การเมือง

การเมืองของสื่อโป๊ : ประวัติศาสตร์สื่อโป๊กับการปฏิวัติ

The MATTER
อัพเดต 11 พ.ย. 2563 เวลา 03.05 น. • เผยแพร่ 11 พ.ย. 2563 เวลา 02.30 น. • Politics of Things

หลังจากที่กระทรวงไอซีทีได้ทำการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์แหล่วงรวมสื่อโป๊ที่ใหญ่ที่เป็นที่นิยมที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างพอร์นฮับ (PornHub) ไป ด้วยเหตุผลว่าเป็นที่เผยแพร่ “คลิปอันมิบังควร” อันนำมาซึ่งกระแสการต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์กระทรวง ICT อย่างหนักหน่วงในโลกออนไลน์ กระทั่งบางส่วนออกไปแสดงตัวในโลกจริงด้วยนั้น วันนี้ผมจึงอยากนำเรื่องของสื่อโป๊ กับพลังอำนาจทางการเมืองโดยเฉพาะในการปฏิวัติฝรั่งเศสมาอภิปรายถึง เพื่อจะย้อนกลับมามองเหตุการณ์การปิดกั้นการเข้าถึงพอร์นฮับโดยรัฐของบ้านเราอีกต่อหนึ่งครับ

หากพูดถึงการปฏิวัติทางการเมืองแล้ว เราคงจะปฏิเสธได้ยากว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) นั้นเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่สำคัญที่สุดของการปฏิวัติทางการเมืองที่มีมาในโลก อย่างน้อยที่สุดก็ในฐานะ “ภาพของแบบ หรือกระทั่งภาพชวนฝัน” ของนักปฏิวัติทั้งหลาย และในการปฏิวัติฝรั่งเศสนี้เอง ได้มีการใช้ 'สื่อโป๊' ทั้งในรูปแบบของภาพ บทละคร หรือการ์ตูนล้อเลียน มากมายออกมา โดยเฉพาะในช่วงปี ค.ศ. 1787 – 1792 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนางมาเรีย อังตัวเน็ต ราชินีในขณะนั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ในปี ค.ศ. 1779 นิยายของฝ่ายต่อต้านศักดินา (Anti-Aristocrat) ในฝรั่งเศส ชื่อ Les Amours de Charlot et Toinette ได้ถูกเผยแพร่ขึ้น โดยเนื้อหาหลักของนิยายเรื่องที่ว่านี้นั้นเน้นไปที่ความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่มีเครื่องเพศอันแสนจะปวกเปียกและเล็กบางเบาเยี่ยงเส้นฟางตลอดเวลา ยังผลให้พระนางมาเรีย อังตัวเน็ต ผู้เป็นภริยาได้แต่ละเหี่ยจิตและไม่ไหวจะทน (จริงๆ มีกระทั่งการบอกว่า “…instead of fucking, he is being fucked.” เสียด้วยซ้ำ) นอกจากนี้ยังมีนิยายเรื่องอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ปรากฏออกมาให้เห็นได้อีกเรื่องๆ อย่าง The Royal G. หรือ L’Autrichienne en Goguettes ou l’Orgie Royale ที่พอจะแปลได้ว่า ‘The Austrian bitch and her Friends in the Royal Orgy’ ซึ่ง The Austrian Bitch ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระนางมาเรีย อังตัวเน็ตนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีการใช้สื่ออย่างภาพเขียน และภาพการ์ตูนล้อเลียนทางการเมืองต่างๆ อีกมากมายที่แสดงภาพของพระนางมาเรีย อังตัวเน็ต อย่างภาพของพระนางมาเรีย อังตัวเน็ตที่นั่งเขย่งขาแหกเครื่องเพศของตนรอรับเครื่องเพศใหญ่ราวขอนไม้ของนายพลลาฟาแยตที่มีครึ่งล่างเป็นม้า[1] หรือ ภาพของมาเรีย อังตัวเน็ตที่กำลังใช้มือสำเร็จความใคร่ให้กับเครื่องเพศใหญ่ราวกับเสาไฟฟ้าของพลทหารยามที่มีท่อนล่างเป็นนกกระจอกเทศ[2] เป็นต้น

