ทั่วไป

สาดน้ำสงกรานต์ ระวังไฟดูด-ไฟช็อต แนะวิธีป้องกัน-การปฐมพยาบาล เบอร์ขอความช่วยเหลือ

The Bangkok Insight
อัพเดต 12 เม.ย. 2566 เวลา 07.51 น. • เผยแพร่ 12 เม.ย. 2566 เวลา 07.51 น. • The Bangkok Insight

กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนเล่นสาดน้ำสงกรานต์ ระวังไฟดูด ไฟช็อต ก่อนเล่นน้ำสำรวจจุดเสี่ยง เมื่อพบผู้ถูกไฟดูด ไฟช็อต ให้ตั้งสติและช่วยเหลืออย่างถูกวิธี

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของประเพณีสงกรานต์ของประเทศไทย ในหลายพื้นที่เริ่มมีการจัดกิจกรรมเล่นสาดน้ำสงกรานต์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
สาดน้ำสงกรานต์

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนในการเล่นน้ำให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ระมัดระวังอันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นพบได้ทั้ง อาการชา ปวดกล้ามเนื้อ เกิดอาการกระตุกรุนแรง เกิดแผลไหม้ ในบางรายอาจมีความรุนแรงถึงขั้นหมดสติ หัวใจล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้

จากข้อมูลสถิติประเทศไทย ปี 2561-2562 ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบจำนวนผู้ป่วยจากการสัมผัสกระแสไฟฟ้าช่วงวันสงกรานต์ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 47 ราย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สาเหตุที่พบมีทั้งน้ำกระเด็นไปถูกปลั๊กไฟ สายไฟ ทำให้กระแสไฟฟ้ารั่วและไฟฟ้าช็อต ร่างกายเปียกทำให้กระแสไฟสามารถไหลผ่านร่างกายได้ง่าย สายไฟหรืออุปกรณ์ชำรุด และไม่มีระบบกันน้ำซึ่งมีโอกาสเกิดไฟรั่วได้

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์

สำหรับคำแนะนำการป้องกันไฟดูด ไฟช็อตช่วงสงกรานต์ คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

1. หากตัวเปียกห้ามสัมผัสวัสดุนำไฟฟ้าทุกชนิด เช่น การเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า กดกริ่งไฟฟ้า เสียบปลั๊กไฟ ชาร์จโทรศัพท์มือถือ เครื่องเสียง เสาเหล็ก ราวสะพานลอย ป้ายโฆษณา

2. ระวังการเล่นน้ำใกล้เสาไฟฟ้า ในอุโมงค์น้ำ ปาร์ตี้โฟม อาจเกิดไฟรั่ว ไฟช็อตได้

3. ไม่สาดน้ำไปถูกอุปกรณ์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ สายไฟชำรุด

4. ขบวนแห่ระวังเกี่ยวสายไฟที่พาดผ่านตามเส้นทาง ก่อนเล่นน้ำควรสำรวจบริเวณจุดเสี่ยงโดยรอบ สำรวจจุดติดตั้งเครื่องตัดไฟ เมื่อเกิดเหตุจะสามารถหาจุดตัดไฟได้รวดเร็ว

นอกจากนี้ ควรตรวจดูว่าบริเวณที่เล่นน้ำมีปลั๊กไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสี่ยงหรือไม่ ถ้ามีควรเก็บให้เรียบร้อยก่อน หากพบสายไฟ ปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที รวมทั้งหากมีการเล่นในอุโมงค์น้ำหรือปาร์ตี้โฟน ควรตรวจสอบการติดตั้งอุปกรณ์ฉีดน้ำ ราวสายน้ำ การฉีดสร้างโฟมให้มีความปลอดภัย

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ถูกไฟดูด ไฟช็อตควรปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี ดังนี้

1. อย่าใช้มือเปล่าแตะตัวผู้ที่โดนไฟดูด ซ็อต

2. ตัดกระแสไฟฟ้าในที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดด้วยการถอดปลั๊ก ปลดสวิตช์หรือคัตเอาต์

นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์

3. ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง เชือกแห้ง พลาสติกที่แห้งสนิท ถุงมือยาง ไม้แห้ง เขี่ยสายไฟออก ผลักหรือดึงตัวผู้ประสบอันตรายให้หลุดออกมาโดยเร็ว

4. หากเกิดไฟดูด ช็อตบริเวณที่มีน้ำขัง ให้ตัดกระแสไฟและเขี่ยสายไฟออกก่อนเข้าไปช่วย

5. หากผู้ป่วยหมดสติหรือหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันทีพร้อมทั้งให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ทั้งนี้ หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บจาก ไฟดูด ไฟช็อตควรตั้งสติให้ดี และโทรขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ดูข่าวต้นฉบับ