ไลฟ์สไตล์

เศรษฐศาสตร์ตายแล้วจริงหรือ? : คำสาปของความรู้ และทางไปสู่ศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา

The MATTER
อัพเดต 22 ก.ย 2562 เวลา 02.22 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 02.07 น. • Pulse

ในช่วงที่ผ่านมา วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยได้รับความสนใจน้อยลงอย่างน่าตกใจ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่บัณฑิตจบใหม่ด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนหางานทำไม่ค่อยได้ รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตที่นักเรียนจะไปสนใจในสาขาวิชาที่หางานได้ง่ายกว่า จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยเฉพาะในภาคเอกชน ต่างพากันปิดคณะเศรษฐศาสตร์ จนเกิดเป็นคำถามใหญ่ ๆ ว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้วหรือยัง?”

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายท่านออกมายืนยันว่า “เศรษฐศาสตร์ยังไม่ตาย” และยังจะมีชีวิตชีวามากขึ้นในอนาคต แต่คำกล่าวที่ว่าอาจจะถูกเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะพูดให้ชัดเจน สิ่งที่ยังไม่ตาย คือ ‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ (Idea of Economics) ต่างหาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ต้นแบบความคิด หรือ idea ที่พูดคือต้นแบบความคิดในความหมายเดียวกันกับที่ อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญายุครู้แจ้งเคยอธิบายไว้ ต้นแบบแนวคิดเป็นเครื่องชี้นำว่าเราควรจะไปที่ไหน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าควรไปอย่างไร เพราะวิธีการมีได้หลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละคน ต้นแบบความคิดจึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนทางปัญญา (intellectual representation) มากกว่าเครื่องมือเพื่อการปฏิบัติ (practical tool)

แล้วปลายทางของ ‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ อยู่ที่ไหน?

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อมาตยา เซน เคยหยิบยกข้อสังเกตสำคัญผ่านการศึกษางานเขียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่สมัยผู้บุกเบิกอย่างวิลเลียม เพตตี้  จนถึงอดัม สมิธ และคาร์ล มาร์กซ์ ว่าแม้จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่สิ่งที่งานเหล่านี้มีร่วมกันคือ เป้าหมายใน “การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน” (the enhancement of living conditions) ซึ่งเราก็สามารถตีความได้ว่า นี่แหละคือ ‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ และต้นแบบความคิดนี้ก็จะยังคงอยู่เสมอตราบที่ยังมี ‘ผู้คน’

แต่ว่าจนถึงจุดนี้ แม้ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์จะยังคงอยู่ แต่ความพยายามในปัจจุบันที่จะทำให้เป้าหมายของเศรษฐศาสตร์เป็นจริงนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป  ความพยายามที่พูดถึง คือ กระบวนทัศน์หนึ่ง ๆ  (paradigm) ที่ถูกสร้างขึ้นมาตามแนวคิดของบุคคลเพื่อนำเสนอวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ต้นแบบความคิดนั้นเป็นจริง ดังนั้น เวลาเราได้ยินคำว่า “เศรษฐศาสตร์ตายแล้ว” เราจึงตีความได้ว่าสิ่งที่ตายไม่ใช่ตัว ‘ต้นแบบแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ แต่เป็นกระบวนทัศน์ในปัจจุบัน หรือ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่’ (economics as it is) ต่างหากที่ตาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่การที่กระบวนทัศน์ในปัจจุบันใช้งานไม่ได้อีกต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าสิ้นหวังไปซะทีเดียว เพราะถ้ากระบวนทัศน์ถูกสร้างมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เราก็ไม่สามารถเข้าใจกระบวนทัศน์ใดๆ ในฐานะองค์รวม (totality) ได้ เพราะกระบวนทัศน์แต่ละชุดมักนำเสนอวิธีการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งใด พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนทัศน์ในปัจจุบันเป็นแค่หนึ่งในกระบวนทัศน์จากทั้งหมดที่เป็นไปได้ (a paradigm of all possible paradigms) และถ้ามีกระบวนทัศน์อื่นๆ ที่เป็นไปได้ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ก็เป็นไปได้และจำเป็นต้องทำเช่นกัน

พอรู้แล้วว่าสิ่งที่ตายคือกระบวนทัศน์ในปัจจุบันหรือเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ ประเด็นที่ต้องคิดต่อไปคือ อะไรล่ะที่ฆ่าเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่? ข้อเสนอที่อยากจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ตายเพราะความรู้เศรษฐศาสตร์ของมันเอง เหมือนกับที่หมองูต้องตายเพราะงูเพราะ “ความรู้คืออำนาจ” (Knowledge is power.)

ศาตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับประโยคดังกล่าวไว้ผ่านการเปรียบเทียบข้อเสนอว่าด้วย ‘ความรู้’ ของนักคิดคนสำคัญสองคน คือ ฟรานซิส เบคอน (ค.ศ. 1561-1626) นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญายุคสมัยใหม่ และมิเชล ฟูโกต์ (ค.ศ. 1926-1984) นักคิดและนักปรัชญายุคหลังสมัยใหม่ผู้โด่งดัง อาจารย์เกษียรเห็นว่า ความรู้ที่เรามักเข้าใจกันโดยเท่าไปนั้นเป็นความรู้ในความหมายของเบคอนซึ่งแปลว่า ความรู้คืออำนาจเพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนกุญแจที่สามารถปลดล็อกความเป็นไปได้ไม่รู้จบผ่านการประดิษฐ์คิดค้นอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในขณะที่สำหรับฟูโกต์นั้น “ความรู้คืออำนาจที่เข้ามาครอบงำเหนือผู้รู้” (Knowledge is the power over the knower.) ซึ่งหมายความว่า ความรู้เมื่อได้รู้แล้วก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและตีกรอบตัวตนของผู้รู้ให้เป็น ‘นัก…’ โดยทันที อย่างในที่นี้ ถ้าคุณรู้เศรษฐศาสตร์ คุณก็จะกลายเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ไปโดยปริยาย

ปัญหาของการที่ความรู้ครอบงำเหนือผู้รู้อยู่ตรงที่ มันทำให้ผู้รู้หยุดที่จะคิด เพราะพอความรู้เป็นนายเรา เราจึงยอมทำตามมันโดยไม่ตั้งคำถามต่อตัวความรู้และเชื่ออย่างสนิทใจว่ามันต้องถูกต้องสมบูรณ์ (เหมือนกับประโยคคุ้นหูในสังคมไทยที่ว่า “ได้ครับพี่…ดีครับผม…เหมาะสมครับท่าน”) และสิ่งที่ตามมาจากการหยุดที่จะคิดคือ ศักยภาพทางปัญญาของผู้รู้ที่หยุดอยู่ที่เดิมและค่อยๆ สึกกร่อนไปตามกาลเวลา จนในท้ายที่สุดก็ไม่เหลืออะไร หรือถ้าเหลือ ก็เหลือเท่าเดิม ไม่มีอะไรเพิ่มมาใหม่ ดังนั้น  หากอิงจากคำอธิบายของอาจารย์เกษียรแล้ว เราจึงอาจพูดได้ว่า ความรู้ในความหมายของฟูโกต์นี่เองที่ทำให้เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ตายลง

ว่าแต่ ‘ความรู้’ ฆ่าเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ ความรู้ฆ่าเศรษฐศาสตร์ได้ด้วยการที่ความรู้นั้นพยายามยึดหลักของวิทยาศาสตร์ทั้งๆ ที่มันไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่เลย

กระบวนทัศน์ของเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันถือเป็นความพยายามหนึ่งที่จะทำให้ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์ (หรือ การยกระดับชีวิตของผู้คน) เป็นจริงโดยอาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์ จนเป็นเหมือนหับ ‘ฟิสิกส์สังคม’ (social physics) ซึ่งสังเกตได้จากการพยายาม ‘เสก’ แบบจำลองทางเศรษฐกิจต่างๆ (models) ที่ดูทันสมัยคู่กันไปกับการใช้สมการทางคณิตศาสตร์เพื่อทำให้เกิด “ประโยชน์สูงสุดของคนจำนวนมากที่สุด” ตามวิธีคิดแบบประโยชน์นิยม (utilitarianism) เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่จึงได้เปรียบด้าน ‘ความน่าศรัทธาเลื่อมใส’ ผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่กล้าตั้งคำถามกับมัน เพราะทุกอย่างอิงจากวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผล แถมยังจับต้องได้ด้วยแบบจำลองและมีตัวเลขต่างๆ มารองรับชัดเจน หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ “ก็มันถูกพิสูจน์มาแบบนี้ มันก็น่าจะต้องจริงแหละ”

