสำคัญระบุว่า การวางสายเคเบิ้ลไว้บนเสาไฟฟ้าต่อไปจะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และถ้าหากในพื้นที่ใดที่มีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้ว การจะนำสายเคเบิ้ลไปแขวนไว้กับเสาไฟฟ้าย่อมไม่มีเหตุจำเป็นอีกและผิดกฎหมาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตาม หลังจากการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินดังกล่าวแล้วเสร็จ จะต้องมีผู้บริหารจัดการต่อ โดยทาง กทม. ได้เปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายที่มีใบอนุญาตจาก กสทช. ยื่นข้อเสนอ ผลปรากฏว่า บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอปอเรชั่น จำกัด ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และสุดท้ายผ่านการพิจารณา จึงได้รับสัมปทานสิทธิในการบริหารจัดการท่อร้อยสายเคเบิ้ลใต้ดินทั่ว กทม. เป็นระยะเวลา 30 ปี  โดยมีออปชั่นในการขยายสิทธิสัมปทานดังกล่าวไปอีก 15 ปี รวมเป็น 45 ปี

ทางด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Somkiat Tangkitvanich ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวที่ให้สิทธิบริษัทเดียวผูกขาดเป็นเวลา 30 ปี อาจซ้ำเติมปัญหาการผูกขาดในวงการโทรคมนาคมไทย เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่ง อาจเกิดความเสี่ยงเช่นผู้ประกอบการรายดังกล่าวกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งให้ไม่สามารถใช้ท่อร้อยสายเคเบิ้ลดังกล่าวได้ หรือคิดค่าบริการการใช้ท่อร้อยสายแพงๆ หรือให้บริการช้าๆ จนคู่แข่งไม่สามารถแข่งขันได้ เป็นต้น

ดูข่าวต้นฉบับ