แม้เราจะพูดได้โดยยากจะมีใครแย้งว่าในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้วนั้น พระนางมาเรีย อังตัวเน็ต เป็นบุคคลหลักที่ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นสื่อโป๊ ขนาดที่นักประวัติศาสตร์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอย่าง โรเบิร์ต ดาร์นตัน (Robert Darnton) ยังถึงกับให้ความเห็นว่าการถูกนำไปผลิตเป็นภาพล้อเลียน ดูถูกของพระนางมาเรีย อังตัวเน็ตนั้นน่าจะมากยิ่งกว่าใครในประวัติศาสตร์แล้วก็ตาม แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะอธิบายประกอบไว้ด้วยก็คือ ไม่ได้มีแต่พระนางมาเรีย อังตัวเน็ตเท่านั้นที่โดนแบบนี้ แต่ตัวละครทางการเมืองและสังคมทุกคนและทุกฝั่งด้วยล้วนโดนเขียนล้อเลียนในลักษณะดังกล่าวทั้งสิ้น (แค่ว่าน้ำหนักและความนิยมของฝั่งศักดินาและนิยมเจ้าในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นมีมากกว่า)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่ออ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะรู้สึกว่า สิ่งที่คนฝรั่งเศสทำนั้นช่างอุกอาจ รุนแรงเสียนี่กระไร ซึ่งหากใช้มาตรวัดทางศีลธรรมสากลแบบปัจจุบันไปจับแล้วก็อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่เราต้องไม่ลืมด้วยว่านี่คือเครื่องมือของฝั่งประชาชนในการต่อสู้กับรัฐศักดินาที่ถือครองอำนาจมากกว่าทุกอย่าง ทั้งกำลังทางการทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ต้องนับว่า หากเราสามารถ 'ชั่งวัด' สิ่งที่เรียกว่า 'ความรุนแรง' ได้จริงๆ แล้ว จะด้วยมาตรวัดทางศีลธรรมในแบบยุคปัจจุบันหรือเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนก็ตาม 'ความรุนแรง' ที่สถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสและชนชั้นสูงกระทำต่อประชาชนและสังคมนั้นคงต้องนับว่าหนักหน่วงกว่ามาก

ในยุคที่เศรษฐกิจถดถอย ข้าวยากหมากแพง ผู้คนจำนวนมากไม่มีอันจะกิน กษัตริย์และราชินีกลับใช้เงินภาษีของพวกเขาไปจัดปาร์ตี้ สนุกสนาน เที่ยวเล่น มั่วเซ็กซ์ และกินจ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อแบบเหลือกินเหลือใช้ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นความรุนแรงที่กษัตริย์และชนชั้นสูงศักดินาของฝรั่งเศสกระทำกับสังคมของตน ในแง่นี้สื่อโป๊จึงกลายเป็นเครื่องมือเพื่อลดทอนความศักดิ์สิทธิ ความควรค่าแก่การเคารพและยอมรับของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศสและผู้สูงศักดิ์ลงเสีย ว่าอีกแบบก็คือ มันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายความเชื่อว่าความสูงส่งกว่า ความเหมาะสมกว่า ความทรงธรรมกว่านั้นสามารถสืบทอดอย่างอัศจรรย์ใจได้ผ่าน 'สายเลือด' นั้นเป็นเพียงลมลวง

เหล่าชนชั้นสูงเองไม่ได้ 'สมควรค่า' อะไรมากกว่าปุถุชนเลย

พวกเขาก็เป็นผู้ซึ่งเต็มไปด้วยตัณหา ราคะอย่างพวกเรานี่แหละ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เผลอๆ จะมากยิ่งกว่าเสียอีก