เศรษฐศาสตร์ในแบบปัจจุบัน จึงสามารถขยายขอบเขตของวิชาจากเพียงแค่การศึกษาหนทางในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิด ‘ประโยชน์สูงสุด’ ต่อส่วนรวม เช่น จะผลิตอะไร กระจายรายได้อย่างไร แล้วจะพัฒนาแบบไหน เงินฝืดเงินเฟ้อจะแก้อย่างไร ฯลฯ ไปสู่การศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์ด้วย  แกรี่ เบ็คเกอร์ (ค.ศ. 1930-2014) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดังจากสำนักชิคาโก ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทุกการตัดสินใจของคนเรามักตั้งอยู่บนฐานของการคำนวณหาประโยชน์ที่ได้รับเสมอ ซึ่งหากทุกอย่างถูกนำมาคิดคำนวณได้ ทุกอย่างก็ย่อมมี ‘มูลค่า’ หรือ ‘ตัวเลขแสดงผลตอบแทน’ ที่ชัดเจนในตัวมันเองเช่นกัน ถ้าคำนวณแล้ว การกระทำใดให้ประโยชน์สูงสุด การกระทำนั้นแหละคือการกระทำที่ดีที่สุดที่เราจะเลือกทำ

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว อะไรคือ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ที่ผู้รู้เศรษฐศาสตร์กำลังมองหา? และคนเราต้องการแต่เพียง ‘ประโยชน์สูงสุด’ เท่านั้นจริงๆ รึเปล่า? ไมเคิล แซนเดล ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและเจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง Justice: What's the Right Thing to Do? (ค.ศ. 2008) ตอบว่า จริงๆ แล้วคนเราไม่ได้ต้องการเพียงประโยชน์สูงสุดเพียงอย่างเดียว แซนเดลยกตัวอย่างไว้ว่า ในวันหนึ่ง มีรถรางเบรกแตกกำลังไถลลงมาจากบนเนินสูงอย่างเร็ว ถ้าหากคุณอยู่บนนั้นและไม่ทำอะไรเลย รถรางจะพุ่งเข้าชนคนจำนวนมากที่อยู่ข้างล่าง แต่ถ้าหากคุณเลือกที่จะหักหลบไปข้างทาง รถรางก็จะชนคนเพียงคนเดียว ดังนั้น หากรู้แบบนี้แล้ว คุณจะเลือกช่วยใคร?

แน่นอน ถ้าตอบตามมุมของเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ที่เน้น ‘ประโยชน์สูงสุด’ เราก็คงเลือกที่จะเสียคนส่วนน้อยเพื่อช่วยคนส่วนใหญ่ แต่ถ้าเปลี่ยนโจทย์นิดหน่อย สมมติถ้าคนที่ยืนอยู่ข้างทางคนเดียวเป็นใครสักคนที่คุณรัก อาจจะเป็นคุณพ่อ หรือคุณแม่ คำถามคือ คุณจะยังต้องการ ‘บูชายัญ’ คนส่วนน้อยเพื่อ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ของคนส่วนใหญ่หรือเปล่า?

แม้แต่ในเรื่องความรักเอง ก็มี ‘ผู้รู้’ พยายามจะใช้เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ไปอธิบาย แต่การพยายามบอกว่า คนเรารักใครเพราะต้องการแค่ ‘ประโยชน์’ หรือ ‘ความพึงพอใจ’ เพียงอย่างเดียวก็เป็นการลดทอนคุณค่าที่แท้จริงของความรักไปในตัว เพราะเป็นแบบนั้นแล้ว เราจะไม่สามารถ ‘รัก’ ใครจริงๆ ได้เลย เราจะ ‘เลือก’ และ ‘เปลี่ยน’ ความสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรจากการใช้สินค้าแล้วทิ้ง เพื่อแสวงหาแต่ ‘ประโยชน์สูงสุด’

