ศักดิ์ณรงค์ ชี้การทูลเกล้าฯ "พิชิต"เป็น รมต.มีพิรุธกรณีหารือกฤษฎีกาไม่ครอบคลุมคุณสมบัติ ระวังถูกกล่าวหาด้อยค่าสถาบัน นายกฯ ต้องรับผิด
ผู้สื่อข่าวโตโจ้นิวส์รายงานว่า ดร.ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย ให้ความเห็นกรณีนายพิชิต ชื่นบาน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21 พ.ค.67 ก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 23 พ.ค.67 ว่าจะรับคำร้องของ 40 ส.ว. หรือไม่ที่ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของนายพิชิต ชื่นบาน เนื่องจากนายพิชิต อาจมีคุณสมบัติที่ขัดรัฐธรรมนูญ นั้น ตนมีข้อสังเกตต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1.การทูลเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ นั้นนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการรู้ หรือควรรู้ว่า นายพิชิต ชื่นบาน เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาล จึงควรตรวจสอบคุณสมบัติอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ เฉพาะอย่างยิ่ง การหารือกฤษฎีกามีข้อพิรุธที่หารือประเด็นคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ไม่ครบถ้วน โดยหารือไปเฉพาะมาตรา 160 (7) แต่ไม่ได้หารือคุณสมบัติในมาตรา 160 (4)(5) ที่กำหนดให้รัฐมนตรีต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
2.การที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดมีคำสั่งให้จำคุกนายพิชิต ชื่นบาน กับพวก เป็นเวลา 6 เดือน ในคดีฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีต้นเหตุจากการอ้างว่านำถุงขนม(แต่ภายในบรรจุเงิน จำนวน 2 ล้านบาทถ้วน) ไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ศาลถึงในบริเวณศาลฎีกา ซึ่งเมื่ออ่านรายละเอียดในคำพิพากษา ศาลวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1,2 และ 3 เป็นการร่วมกันและแบ่งหน้าที่กันทำ ฟังได้ว่าเป็น "ตัวการร่วมกัน"
นอกจากนั้น ศาลยังกล่าวว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม เป็นการกระทำที่อุกอาจ ท้าทาย และเกิดขึ้นที่ศาลฎีกา ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมขั้นสูงสุดของประเทศ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย ย่อมตระหนักดีว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันศาล
จึงเห็นสมควรลงโทษในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ให้จำคุกผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามคนละ 6 เดือน
3. หากนายพิชิต มั่นใจในคุณสมบัติและข้อต่อสู้ของตนเองจริง เหตุใดจึงชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพียง 1 วัน การที่สังคมมีการวิพากษ์ วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงข้อพิรุธการหารือกฤษฎีกาไม่ครบถ้วนในคุณสมบัติของรัฐมนตรีในมาตรา 160(4)(5) มีนัยแอบแฝงการแต่งตั้งบุคคลที่ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี แต่เป็นบุคคลใกล้ชิดที่สามารถสั่งซ้ายหัน ขวาหันได้ ใช่หรือไม่ หากเป็นการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นเจตนาพิเศษ ย่อมส่งผลระคายเคืองต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ลงพระปรมาภิไธย
ดังนั้น จากข้อสังเกตทั้ง 3 ประการดังกล่าว ตนเห็นว่า นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองจากการกราบบังคมทูลแต่งตั้งรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ แม้นายพิชิต ชื่นบาน จะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ทำให้คำร้องของ 40 ส.ว.ต้องตกไป สามารถดำเนินการต่อได้จนจบกระบวนความ