ไลฟ์สไตล์

เจาะลึก “สามกษัตริย์” ไม่ได้สร้างเมืองเชียงใหม่?

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 25 ส.ค. 2566 เวลา 08.27 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. 2566 เวลา 12.07 น.
พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ หรืออนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คือ พญามังราย (องค์กลาง) พญางำเมือง (องค์ซ้าย) และพญาร่วง (องค์ขวา) ตั้งอยู่กลางเวียงเชียงใหม่ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่

“พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” ตั้งอยู่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ติดถนนพระปกเกล้า “สามกษัตริย์” ได้แก่ พญามังราย, พญางำเมือง และพญาร่วง หรือพ่อขุนรามคำแหง โดยทั้ง 3 พระองค์ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้สร้าง” เมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1839 ความเชื่อดังกล่าวหยั่งรากลึกในสังคมไทยมาอย่างช้านาน จนหลายคนเชื่อข้อมูลชุดนี้อย่างไรข้อโต้แย้ง กระทั่ง สมฤทธิ์ ลือชัย ก้าวออกมาท้าทายความเชื่อดังกล่าว!

“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ “สมฤทธิ์ ลือชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภูมิภาคอุษาคเนย์ ชวนตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์กับทุกประเด็นที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัย โดยเลือกโต้แย้งความคิดและความเชื่อดั้งเดิมอันเหนียวแน่นในสังคมไทย เปิดหลักฐานเรื่อง “สามกษัตริย์ไม่ได้สร้างเมืองเชียงใหม่” มาตีแผ่ความจริง ไขความกระจ่าง และการถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ ย่อยง่าย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวว่าบทความหนึ่งของ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ คือสิ่งที่จุดประกายความสนใจศึกษาหัวข้อข้างต้น งานชิ้นนั้นบอกว่า เรื่อง “สามกษัตริย์” มาสร้างเมือง เป็นลักษณะของนิทาน เพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ พูดง่าย ๆ คือ “เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นความจริง” จึงลองตั้งข้อสังเกตว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ สามารถร่วมกันสร้างบ้านสร้างเมืองได้จริงไหม

เมื่อศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในอดีต จะเห็นว่ามีความสัมพันธ์ในรูปของการเมือง โดย อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ใช้คำว่า “สยุมพรทางการเมือง” คือเอาชนชั้นนำแต่งงานกันเพื่อผูกมิตร ส่วนคุณสุจิตต์ ใช้คำว่า “รัฐเครือญาติ” อันนี้ก็เป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ (ระหว่างรัฐ) ที่ดีต่อกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐโบราณยังมีแรงจูงใจในเรื่องของการค้าและศาสนา ทั้งนี้ อาจารย์สมฤทธิ์ กล่าวว่า “ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของ 3 กษัตริย์ เป็นความสัมพันธ์ที่นำมาสู่การสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น มันเป็นความสัมพันธ์ที่แปลกมาก ผมเลยไปศึกษา 3 หลักฐาน เพื่อดูว่าความสัมพันธ์ที่ว่านี้มีจริงไหม…อันดับแรกเอกสาร อันดับที่ 2 ศิลาจารึก และอันดับ 3 หลักฐานแวดล้อม หากเกิดมีความสัมพันธ์กันขนาดเดินทางมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ต้องมีหลักฐานแวดล้อมอื่น ๆ ที่คงค้างอยู่”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่ออาจารย์สมฤทธิ์ได้ดูเอกสารหลายฉบับ โดยเฉพาะฉบับสำคัญคือ ตำนานมูลศาสนา และ ชินกาลมาลีปกรณ์ พบว่า ตำนานมูลศาสนาไม่มีเรื่องสามกษัตริย์สร้างเมืองเชียงใหม่เลย…

อย่างไรก็ตาม ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงสามกษัตริย์ว่า ได้มาพบกัน ณ ที่แห่งหนึ่ง แต่เขียนเป็นภาษาบาลี ซึ่ง “สามกษัตริย์” ได้ผูกมิตรกัน แล้วแยกย้าย… ทั้งนี้ จะเห็นว่าไม่ได้กล่าวถึงทั้งสามพระองค์ว่า ได้ร่วมกัน “สร้าง” เมืองเชียงใหม่ แต่อย่างใด

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ หากเป็นเพียงตำนานจริง ๆ เรื่องของสามกษัตริย์สร้างเมืองเชียงใหม่มาจากหลักฐานหรือเอกสารใด ถึงขั้นสามารถสถาปนาเป็นชุดความเชื่อหลักและเกิดเป็น พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” กลางเมืองเชียงใหม่ได้?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ติดตามได้ใน PODCAST นี้ :

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2566

youtube
ดูข่าวต้นฉบับ