ไลฟ์สไตล์

4 พฤษภาคม “วันฉัตรมงคล” พระราชพิธีที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

BRIGHTTV.CO.TH
อัพเดต 03 พ.ค. เวลา 10.45 น. • เผยแพร่ 03 พ.ค. เวลา 03.45 น. • Bright Today

รู้หรือไม่?4 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี

วันฉัตรมงคล ถือเป็นพระราชพิธีที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ร่วมร้อยกว่าปี ซึ่งเป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี มีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร และต้องปฏิบัติตนอย่างไรใน วันฉัตรมงคล 2567 ไบรท์ทีวี (BrighTV) มีมาฝากค่ะ

วันฉัตรมงคล-min
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความเป็นมา และความสำคัญ “วันฉัตรมงคล”

พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 4

ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 ซึ่งในขณะนั้นตรงกับเดือนพฤษภาคม เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 15 พ.ค. พ.ศ. 2394 ซึ่งตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13, 14, 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 11 พ.ย. พ.ศ. 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4 ต่อมา

เครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เครื่องสิริเบญตราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้วประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรีธารพระกร วาลวิชนี (พัดและแส้) และฉลองพระบาท

  • พระมหาพิชัยมงกุฎ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำด้วยทองคำหนัก 7.3 กิโลกรัม และได้ประดับเพชร “พระมหาวิเชียรมณี” ที่ยอดมงกุฎในสมัยรัชกาลที่ 4 ถือเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะในการปราบดาภิเษกของพระมหากษัตริย์
  • พระแสงขรรค์ชัยศรี หรืออาวุธที่มีลักษณะเป็นมีดยาวคล้ายดาบ มีคมทั้ง 2 ด้าน ตรงกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นสันนูนคล้ายคมหอก ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนายังหมายถึงพระปัญญาที่แหลมคมอีกด้วย
  • ธารพระกร ซึ่งทำจากไม้ชัยพฤกษ์อันเป็นมงคล สื่อความหมายถึงชัยชนะ
  • วาลวิชนี หมายถึง พัดใบตาลปิดทองและแส้ขนจามรี ซึ่งเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามคติอินเดีย
  • ฉลองพระบาทเชิงงอน หรือรองเท้าที่พระมหาราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้สวมถวายทีละข้าง ซึ่งแสดงถึงพระบรมเดชานุภาพที่แผ่ไปทุกแห่งหนที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึง
วันฉัตรมงคล-2567-min-2

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน

ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน นั่นคือ

  • วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
  • วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  • วันที่ 6 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออกให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล

  • ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
  • ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล
  • น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน

ที่มา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา , Wikipedia , พระราชพิธีราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูข่าวต้นฉบับ