หรือถ้าเป็นภาพที่ใหญ่กว่านั้น ก็คือ เรื่องของการพัฒนาประเทศ อย่างในกรณีการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะออกมาสนับสนุนเพราะได้คำนวณแล้วเรียบร้อยว่ามันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โดยไม่สนใจเลยว่าโครงการเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่นแค่ไหนและสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไร

ถ้าเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นผ่านการเพิ่มประโยชน์ให้สูงสุดให้กับคนส่วนใหญ่ เท่ากับว่า เราต้องยอม ‘บูชายัญ’ คนส่วนน้อยไปเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเสมอ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ ถ้าคนส่วนน้อย หรือ the minority ต้องยอมถูกสังเวยเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม หมายความว่าหน่วยที่เล็กที่สุดของคนส่วนน้อย (the minority of one) หรือปัจเจกบุคคล ก็ต้องถูกสังเวยไปด้วย แต่เราทุกคนล้วนเป็นปัจเจกบุคคลกันไม่ใช่เหรอ? ภายใต้เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ หากเราขัดกับประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเมื่อไหร่ เราก็สามารถถูกลืมได้ทุกเมื่อ และที่น่าเศร้าที่สุดคือ จะไม่มี ‘ผู้รู้’ คนไหนคิดที่จะช่วยเราเลยเพราะพวกเขาต่างเชื่ออย่างสนิทใจไปแล้วว่าทุกสิ่งที่ถูกคำนวณและพิสูจน์ออกมานั้น มันถูกต้องที่สุด!

แล้วแบบนี้ใครจะปลอดภัยได้ ตราบที่เรายังต้องการประโยชน์สูงสุดให้ส่วนรวม?

ปัญหาของเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่จึงอยู่ตรงที่ว่า มัน ‘เคร่งครัดในวินัย’ มากเกินไปจนสูญเสียความสามารถในการอธิบายสภาพความเป็นจริงอันสลับซับซ้อนของมนุษย์และสังคมซึ่งไม่สามารถ ‘ร่ายมนต์’ ให้ออกมาเป็นเพียงแค่แบบจำลองหรือตัวเลข พูดอีกอย่างคือ เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ก็ดูจะเป็นเหมือนการ ‘ดัดจริตวิทยาศาสตร์’ (scienticist pretension) เพื่อขายแนวคิดเรื่อง ‘ประโยชน์สูงสุด’ เท่านั้น เพราะพูดให้ถึงที่สุดแล้ว แม้จะดูเหมือนทันสมัย มีตรรกะเหตุผล และจับต้องได้ แต่มันก็ไม่ต่างอะไรเลยจากลัทธิหรือศาสนาที่บูชาและห้ามตั้งคำถามต่อ ‘ประโยชน์สูงสุด’

หากถูก ‘ความรู้’ ครอบงำอย่างสมบูรณ์ มนุษย์เศรษฐศาสตร์จะไม่สามารถมองเห็นอะไรเลยนอกจาก ‘ประโยชน์’ และมันหมายความว่า พวกเขาได้สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปหมดแล้ว เสียความสามารถที่จะรัก เสียความรู้สึกที่จะเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เสียความต้องการในความยุติธรรม เสียความเป็นไปได้ที่จะมองเห็นคุณค่าอื่นๆ ในชีวิต เพราะเหลือเพียงอย่างเดียวคือ การใฝ่หา ‘ประโยชน์สูงสุด’

นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมในสังคมปัจจุบันที่เครื่องจักรและเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น ‘ผู้รู้เศรษฐศาสตร์’ จึงถูกแทนที่ได้ง่าย จนดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์แห่ง Sea Limited ถึงกับใช้คำว่า “ใกล้สูญพันธ์”  ปัญหามันอยู่ตรงที่ ‘ความรู้’ นี่แหละที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ถูกแทนที่ได้ง่าย เพราะเศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้สอนให้คนเป็น ‘คน’ แต่พยายามเปลี่ยนคนให้เป็น ‘เครื่องผลิตอรรถประโยชน์เดินได้’ นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกความรู้ครอบงำจนไม่สามารถเห็นขีดจำกัดของความรู้ จึงถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่มีผลิตภาพมากกว่าในที่สุด