นอกจากการทำลายมนตราของเรื่องเล่าแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นสูงในฝรั่งเศสแล้ว สื่อโป๊นั้นยังทำหน้าที่สะท้อนให้สังคมเห็นด้วยว่า ถึงที่สุดแล้วจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นกษัตริย์อย่างหลุยส์ที่ 16 ราชินีอย่างมาเรีย อังตัวเน็ต เมื่อถอดเครื่องทรงต่างๆ ออกแล้ว ต่างก็ล้วนเป็น 'คนเหมือนกัน' กับพวกเขาทั้งสิ้น มีข้อเด่นและจุดบอด (defection) ด้วยกันทั้งสิ้น ดังเช่นการสะท้อนภาพของการเป็นชายที่มีเครื่องเพศเล็กและใช้งานจริงไม่ได้ของฝั่งกษัตริย์ หรือการเป็นผู้มากในราคะอย่างล้นพ้นจนมิอาจจะควบคุมตัวเองได้ของราชินีอย่างมาเรีย

ในมุมนี้เองที่ทำให้ ลินน์ ฮันต์ (Lynn Hunt) นักประวัติศาสตร์ด้านเพศและสื่อโป๊คนสำคัญให้ข้อสรุปเกี่ยวกับสื่อโป๊ (pornography) ว่า “Pornography was the name for a cultural battle zone,” หรือ “สื่อโป๊นั้นคือชื่อเรียกของพื้นที่ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรม” นั่นเอง เพราะมันถูกใช้ในฐานะเครื่องมือของฝั่งประชาชนผู้ซึ่งไม่มีอำนาจทางกายภาพใดๆ ในมือเลย ในการตอบโต้กับอำนาจที่เหนือกว่าแทบจะทุกประการ เพราะฉะนั้นการเหน็บแนมเย้ยหยัน (satire), การล้อเลียน (parody) หรือกระทั่งการทำให้เป็นมีม (memify) ต่างๆ นั้น มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมากในพื้นที่การต่อสู้ทางการเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น ความเป็นพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่ว่านี้เอง ยังหมายถึงการขยับขอบเขตความ 'ท้าทาย' ต่อพรมแดนความคุ้นชินในสังคมนั้นๆ ด้วย เพราะความคุ้นชิน มักจะเป็นมาตรฐานหลักของ 'สิ่งอันควรค่า' เสมอและบ่อยครั้งมักจะไม่ถูกท้าทาย หรือกระทั่งตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมานัก ไม่นับว่าหลายๆ ครั้ง ความคุ้นชินนี้เองที่เป็นอุปสรรค์อันสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง (หรือหากจะพูดอย่างรัดกุมยิ่งขึ้นก็คงต้องเรียกว่าเป็น ความหวาดกลัวที่จะสูญเสียสภาวะอันคุ้นชินไปนั่นเอง)

บริบทดังกล่าวนี้เอง ไม่ได้ทำงานเฉพาะในพื้นที่ของการปฏิวัติฝรั่งเศส

หรือในยุคร้อยสองร้อยปีก่อนเท่านั้น แต่บทบาทของสื่อโป๊เอง

ยังทำงานในฐานะพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมจนถึงปัจจุบันด้วย

