คุณธีระชัย ช่อไม้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก ให้ข้อมูลว่า ทางศูนย์วิจัยฯ มีพันธุ์เป็ดที่ได้อนุรักษ์ไว้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. สายพันธุ์เป็ดเนื้อ โดยจะเป็นเป็ดเทศกบินทร์บุรีที่มีตัวสีขาว ลักษณะรอบใบหน้ามีสีแดง ซึ่งเมื่อนำไปเลี้ยงจะเป็นเป็ดที่เจริญเติบโตได้เร็ว ให้เนื้อมาก โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์มามากกว่า 20 ปี 2. สายพันธุ์เป็ดไข่ โดยที่ศูนย์แห่งนี้จะมีอยู่กัน 3 สายพันธุ์ คือ 1. เป็ดไข่สายพันธุ์กากี หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า เป็ดไข่บางปะกง 2. เป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ และ 3. เป็ดไข่พันธุ์นครปฐม ซึ่งไข่ที่ได้สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี หากมีการจัดการที่ดีและเพิ่มมูลค่าด้วยการนำไปแปรรูปให้เป็นสินค้าที่น่าซื้อมากขึ้น
“เป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ และพันธุ์นครปฐม เป็นสายพันธุ์ที่ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการอนุรักษ์มาแต่ดั้งเดิม เพราะกลัวว่าจำนวนของเป็ดจะน้อยลง เพราะคนที่เลี้ยงเปรียบเทียบกับการให้ไข่แล้ว อาจจะสู้เป็ดไข่กากีไม่ได้ แต่ในเรื่องของความแข็งแรงนั้น เป็ดไข่ปากน้ำมีความทนทานมากกว่าเป็ดไข่กากี ซึ่งชาวบ้านบางส่วนก็ยังชอบที่จะนำเป็ดไข่ปากน้ำไปเลี้ยง เพราะลักษณะเด่นคือมีขนสีดำทั้งหมด ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็มีข้อดีที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความชอบของเกษตรกรว่าต้องการสายพันธุ์ไหนที่จะนำไปเลี้ยง อย่างเช่น เกษตรกรทางปากน้ำสมุทรปราการก็จะชอบเป็ดสายพันธุ์ปากน้ำ เพราะถือว่าเป็นเป็ดสายพันธุ์ดั้งเดิมในแถบนั้น” คุณธีระชัย กล่าว
เป็ดไข่ทุกสายพันธุ์ที่เกษตรกรนำไปเลี้ยง คุณธีระชัย บอกว่า ใช้เวลาเลี้ยงให้มีอายุประมาณ 5 เดือน ก็จะเริ่มให้ไข่แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงได้นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ เช่น เป็ดไข่พันธุ์กากีสามารถให้ไข่ 300-320 ฟอง ต่อปี และเป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำให้ไข่ 280-300 ฟอง ต่อปี ซึ่งเกษตรกรจะเลือกเป็ดไข่แต่ละสายพันธุ์ไปเลี้ยงนั้น จะดูตามความชื่นชอบเป็นการส่วนตัวเสียมากกว่าที่แตกต่างกันไปตามบุคคล
ทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ ให้มีคุณภาพมากขึ้น
คุณธีระชัย เล่าให้ฟังต่อว่า ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้มีหน้าที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์เป็ดไข่และสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น เช่น ถ้าเป็นเป็ดเนื้อก็จะพัฒนาให้มีคุณภาพการผลิตเนื้อที่มาก หรือเป็ดไข่ก็จะพัฒนาสายพันธุ์ให้ออกไข่ได้ดีมีคุณภาพ
“สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจและพร้อมพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกภายในศูนย์วิจัยฯ มีความแข็งแรงและต้านทานโรคได้ดี โดยที่เกษตรกรนำไปเลี้ยงแล้ว ไม่ต้องใช้วัคซีนในการเลี้ยงให้ยุ่งยากหลากหลายขั้นตอน และที่สำคัญสามารถเลี้ยงให้กินอาหารในระดับปานกลาง คือไม่จำเป็นต้องใช้อาหารเลี้ยงในปริมาณที่มาก แต่เป็ดไข่ที่เลี้ยงเจริญเติบโตได้ดี ทำผลกำไรให้กับเกษตรกรได้ ก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวังเพื่อให้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้” คุณธีระชัย บอกถึงหลักการทำงาน
สายพันธุ์เป็ดไข่จากศูนย์วิจัยฯ คุณธีระชัย บอกว่า เกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าสามารถต้านทานเรื่องโรคได้ดี โดยสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ทุกภูมิภาคของประเทศ เกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อเป็ดไข่ไปเลี้ยงแล้ว จึงได้เป็ดสายพันธุ์แท้ดั้งเดิมที่มีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
“เมื่อเป็ดไข่พร้อมออกไข่ให้กับเกษตรกร เพื่อจำหน่ายมีรายได้ เรื่องคุณภาพของไข่เป็ดที่ออกมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เป็ดนั้นๆ ว่าสายพันธุ์ไหนดีกว่ากัน แต่จะขึ้นอยู่กับอาหารที่ให้เป็ดกินมากกว่า ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงจะเป็นผู้กำหนดว่าต้องการให้เป็ดกินอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งสมัยก่อนนี้ จะเน้นเลี้ยงแบบปล่อยไล่ทุ่งในพื้นที่ที่มีทุ่งนาเยอะ แต่ปัจจุบันการเลี้ยงไม่เป็นแบบนั้นแล้ว การเลี้ยงสามารถเลี้ยงอยู่ภายในเล้าได้เลย โดยนำลูกเป็ดไข่มาเลี้ยงอนุบาลตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งเกษตรกรก็จะหาวัตถุดิบที่ได้จากท้องถิ่นมาให้เป็ดกินในทุกวันเอง เช่น หยวกกล้วย รำข้าว แหน ซึ่งการเลี้ยงเดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก” คุณธีระชัย บอก
ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีกจะเลี้ยงดูแลพ่อแม่พันธุ์ของเป็ดไข่ให้มีความสมบูรณ์ จากนั้นจะนำไข่ที่ได้มาฟักภายในตู้ฟักภายในศูนย์วิจัยฯ โดยใช้เวลาประมาณ 28 วัน ลูกเป็ดไข่ก็จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัว จากนั้นทางศูนย์วิจัยฯ จะดูแลต่อไปอีก 5-7 วัน ก็จะส่งจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สั่งจองไว้ให้มารับไปเลี้ยงต่อได้ทันที
สามารถสั่งซื้อเป็ดไข่ จากทางศูนย์ได้โดยตรง
เนื่องจากสายพันธุ์เป็ดไข่เป็นสายพันธุ์แท้ที่มีความแข็งแรง ต้านทานต่อโรค และสามารถนำไปเลี้ยงได้ทุกภูมิภาคของประเทศ จึงทำให้เกษตรกรทั่วทุกจังหวัดมีความสนใจมาสั่งจองอย่างต่อเนื่อง เรียกง่ายๆ ว่า กำลังการผลิตลูกเป็ดไม่ทันต่อความต้องการ ซึ่งเกษตรกรที่สนใจอยากซื้อไปเลี้ยงต้องจับจองต่อคิวเรียงตามลำดับกันเลยทีเดียว