ดังนั้น ถ้าเศรษฐศาสตร์ตายเพราะ ‘ความรู้เศรษฐศาสตร์’ สิ่งที่จะช่วยเศรษฐศาสตร์ได้ก็คือ ‘ความไม่รู้เศรษฐศาสตร์’ อาจารย์เกษียรเคยสังเคราะห์ข้อคิดจากการศึกษางานของ ศาตราจารย์.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสาธารณะของไทย เรื่อง ‘ความ(ไม่)รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์’ (2555) ว่า ข้อดีของความไม่รู้คือ การไม่ถูกครอบงำโดยความรู้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าความรู้ทำให้ผู้รู้เชื่อและเชื่อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรู้นั้นมีวิทยาศาสตร์ที่ดูทันสมัย พิสูจน์ได้ และมีตรรกะเหตุผลเข้ามาช่วย) ผู้รู้จึงทำตามมันอย่างไม่ตั้งคำถาม ในขณะที่ ‘ผู้ไม่รู้’ มักสงสัยไปต่างๆ นานา และในหลายๆ ครั้ง ‘ผู้ไม่รู้’ มักตั้งคำถามที่ปกติ ‘ผู้รู้’ จะไม่ถามกัน เพราะถือว่าถูกต้องชอบธรรมอยู่แล้ว

เช่น ทำไมเราถึงต้องการประโยชน์สูงสุด? แบบจำลองและสมการต่างๆ อธิบายได้ทุกอย่างจริงรึเปล่า? การสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่นแค่ไหน? แรงงานไร้ฝีมือที่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีจะเป็นอย่างไร? และถ้าไม่มีค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการทางสังคมเพราะกลัวเงินเฟ้อแล้ว พวกเขาจะอยู่กันได้ไหม?

ประเด็นสำคัญของ ‘ความไม่รู้เศรษฐศาสตร์’ จึงอยู่ตรงที่ว่า ‘เราจะรู้เศรษฐศาสตร์อย่างไรโดยไม่ถูกความรู้เศรษฐศาสตร์ครอบงำ’

และเพื่อที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ เศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากในแบบปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง

กระบวนทัศน์ใหม่ของ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็น’ (economics as it should be) ต้องลดความพยายามเป็นวิทยาศาสตร์ลง และต้องเน้นความเป็นศิลป์ หรือเพิ่มการเรียนการสอนด้านมนุษยศาสตร์ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อให้เราเลือกใช้แบบจำลองเป็น แต่เพื่อให้เราคิดเองเป็นโดยไม่ต้องพึ่งแบบจำลองตลอดเวลา เพราะคำถามหนึ่งๆ นั้นมีวิธีการตอบที่ต่างกันได้ร้อยแปด วิทยาศาสตร์เป็นเหมือน ‘แว่น’ ที่ทำให้เราเห็นโลกชัดเจน เพราะมันจับต้องได้ พิสูจน์ได้ และมีเหตุผลรองรับ แต่ในบางครั้ง เราต้องกล้าที่จะถอดแว่นด้วย จริงอยู่ เราอาจเห็นอะไรต่างๆ ไม่ชัดเหมือนตอนใส่แว่น แต่เราก็ได้ใช้จินตนาการเข้ามาช่วยในการเดาว่า “ภาพเบลอๆ ข้างหน้าเราเนี่ย มันควรจะเป็นอะไรกันแน่”

อาจารย์นิธิเคยฝากข้อคิดไว้ว่า ในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานและคนทำงานวิชาชีพ การศึกษามนุษยศาสตร์จำเป็นมาก เพราะมันทำให้เราฝัน มันทำให้เรามีจินตนาการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอะไรที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้