อย่างการตั้งคำถามต่อ 'ความโป๊' ทั้งกรณีการเปลือยเนินอกของเอ็มม่า วัตสัน ไปจนถึงการเรียกร้องสิทธิในการเปลือยอกได้ของสตรีในพื้นที่สาธารณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการถามท้าถึงพื้นที่ความคุ้นชินและเส้นความควรค่า/ศีลธรรมอันดีงามในสังคมนั้นๆ (กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การที่ผมและ บก. เลือกไม่ลงรูปภาพของมาเรีย อังตัวเน็ตในบทความแบบตรงๆ นั้น แต่ใส่เป็นลิ้งก์แนบและพรรณาภาพด้วยตัวอักษรแทนนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเส้นความคุ้นชินของสังคมที่ว่านี้ด้วยนั่นเองครับ) ไปจนถึงหนังโป๊ช่วงหนึ่งที่พยายามจะนำเสนอภาพของการเพิ่มอำนาจ (empower) ให้กับสตรีด้วยการให้ฝ่ายหญิงสวมใส่อวัยวะดิลโด้แล้วเป็นฝ่ายสอดใส่ให้กับนักแสดงฝ่ายชายแทน เป็นต้น (แต่ก็แน่นอนว่า ดีเบตว่าสื่อโป๊ลดทอนหรือส่งเสริมคุณค่าและอำนาจให้กับสตรีนั้น เป็นข้อถกเถียงคลาสสิคที่เรียกได้ว่าไม่มีวันจบสิ้นของฝั่งสตรีนิยมด้วย)

เมื่อเราเห็นภาพของ 'สื่อโป๊' และการทำงานทางการเมืองของมันในลักษณะดังกล่าวแล้ว และย้อนกลับมาที่นโยบายการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์อย่างพอร์นฮับนั้น มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องการลดทอนสิทธิเสรีภาพ หรือการต้องการจะปกปิดเซ็นเซอร์วิดีโอตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษเท่านั้น แต่มันหมายรวมถึงการริบรอนเอา 'เครื่องมือสำคัญที่มีอยู่น้อยชิ้นของฝั่งประชาชน' ในการต่อสู้กับสถาบันทางอำนาจของฝั่งรัฐออกไปด้วย (อย่างน้อยก็ต้องนับว่าเป็นความพยายามที่จะทำเช่นนั้น) แต่ก็เป็นเรื่องที่โชคดีประการหนึ่งที่เทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เน็ตนั้นมันถูกสร้างมาโดยไม่ได้อิงอยู่กับ 'พื้นที่ทางกายภาพ' (ภูมิศาสตร์, เส้นพรมแดน, ตม. , ฯลฯ) อย่างที่ตัวรัฐชาติถูกออกแบบมาให้มีอำนาจควบคุมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตัวเทคโนโลยีนี้มันจึงมีช่องทางในการหลบรอดกลไกการควบคุมของรัฐได้เสมออย่างที่รัฐไม่มีทางจะตามทันได้ เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเช่นนั้น ดังที่เราจะเห็นได้จากการมีโพสต์สอนวิธีการแหกด่านการปิดกั้นของกระทรวง ICT ชนิดทั่วถ้วนไปหมด หรือการที่ยอดผู้ใช้ VPN ของไทยนั้นพุ่งกระฉูดเป็นประวัติการณ์ ก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีหรืออำนาจทางวัตถุนี้นั้น มันทำให้ความพยายามในการริบรอนเครื่องมือในการต่อสู้ของฝั่งประชาชนทำงานไม่ได้มากขึ้นไปด้วย

แน่นอนว่าเว็บไซต์สื่อโป๊อย่างพอร์นฮับเองก็ควรจะต้องถูกตั้งคำถามและหาจุดลงตัวในประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการไม่ชอบด้วยมาตรฐานอันเป็นคุณค่าสากลอย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน, ความพร้อมใจ (consent) ไปจนถึงเรื่องระบบการตรวจสอบได้ของผู้โพสต์คลิป เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนถกเถียงหาจุดลงตัวได้ทั้งสิ้น และมันก็เป็นเหมือนกับทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเว็บมันเองและสื่อโป๊ทั้งมวลคือ มันเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น มันวางตัวเองอยู่ในพื้นที่สีเทาๆ เสมอๆ เพราะหากมันไม่ 'เทา' หรือแหย่เท้าเข้าไปใกล้กับเส้นเขตแดนที่สังคมกำกับไว้ว่า 'เป็นพื้นที่สีดำ หรือพื้นที่ต้องห้าม' แล้ว ก็เท่ากับว่ามันไม่ได้กำลังต่อสู้ทางวัฒนธรรมอยู่นั่นเอง

