การเมือง

นายกฯ ย้ำโรงพยาบาลสนาม มีมาตรฐาน-ปลอดภัย ยันไม่ปกปิดข้อมูล-ตรวจสอบได้

สยามรัฐ
อัพเดต 06 ก.พ. 2564 เวลา 09.37 น. • เผยแพร่ 06 ก.พ. 2564 เวลา 09.31 น. • สยามรัฐออนไลน์

วันที่ 6 ก.พ.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าว่าประเด็นต่อไปทำไมเราต้องมีโรงพยาบาลสนาม หรือทำไมต้องเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนาม เพราะหากท่านมีญาติพี่น้องที่ป่วยในโรคอื่นเมื่อไปรักษาตามปกติ ท่านจะกังวลไหมว่าจะปะปนกับผู้ป่วยโควิด -19 ที่อยู่ในตึกอาคารเดียวกัน แม้จะระมัดระวังอย่างดีแต่ก็ลำบากและเป็นอันตราอย่างมากต่อผู้ป่วยไอซียู โรงพยาบาลสนามจึงถือเป็นทางออกหนึ่งที่เป็นสากล และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทุกฝ่ายได้ ช่วยการทำงานของหมอ และพยาบาลในการดูแลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ผู้ป่วยโควิด-19 ที่เหมาะสม แยกส่วนไม่ปะปนกัน รวมทั้งแยกผู้ติดเชื้อให้อยู่ในพื้นที่ควบคุม ไม่แพร่เชื้อไปสู่ชุมชน เพราะเป็นระบบปิด คล้ายๆกับพื้นที่กักโรค สเตท ควอรันธีน ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางระบาดวิทยาที่เข้มงวด

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในแต่ละแห่ง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ภายใต้การทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านระบาดวิทยา ด้านการแพทย์ กับฝ่ายปกครองท้องถิ่นต่างๆ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้อนุญาตให้จัดตั้งได้ ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากชุมชน อาคารมีระบบจัดการน้ำเสีย การจัดการอากาศ การไหลเวียนของอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์ทำงานประจำและต่อเนื่องเป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าสำหรับการเลือกอาคารสถานที่และการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น อาจเป็นที่โล่งว่างเปล่า มีความเหมาะสม ห่างไกลชุมชน เช่น โรงยิม หอประชุม สนามกีฬา ที่ห่างไกลจากชุมชน ตามมาตรฐานทางการแพทย์ หรือผู้ที่ร่วมในโรงพยาบาล สถานกักกันของรัฐทางเลือก ลักษณะของโรงแรมที่เปลี่ยนไปเป็นโรงพยาบาลสนาม มีหลายแบบด้วยกัน

นายกฯ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการในโรงพยาบาลสนามแบ่งเป็นโซนสีเช่นกัน โดยสีเหลือสำหรับคนไข้ สีเขียวของเจ้าหน้าท่ี สีส้มคือกระบวนการเข้าห้องน้ำและขยะมีเชื้อ ซึ่งเราแบ่งให้มีระบบบำบัดโดยเฉพาะ ไม่ไปยุ่งกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ มีการใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัดและทดสอบน้ำในชุมชนระแวกใกล้เคียงมีเชื้อโควิด -19 หรือไม่ การออกแบบในระบบดังกล่าวได้ผ่านความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากศบศ.กรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค ร่วมกันแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ระยะแรกๆ มีบ้างที่ประชาชนหรือชุมชนที่ไม่เข้าใจ แต่ภายหลังที่เรามีการสร้างการรับรู้มากขึ้นก็เกิดความร่วมมือมากขึ้นตามลำดับ มีการเสียสละพื้นที่ให้ใช้พื้นที่ และยินยอมในหลายชุมชนด้วยกัน เราได้ให้มีการให้ข้อเท็จจริงสื่อสารให้คนในชุมนุม ผ่านกลไกประชาคม ท้องถิ่น และอสม. หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามอสม.หรือโรงพยาบาลสนับสนุนตำบลได้ตลอดเวลา เราไม่มีการปกปิดข้อมูล เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุ อะไรที่เห็นว่าจะไม่ปลอดภัย จะได้ตรวจสอบแก้ไขเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่สู่ชุมชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