“เกษตรกรที่ต้องการสั่งจองเป็ดไข่ ก็จะโทร. เข้ามาหาทางศูนย์วิจัยฯ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะจดที่อยู่และเบอร์โทร. ติดต่อกลับไว้ ว่าเกษตรกรรายนี้ต้องการที่จะซื้อเป็ดไข่แต่ละสายพันธุ์จำนวนกี่ตัว พอถึงคิวที่เรียงไว้ เจ้าหน้าที่ก็จะโทร. แจ้งกลับไปล่วงหน้าก่อน 1 สัปดาห์ เพื่อนัดวันเวลาที่จะมารับลูกเป็ดให้เกษตรกรไป จึงมั่นใจว่าทางศูนย์วิจัยฯ มีให้ทุกคนแน่นอน แต่ต้องรอคิวหน่อย” คุณธีระชัย บอกถึงขั้นตอนการสั่งจองพันธุ์เป็ดไข่
ราคาลูกเป็ดไข่ที่จำหน่ายให้กับเกษตรกร ตัวผู้จะจำหน่ายอยู่ที่ราคาตัวละ 1 บาท และเป็ดไข่ตัวเมียจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 10 บาท สามารถโทร. มาสั่งจองได้ที่ศูนย์วิจัยฯ โดยตรง เพื่อจองคิวไว้ในการนำไปเลี้ยงต่อไป
สำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่สนใจที่จะเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอาชีพ คุณธีระชัย แนะนำว่า ควรซื้อมาทดลองเลี้ยงในขั้นต้นอย่างน้อย 100-300 ตัว เพื่อศึกษาอุปนิสัยและทดลองเลี้ยงให้ประสบผลสำเร็จ และสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้เลี้ยงต้องมองดูว่าภายในบริเวณที่จะเลี้ยงมีพื้นที่ทำเล้าและปล่อยให้เป็ดไข่เดินมากน้อยแค่ไหน โดยต้องให้พื้นที่อยู่ในระดับปานกลาง ไม่คับแคบจนเกินไป พื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการเลี้ยงเป็ดไข่ และต่อมาให้มองถึงเรื่องการตลาดว่าเมื่อผลิตไข่ออกมาแล้วจะจำหน่ายในรูปแบบไหน โดยต้องส่งให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องโดยที่ไข่เป็ดไม่ขาดช่วง ก็จะช่วยให้ลูกค้าเชื่อมั่น สามารถซื้อขายกันได้เป็นเวลานาน
“พื้นที่ก็ถือว่าสำคัญ อย่างน้อยมีบ่อน้ำให้เป็ดได้ว่ายน้ำบ้าง พื้นที่เล้าเป็นที่ร่มเงา แต่ต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี ซึ่งการเลี้ยงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องติดแม่น้ำก็เลี้ยงได้ มีพื้นที่สวนว่างๆ อยู่ก็สามารถหาเป็ดไข่ไปเลี้ยงได้ และการเลี้ยงที่ดีควรหาวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่หาได้จากท้องถิ่นมาให้เป็ดกิน เพื่อเป็นการลดต้นทุนในเรื่องค่าอาหาร เมื่อได้ไข่เป็ดมาแล้ว การขายไข่สดอย่างเดียวอาจจะได้ราคาน้อย ก็อาจจะนำมาแปรรูปไข่ขาย เช่น การทำไข่เค็ม หรือการทำแพ็กเกจจิ้งให้น่าซื้อมากขึ้น มีรูปแบบสวยงามในราคาที่ย่อมเยา ก็จะทำให้สินค้าเป็นที่นิยมของตลาดมากขึ้น ส่วนครัวเรือนไหนมีพื้นที่ว่างหลังบ้านก็สามารถเลี้ยง 10-20 ตัว ก็ได้ เพื่อเก็บไข่ไว้กินภายในครัวเรือนก็จะเป็นอาหารประจำวันที่สามารถกินได้ทุกวัน” คุณธีระชัย กล่าวแนะนำ
สำหรับผู้ที่สนใจสายพันธุ์เป็ดไข่หรือสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นอาชีพสร้างรายได้ ก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือโทรศัพท์สั่งจองได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก กบินทร์บุรี ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (037) 625-208 ในเวลาราชการ
ETH_Maximalist สุดยอดครับ เป็นข่าวที่สร้างสรรค์ มีประโยชน์
24 ส.ค. 2562 เวลา 18.21 น.
ดูทั้งหมด