อย่างการตั้งคำถามของนักเรียนคนหนึ่งต่อเว็บพอร์นฮับนี้ กับประเด็นเรื่องในบางกรณีมีผู้แสดงสวมใส่ชุดนักเรียนอยู่ด้วยทำให้เธอเองไม่มั่นใจว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อกรณีการปิดกั้นดังกล่าว เป็นต้น กรณีนี้เองสะท้อนให้เห็นได้อย่างดีถึงการเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทางวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ เช่น ในเวลาเดียวกันกับที่นักเรียนคนเดียวกันนั้นเรียกร้องให้ “ยกเลิกชุดนักเรียน หรืออภิปรายว่าชุดนักเรียนคือสัญญะของอำนาจนิยมและการกดขี่” แต่พร้อมๆ กันไป กลับปกป้องชุดนักเรียนไปด้วย เช่นนี้เราจะมีคำอธิบายในเชิงวัฒนธรรมอย่างไร? ในกรณีที่ผู้สวมชุดนักเรียนมีความพร้อมใจและอายุถึงถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว และสวมชุดนักเรียนมาแสดงในสื่อโป๊นั้น มันต่างอะไรจากการสวมชุดลำลอง ชุดนางพยาบาล ชุดตำรวจ ชุดกิโมโน ชุดว่ายน้ำ หรืออื่นๆ เป็นต้น? ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่ามุมมองใดถูกหรือผิด แต่ชี้ให้เห็นว่า นี่แหละครับคือกลไกของมันในฐานะพื้นที่การต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่สังคมจะสามารถนำมาถกเถียงพูดคุยกันได้ หาข้อยอมรับใหม่ๆ กันได้ หรือตรวจสอบความคุ้นชินเดิมๆ ของตนที่บ่อยๆ ครั้งอาจจะไม่ได้ถูกตั้งคำถาม ซึ่งมันอาจจะไปไกลถึงการตั้งคำถามถึง 'Age of Consent' หรือวัยซึ่งถือว่าบรรลุนิติภาวะได้ด้วย โดยเฉพาะในขวบปีที่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก ได้แสดงให้เห็นชัดว่า พวกเขานั้นถึงพร้อมด้วยคุณวุฒิและความคิดความอ่าน มากกว่าคนแก่กะโหลกกะลา จำนวนมากที่ปกครองประเทศและออกกติกาในการตัดสินพวกเขาอยู่เสียอีก

ในแง่นี้เอง ผมจึงสรุปจบได้แต่เพียงว่า ในฐานะประชาชน เราจงลุกขึ้นสู้เพื่อสื่อโป๊และพื้นที่ทางอำนาจที่เรามีน้อยนิดอยู่แล้วในมือเถิด หากเครื่องมือนี้มันจะมีจุดไหนที่เรายังเห็นว่าไม่สมบูรณ์ดีพร้อม ก็ค่อยมาคุยกัน หาข้อตกลงในการปรับปรุงมันให้เหมาะสม เป็นหน้าที่ของผู้ใช้งานมันอย่างฝั่ง 'สังคม' เรา ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐมาทำทะเล่อทะล่าอ้างคุณธรรมศีลธรรมอันดี หรือข้อกฎหมายที่เบียดขับความเป็นคนของเราให้หมดไปมาปิดกั้นสื่อโป๊อย่างพอร์นฮับไปเลยครับ

ดูเพิ่มเติม :

[1] โปรดดู https://flashbak.com/wp-content/uploads/2015/08/libelle-4.jpg

[2] โปรดดู https://flashbak.com/wp-content/uploads/2015/08/penis-marie-antoinette.jpg

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

ดูข่าวต้นฉบับ