และยังเสริมอีกว่า ถึงการเน้นความเป็นศาสตร์แขนงเดียวจะทำให้เรารู้ลึก แต่มันไม่ได้ทำให้เรารู้จริง มันเป็นเหมือนการสอนให้เรามองเห็นฟ้าได้แค่ขนาดเหรียญสลึง ถ้าจะประยุกต์ใช้จากข้อคิดในตรงนี้ เราก็อาจพูดได้ว่า ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็น’ ต้องเน้นการวิเคราะห์และวิพากษ์ที่เป็นองค์รวมมากขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการอธิบายโลกอันซับซ้อนกว่าเดิมได้ และดังนั้น อีกองค์ประกอบที่สำคัญของ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็น’ จึงเป็นการเพิ่มความรู้จากศาสตร์แขนงอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมและมานุษยวิทยา จิตวิทยา ฯลฯ นักเศรษฐศาสตร์ที่ดีจะต้องไม่มองเห็นแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว พวกเขาต้องมองให้เห็นการเมือง สังคม และวัฒนธรรมด้วย และที่สำคัญที่สุด พวกเขาต้องมองให้เห็น ‘ผู้คน’

‘ต้นแบบความคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์’ ว่าด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน จะยังคงอยู่เสมอตราบที่มี ‘ผู้คน’ เพียงแค่กระบวนทัศน์ในปัจจุบัน หรือ ‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่เป็นอยู่’ ตายแล้วก็เท่านั้น แต่การที่เราปฏิเสธว่ามีทางเลือกอื่นนอกจากแบบที่เป็นอยู่ ก็ไม่ต่างอะไรเลยจากการปฏิเสธว่ามีทางเลือกอื่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนอกจาก ‘การใฝ่หาประโยชน์สูงสุด’

แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า ‘ประโยชน์’ นั้นไม่สำคัญ ใช่ เราต้องการ ‘ประโยชน์’ แต่คุณค่าที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์นั้นมากมายเกินกว่าที่จะหั่นให้เหลือเพียงแค่ ‘ประโยชน์สูงสุด’ อย่างเดียว ในหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องการความรัก ในหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องการความเห็นใจ ในหลายๆ ครั้ง เราก็ต้องการความยุติธรรมและอีกหลายอย่าง ยิ่งกว่านั้น โลกในปัจจุบันก็สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นเกินกว่าที่ศาสตร์แขนงเดียวจะสามารถอธิบายได้

‘เศรษฐศาสตร์ในแบบที่ควรจะเป็นและจำเป็นต้องเป็น’ จึงต้องมีชีวิตชีวามากขึ้น มีหัวใจมากขึ้น มีมุมมองต่อโลกกว้างขึ้น และที่สำคัญที่สุด ต้องมีพื้นที่ที่เปิดกว้างพอให้จินตนาการที่ไร้ขีดจำกัดของมนุษย์ได้งอกงาม

Content by Nasak Pongsri

Illustration by Kodchakorn Thammachart

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • Aroon Sn.
    ความรู้มีกรอบ ปัญญาไม่มีกรอบ ความรู้เป็นความจำ ปัญญาเป็นความเข้าใจ ความรู้จำกัดด้วยกาล ปัญญาไม่จำกัดด้วยกาล ความรู้เป็นทฤษฎี ปัญญาเป็นความสร้างสรรค์ ฯ
    22 ก.ย 2562 เวลา 06.40 น.
  • Kris
    เก่งอิ๊บอ๋าย จบรัฐศาสตร์แต่วิพากษ์เศรษฐศาสตร์ออกสื่อหน้าตาเฉย เป็นนักวิชาการไทยนี่มันสบายจริงๆ
    22 ก.ย 2562 เวลา 06.01 น.
  • วิชาความรู้ย่อมไม่มีวันดับสิ้นไปหากว่าตราบใดยังมีใจที่ยังใฝ่หาอยู่ แต่ทุกอย่างก็ย่อมที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฐจักรของการดำเนินชีวิตต่อในสังคมของทุกวันนี้.
    22 ก.ย 2562 เวลา 09.20 น.
  • WasBurana
    ง่ายๆค่ะ. จบวุฒินี้ ไม่รับทำงาน ทั้งขรก. ทั้งเอกชน. ฟังจากมาอีกที ธนาคารยังไม่รับ
    22 ก.ย 2562 เวลา 09.06 น.
  • eka
    จบมาทำไรได้มั่ง ถ้าพ่อแม่มีตังค์ ส่ง และเลี้ยง ก็เรียนไปเหอะ
    22 ก.ย 2562 เวลา 06.02 น.
ดูทั้งหมด